TAI ผุดศูนย์อบรม EASA ยกระดับช่างอากาศยานไทย

TAI ผุดศูนย์อบรม EASA ยกระดับช่างอากาศยานไทย

ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ (TAI) จับมือ Dviation Solution ร่วมลงทุนศูนย์ฝึกอบรม(Aviation training Centre) และศูนย์สอบ (Examination Centre) หลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานบนมาตรฐานสากล EASA เตรียมยกระดับช่างอากาศยานไทยให้มีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หวังเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในธุรกิจจัดฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญ และเป็นส่วนหนึ่งของการปลดล็อคธงแดง ICAO ในปัจจุบัน

ดร.ธนกฤต อัศวลงกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด กล่าวว่า การร่วมลงทุนครั้งนี้ ต่อยอดมาจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ซึ่งมีการลงบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินการหลักสูตรฝึกอบรมให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) โดยแบ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานมาตราฐาน EASA Part 66 Basic Courses Training (Cat A, B1, B2) หลักสูตร B1 สาขาโครงสร้างอากาศยานและระบบเครื่องยนต์ และ B2 สาขาอิเล็กทรอนิกส์และระบบสื่อสาร และ Part 147 Type Training สำหรับเครื่องบินแบบ Airbus 320/330, Boeing 737 Series และ ATR72

โดยการเปิดอบรมบุคคลากรด้านช่างอากาศยานจะใช้หลักสูตรมาตรฐานทีมีอยู่แล้วของ Dviation Solution ซึ่งสามารถรองรับบุคลากรจากระดับมัธยมศึกษาปีที่6 และระดับ ปวช. เพื่อมาศึกษาต่อด้านการช่างอากาศยานด้วยระยะเวลาราว 2.5 ปีและเมื่อทำงานครบตามชั่วโมงที่กำหนด จะสามารถรับใบอนุญาตจาก EASA ได้ทันที ขณะที่ช่างอากาศยานที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว สามารถสมัครเข้ามารีวิวและทดสอบความสามารถ เพื่อขอใบอนุญาตภายในระยะเวลา 1เดือนครึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับการอบรมรุ่นแรกได้ราวไตรมาส 4 ของปี 2562 นี้

ขณะที่ในอนาคตจะมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันผลิตบุคคลกรให้ได้จำนวนที่มากขึ้น ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยปัจจุบันเริ่มมีการเจรจาอยู่กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอีกหลายๆสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านช่างอากาศยานในประเทศไทย โดยเราจะเข้าไปร่วมพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานของ EASA ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาคกว่า 8 หมื่นคนในปัจจุบัน

ด้านนาย Kevin Teoh กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Dviation Solution กล่าวว่า มาตรฐานระดับสากลทางด้านการบินถือว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินไม่ใช่แค่ประเทศนั้นๆ แต่หมายถึงในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย Dviation Solution เป็นผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมที่ได้รับรองด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA Part-147) การร่วมมือกับ ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จะช่วยร่นเวลาในการทำให้ศูนย์ฝึกอบรมและสอบตามมาตรฐาน EASA นั้นเกิดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเริ่มรับสมัครบุคคลเข้ามาอบรมและสอบประเมินความรู้ตามมาตรฐานออกสู่อุตสาหกรรมการบินที่ไม่เฉพาะในประเทศไทย ซึ่งการถือประกาศนียบัตรตามมาตรฐาน EASA นั้นหมายถึงความสามารถในการทำงานกับอุตสาหกรรมการบินที่ไหนบนโลกก็ได้ ซึ่งประเทศไทยอาจจะได้ชื่อว่าประเทศที่ส่งออกบุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้

ในปัจจุบันประเทศสิงค์โปร์ และมาเลเซียเป็นผู้นำด้านการเรียนการผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาค คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเติบโต 5% ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านช่างซ่อมในแต่ละสาขาเกือบ 1 แสนคน ดังนั้นทางบริษัทฯ ได้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งศูนย์กลางของภูมิภาค และค่าครองชีพที่ไม่สูง และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จึงได้ดำเนินการร่วมลงทุนกับบริษัทในสภาพยุโรปเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเติบโตด้านการบิน

