ความปั่นป่วนของโลกเทคโนโลยีเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อระยะเวลาผ่อนผันการค้าขายระหว่างบริษัทสัญชาติสหรัฐกับหัวเว่ยได้สิ้นสุดลงตามนโยบายสหรัฐ และแม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะกระทบกับหัวเว่ยโดยตรง แต่ก็ดูเหมือนว่าในทางอ้อมแล้วหลายบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน การลงทุนสะกัดกั้นการครอบงำเทคโนโลยีจากหัวเว่ยจะคุ้มค่ากับสิ่งที่สหรัฐลงทุนไปหรือไม่ ประเด็นต่อไปนี้ที่ TheReporterAsia นำเสนอน่าจะเป็นคำตอบได้พอระดับหนึ่ง
ขนาดมูลค่าการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ
จีนนับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีผู้คนกว่า 1.4 พันล้านคน และเป็นประเทศต้นๆของโลกที่คนส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางที่พร้อมจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับฐานะดีในอนาคต แน่นอนว่ากำลังซื้อที่เกิดขึ้นด้วยปริมาณประชากร รายได้ จะส่งผลให้ปริมาณกำลังซื้อมีสูงมากจนน่าหลงใหล ซึ่งหากบริษัทสัญชาติสหรัฐจะเมินหน้าแล้วยกแผงกลับประเทศตามนโยบายทรัมป์ ก็น่าเสียดายโอกาสการค้าที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
หันกลับมาที่ตลาดสหรัฐซึ่งมีประชากรกว่า 327 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย ทำให้ส่งผลต่อสัดส่วนประชากรต่อผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น แต่กระนั้นแนวโน้มของปริมาณผู้อพยพที่เข้าสู่สหรัฐราว 1 ล้านคนต่อปี ก็เป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เกิดประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ตั้งใจและส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศมากกว่าประเทศจีน ที่จำกัดการมีบุตรเพียง 1 คนในช่วงปีค.ศ.1979 จนได้ยกเลิกในราวปี 2016 ที่ผ่านมา
ความชัดเจนของกำลังซื้อ และสภาพประชากรที่ส่งผลต่อแรงงาน ทำให้การตัดสินใจขยายการผลิตสู่พื้นที่หรือประเทศที่มีศักยภาพที่มากพอของทั้งธุรกิจในจีนและสหรัฐ เป็นทางเลือกของธุรกิจเสมอ ตราบเท่าที่ธุรกิจจะสร้างรายได้และผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง
หัวเว่ย-สหรัฐ เทคโนโลยีที่ต้องสกัดกั้น
เมื่อโลกของเทคโนโลยีตกอยู่ภายใต้โครงสร้างการสื่อสารเป็นหลัก และการเติบโตของหัวเว่ย(บริษัท) ที่ขยายเทคโนโลยีการสื่อสารไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ก็เป็นหนามยอกอกที่ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ(ประเทศ)จะต้องรีบ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ ซึ่งอย่างทีเรารู้กันดีว่า สหรัฐมีการออกมาตรการต่อเนื่องนับตั้งแต่ กล่าวหาว่าหัวเว่ยมีการขโมยข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G พร้อมทั้งสั่งยุติการใช้ในสหรัฐ และเลยเผยไปถึงการใส่ชื่อหัวเว่ยในแบล็คลิสต์ เพื่อไม่ให้บริษัทสัญชาติสหรัฐคบค้าด้วย นอกจากนี้ในทางอ้อมแล้วยังเพิ่มกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน ตลอดจนเริ่มมาตรการสอบสวนจากข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยขโมยข้อมูลเทคโนโลยีที่นับว่าเป็นมาตรการล่าสุดจากสหรัฐ
แต่กระนั้นมาตรการหลายๆอย่างที่ออกมา ก็มีการสั่งชะลอการบังคับใช้ จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาระยะเวลาผ่อนผันก็มีอันยุติลง และส่งผลกระทบอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ความชัดเจนของบริษัทในสหรัฐเริ่มมีมากขึ้น นับตั้งแต่กูเกิลเองที่ชัดเจนว่าหัวเว่ยจะไม่สามารถติดตั้งบริการของกูเกิล(Google Services) ลงในเครื่องสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง Huawei Mate 30 Series ที่คาดว่าจะเปิดตัวในงาน Huawei Connect 2019 ที่จะถึงนี้ได้อย่างแน่นอน
ผลกระทบวงกว้างของประเทศผู้นำอย่างสหรัฐที่ยอมออกนโยบายเพื่อจัดการเพียงบริษัทจีนรายเดียวอย่างหัวเว่ย เริ่มส่งผลวุ่นวายในโลกเทคโนโลยีอย่างจริงจัง นับตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เทคโนโลยีส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์กระจายการผลิต เพื่อให้เหมาะกับการจัดจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังมีการแยกการผลิตในส่วนต่างๆที่บริษัทตนเองถนัด ทำให้รูปแบบสินค้าเทคโนโลยี 1 ชิ้น ถูกผลิตโดยหลายบริษัททั่วโลก แต่ประกอบแล้ววิจัยและพัฒนาบางส่วนเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของตนเอง
การสั่งห้ามบริษัทสัญชาติสหรัฐค้าขายกับหัวเว่ย กระทบต่อโลกธุรกิจเทคโนโลยีในวงกว้างมากกว่าที่สหรัฐคาดคิด แม้ว่าความเป็นจริงแล้วบริษัทสหรัฐจะถือครองสิทธิบัตรการวิจัยและพัฒนามามากมายก็ตาม แต่ท้ายที่สุดการผลิตจริงที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตอันจะส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าสิน และสะท้อนราคาขายที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกก็เป็นที่น่าจับตามมองว่า นโยบายการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐตามแนวคิดของสหรัฐจะมีบริษัทใดย้ายกลับจริงหรือไม่
เพราะนั่นหมายถึง ต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น แม้ว่ากำแพงภาษีที่สหรัฐจะเพิ่มขึ้นมาเมื่อต้องนำเข้าสินค้าจากจีน แต่กระนั้นหากต้องการส่งสินค้าจากสหรัฐไปจีน การตอบโต้ของจีนเองก็เพิ่มกำแพงภาษีเช่นเดียวกัน ทำให้โอกาสการค้าของบริษัทสัญชาติสหรัฐทำกำไรได้น้อยลงจนถึงความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นของการทำธุรกิจเมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น หากตลาดหลักของการขายสินค้ายังอยู่ในประเทศจีนเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันหลายๆองค์กรยังเมินเฉยกับนโยบายนี้ชัดเจน
ฮาร์ดแวร์จะเป็นเพียงร่างของ Ai ในทุกสิ่งเท่านั้น
น่าเสียดายที่ยุคแห่งอนาคตได้เริ่มต้นขึ้นแล้วแต่กลับต้องมาทะเลาะกันเรื่องย้ายฐานผลิต พร้อมๆกับการให้ความสำคัญของฮาร์ดแวร์ที่มีแนวโน้มลดลง และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ Ai ได้กลายมาเป็นหัวใจของการใช้งานเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data)เป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์มากกว่าที่คนจะสามารถทำได้
บนเวที 2019 World Artificial Intelligence Conference (WAIC) ที่จัดขึ้นที่เซียงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการประกบคู่ระหว่าง’อีลอน มัสก์’ จากเทสล่า และ ‘แจ็ค หม่า’ จากอาลีบาบากรุ้ป โดยหม่าระบุว่า “อย่างไรเสียมนุษย์ก็ต้องฉลาดกว่า Ai เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้าง Ai ขึ้นมา และผมก็ยังไม่เคยเห็นว่ามี Ai ตัวไหนสร้างมนุษย์ขึ้นมา” แม้ว่าจะฟังดูเป็นเรื่องขบขัน แต่มุมมองของหม่าสะท้อนให้เห็นความสำคัญของมนุษย์มากกว่าปัญญาประดิษฐ์แม้ว่า Ai จะฉลาดและรวดเร็วเพียงใดก็ตาม