การเปิดอบรมในช่วงแรกนั้น จะเป็นการใช้บุคคลากรส่วนใหญ่จากทาง Dviation Solution ที่จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตในการเทรนนิ่งโดยเฉพาะเข้ามามากกว่า 20 คน ซึ่งบริษัทฯได้เตรียมบุคลากรด้านการสอน สถานที่ห้องเรียน และศูนย์สอบให้เป็นไปตาม EASA โดยใช้อาคารสำนักงานที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์การเรียนและได้เตรียมขยายพื้นที่ไว้อีกส่วนเพื่อรองรับผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้จัดเตรียมบุคลากรที่มีมาตรฐาน EASA เพื่อดำเนินการขั้นตอนลงทะเบียนให้บริษัทเป็น Approve Training Organization (ATO) ที่ได้รับมาตราฐาน EASA ทำในอนาคตจะสามารถออกใบรับรองมาตรฐาน EASA ได้เอง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งจะสามารถผลิตบุคลากรด้านช่างอากาศยานได้ราว 500 คนต่อปี

ทั้งนี้มูลค่าธุรกิจจัดฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคเเชียแปซิฟิกมีมากกว่า 100 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งการบินทุกครั้งทุกเที่ยวบินต้องได้รับการตรวจเช็กเพื่อความปลอดภัยทุกครั้ง ข้อมูลจากรายงานสภาวะอุตสากรรมการบินของประเทศไทย พ.ศ. 2561 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยมีเที่ยวบินต่อวันอยู่ที่ราว 3,007 เที่ยวบิน แต่มีเพียงสถาบันฝึกอบรมด้านการช่างอากาศยานภาคพื้นดินเพียง 1 ใบอนุญาตเท่านั้น(ไม่ได้ระบุว่าเป็นใบอนุญาตระดับประเทศหรือสากล) อีกทั้งหน่วยซ่อมอากาศยานมีการใช้งานอยู่ราว 262 หน่วย แบ่งเป็นประเทศไทยเพียง 28 แห่งนอกนั้นเป็นต่างประเทศทั้งหมด

ปัจจุบันศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินใหญ่ของภูมิภาคอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่กระนั้นด้วยข้อจำกัดที่ประเทศทั้ง 2 มีรูปแบบพื้นที่จำกัด ทำให้น่านฟ้าที่จะใช้ทำการทดสอบเครื่องบินหลังการซ่อมบำรุงมีข้อจำกัดตามไปด้วย แต่ในประเทศไทยซึ่งมีชัยภูมิที่ได้เปรียบในการบินทดสอบเป็นอย่างมาก อีกทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะมีราคาที่เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยมาตรฐานที่มีใช้กันอยู่เพียง 2 มาตรฐานเท่านั้นนั่นก็คือ FAA และ EASA ดังนั้นความเร็วของการนับเวลาการซ่อมจนถึงการส่งมอบเครื่องบินหลังทำการซ่อมและทดสอบจึงเป็นข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยซึ่งมีชัยภูมิที่เหมาะสมในการทำงานได้เร็วที่สุด อาจจะกลายเป็นฮับด้านการซ่อมบำรุงของภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้มาตรฐานของใบอนุญาต EASA ของช่างอากาศยานไทยยังเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้การปลดล็อคด้านความปลอดภัยที่ประเทศไทย ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตการบินของไทย ถูกประเมินจากองค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ภายใต้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ ตกไปอยู่ที่ Category 2 ซึ่งส่งผลให้บริษัทหรือบุคลากรที่ได้รับใบอนุญาติจากสถาบันไม่สามารถทำการบินตรงเข้าสู่กลุ่มประเทศยุโรป สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น หรือประเทศภายใต้การควบคุมดูแลโดย ICAO ได้ด้วยเครื่องของตนเอง สร้างความเสียทางทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

Related Posts