ขณะที่ อีลอน มัสก์ ระบุว่า จะมีความร่วมมือกับอาลีบาบาเป็นโปรเจ็คส์ใหญ่ของโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในเร็วๆนี้ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Ai ที่เชื่อว่าจีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีในด้าน Ai ในอนาคต แม้ว่าแนวคิดเช่นนี้จะเป็นการขัดแย้งกับนโยบายสหรัฐซึ่งเป็นบ้านเกิดของเทสล่าเองก็ตาม แต่ด้วยสัดส่วนรายได้กว่า 11% ของเทสล่า เกิดจากประเทศจีนเป็นหลัก และที่สำคัญการลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่ประเทศจีน ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังที่ทำให้เทสล่ากล้าเสี่ยงที่จะขวางลำกับนโยบายบ้านเกิดตนเองเช่นนี้
ทำไมอีลอน มัสก์จึงคิดว่าจีนจะผงาดในด้าน Ai นั่นก็เพราะว่า อาลีบาบา กรุ้ป โฮลดิ้ง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับ 2 บริษัทเทคโนโลยีด้านเอไอและยกระดับเป็นยูนิคอร์นหน้าใหม่ได้สำเร็จ อย่าง Megvii Technology Ltd สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและวิเคราะห์ ซึ่งโด่งดังจากการคัดแยกผู้หลบหนีเข้าเมืองให้กับทางการได้กว่า 5,000 คนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องไปสู่อีกหลากหลายอุตสาหกรรมทั้ง โลจิสติกส์ ระบบคลังสินค้าด้วยเอไอ โดยสามารถระดมเงินครั้งล่าสุดได้กว่า 1 พันล้านเหรียญ และ Sensetime Group Ltd.อีกหนึ่งสตาร์ทอัพจดจำใบหน้าและวิเคราะห์แยกแยะด้วยเอไอภายในระบบกล้องวงจรปิด ที่มีชื่อโซลูชั่นว่า ‘Viper’ซึ่งระดมเงินได้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญในช่วงที่ผ่านมา
ความพร้อมของตั๊กแตน อย่างหัวเว่ย ที่จะโผบิน
กลับมาที่ความพร้อมของหัวเว่ยเอง ที่จำต้องโผบิน หนีการไล่จับของพลายสหรัฐ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุดมีการประกาศระบบปฏิบัติการใหม่ ‘HarmonyOS‘ในงาน นักพัฒนาของหัวเว่ยเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่กระนั้น ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ก็ได้ออกมาบอกว่าการเปิดตัวครั้งนี้เป็นเพียงระบบปฏิบัติการที่จะเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ไอโอทีเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบแอนดรอยด์แต่อย่างใด
แต่กลับกัน กูเกิล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและถือครองสิทธิ์ บริการกูเกิล (Google Services)บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็ออกโรงเตือนไปทางสหรัฐ ถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคง หากหัวเว่ยสามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองได้เป็นผลสำเร็จ แน่นอนว่าเมื่อนั้นโลกของสมาร์ทโฟน จะพลิกกลับเข้ามาสู่การมีระบบปฏิบัติการที่หลากหลายเช่นเดิม และท้ายที่สุดผู้คนก็จะเลือกด้วยประบการณ์ที่ได้รับ จนกลายเป็นความเคยชินและฆ่าระบบที่ยุ่งยากหรือไร้การพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติ
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับ โนเกีย ยักษ์ใหญ่ด้านมือถือที่เคยโด่งดังมานานหลายปีจากฟินแลนด์ แต่ก็กลับต้องกลายเป็นตำนานไปแบบฉับพลัน จากการเปลี่ยนแปลงของมือถือเข้าสู่ยุคของสมาร์ทโฟนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถทำให้ทุกอย่างสะดวกมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ใช้งานที่สามารถใช้งานเมนูที่เคยชินได้จากทุกแบรนด์มือถือที่เลือกใช้แอนดรอยด์ และฝั่งผู้พัฒนาที่เขียนซอฟต์แวร์ครั้งเดียวแต่เข้าได้กับทุกขนาดหน้าจอของอุปกรณ์ ทำให้ระบบที่โดดเดี่ยวอย่างซิมเบียนและอีกหลากหลายระบบ เสียท่าครั้งใหญ่ให้กับกูเกิล ที่ประกาศตัวเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้กับทุกคนนำไปพัฒนาและต่อยอดได้ภายใต้ชื่อ Android Open Source Project หรือ AOSP
แต่วันนี้เมื่อกูเกิลภายใต้เทคโนโลยีแอนดรอยด์ ถูกควบคุมและใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีหัวเว่ย ทำให้แนวคิดของการเปิดเสรีของระบบปฏิบัติการที่ทุกคนเชื่อเช่นนั้นได้เริ่มลดศรัทธาลง ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะยังคงเริ่มเป็นระบบปลอดภัยอยู่อีกหรือไม่? กูเกิลเองเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด การเรียกศรัทธากลับมา โดยการส่งจดหมายเตือนให้สหรัฐเข้าใจในบริบทของการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างแท้จริงจะเกิดผลอย่างไร ท้ายที่สุดผู้คนก็จะตระหนักรู้ดีว่า คำตอบก็คงจะไม่ต่างจากการสะกัดกั้นสกุลเงินคริปโตอย่าง Libra ที่สหรัฐยกทัพออกมาเบรคแบบสุดตัวอย่างแน่นอน
วันนี้หากถามว่าหัวเว่ยพร้อมไหมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระบบปฏิบัติการใหม่ TheReporterAsia สอบถามจากผู้รู้และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทจีนหลายท่าน ต่างเห็นตรงกันว่า วันนี้การพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศจีนรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งในส่วนของปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ทว่าในส่วนของการผลิต ที่ต้องยอมรับว่าจีนเพิ่งเริ่มพัฒนา อีกทั้งการพัฒนาส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นเมื่อสิทธิบัตรพื้นฐานของเทคโนโนยีขั้นต้นถูกจำกัด ก็จะส่งผลให้กระทำการขั้นที่สูงกว่าขึ้นไปไม่ได้
หากจีนพลิกกลับมาสร้างฮาร์ดแวร์เองได้มากขึ้น ก็จะขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาที่รวดเร็วของโลกเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่เราก็รู้ดีว่าจะต้องแยกการผลิตตามความเก่งกาจเฉพาะด้านของแต่ละบริษัทจึงจะได้เทคโนโลยีใหม่ที่รวดเร็วขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เข้าสำนวนที่ว่า ‘สองหัวดีกว่าหัวเดียว’ ร่วมกันคิด ร่วมกันปรึกษา การลบล้างแนวคิดเช่นนี้ก็อาจจะส่งผลให้หัวเว่ยล้าหลังไปเป็นอย่างมาก
ขณะที่ข่าวลือของการเปิดตัวระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า OAKก็ถูกลือว่าจะเข้ามาแทนที่ระบบแอนดรอยด์ในรุ่น Mate 30 Series ที่กูเกิลไม่อนุญาติให้ใช้บริการอีกต่อไป โดย OAK คาดว่าจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก แอนดรอยด์เวอร์ชั่นเปิด (Android Open Source Project (AOSP )) และจะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงแอนดรอยด์ที่เราใช้กันอยู่เดิม แต่จะไม่มีกูเกิลเซอร์วิสต์ติดตั้งไว้ใช้บริการเท่านั้นเอง (ปล.การติดตั้งเสริมภายหลังซื้อเครื่องจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเฟิร์มแวร์ของเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นๆจะรองรับหรือไม่)
ท้ายที่สุดแล้ว การ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ ทุกฝ่ายย่อมต้องสูญเสีย แต่จะเสียมากเสียน้อยก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าผู้ออกนโยบายย่อมลอยลำเหนือทุกสิ่ง ในขณะที่เอกชนหากพลั้งพลาดในการเดินหมากทางธุรกิจแล้ว ความรวดเร็วของเทคโนโลยีจะส่งผลให้บริษัทนั้นๆล้าหลังไปโดยทันที ก็ได้แต่หวังว่ากิจการของสหรัฐจะสามารถดำรงคงอยู่ได้ ภายใต้การนำของประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งการนโยบายกดดันตลอดเวลาเช่นนี้ไปได้อย่างราบรื่น และไม่พลาดท่าจนเสียมวยเทคโนโลยีไปแบบไม่ตั้งใจ คงต้องรอลุ้นกันอีกทีว่านโยบายดังกล่าวจะกระทบวงการเทคโนโลยีไปอีกนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ หัวเว่ยประกาศจะเปิดตัว Mate 30 Seriesในวันที่ 19 กันยายน 2562 นี้อย่างแน่นอน