รู้จัก ‘ทาเลส’ ผู้ทำอีพาสปอร์ต 15 ล้านเล่มให้ไทย

รู้จัก ‘ทาเลส’ ผู้ทำอีพาสปอร์ต 15 ล้านเล่มให้ไทย

ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายของภาครัฐเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายด้าน ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เตรียมจัดหาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยสูงให้กับคนไทยทั้งหมด 15 ล้านเล่ม โดยได้ทำสัญญากับกลุ่ม DGM Consortium ซึ่งประกอบด้วย Gemalto บริษัทในเครือ Thales Group ให้จัดหาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในระยะเวลา 7 ปีนับจากนี้ นับเป็นโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดที่กลุ่ม Thales Group ได้เซ็นสัญญารับมอบในปี 2562

Thales Group หรือทาเลส ไม่ได้เพิ่งเข้ามาในเมืองไทย แต่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว เปิดสำนักงานสาขาแห่งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีการวางระบบที่หลากหลายทั้งในอุตสาหกรรมการบิน อวกาศ ความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยและการคมนาคม มีพนักงานประมาณ 50 คน สำหรับโครงการหนังสือเดินทางนี้ กลุ่ม DGM Consortium จะประกอบด้วย Gemalto บริษัทในเครือ Thales, Data Products Toppan Forms Ltd., และ MultiCert

ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 กลุ่มทาเลสควบรวมบริษัทเจมัลโต ตามแผนกลยุทธ์การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมูลค่า 7 พันล้านยูโร เจมัลโตเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการระบุตัวตนและไบโอเมตริก ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า IoT การเชื่อมต่อ และระบบบริการงานธนาคารและการชำระเงิน โดยได้นำโซลูชันที่เหนือชั้นมาใช้ควบคู่ไปกับพอร์ต ฟอลิโอของกลุ่มทาเลส เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าภาครัฐบาล และภาคเอกชนที่สำคัญ

นายมาสสิโม มารินซี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของทาเลส กล่าวว่า กล่าวว่า ทาเลสเป็นพันธมิตรของไทยทั้งงานด้านกลาโหมไปจนถึงการจัดการจราจรทางอากาศและการขนส่งภาคพื้นดินมากว่า 30 ปี เน้นการลงทุนในด้านนวัตกรรมดิจิทัล การเชื่อมต่อ ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนบริษัท องค์กร และรัฐบาลในการตัดสินใจในสถานการณ์สำคัญ จนล่าสุดได้นำความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในด้านอัตลักษณ์ทางดิจิตอล และการพิสูจน์และระบุบุคคลโดยใช้ชีวมาตรหรือไบโอเมตริกซ์ มานำเสนอหนังสือเดินทางที่มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยสูงให้กับคนไทย

“คนไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์แบบฝังที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดที่จะช่วยให้พวกเขาข้ามแดนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้กลุ่ม DGM Consortium จะติดตั้งระบบออกหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของไทยอย่างเข้มงวด นอกจากหนังสือเดินทางที่ออกแบบใหม่แล้ว คนไทยยังจะได้ประโยชน์จากระบบลงทะเบียนยื่นขอหนังสือเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

เนื่องจากโครงการจะทำการปรับปรุงกระบวนการลงทะเบียนที่ศูนย์ดำเนินการ 22 แห่งในประเทศไทย รวมถึงมีแผนขยายศูนย์ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่งทั่วทั้งประเทศเพื่อเพิ่มจุดให้บริการสำหรับคนไทยที่ต้องการขอหนังสือเดินทาง นอกจากนี้ยังจะเพิ่มความสามารถในการผลิตหนังสือเดินทางจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากจะมีศูนย์ผลิตที่มีความปลอดภัยสูงสองแห่งสำหรับรองรับการผลิตหนังสือเดินทางให้กับโครงการดังกล่าว คือศูนย์ผลิตหลักและศูนย์ผลิตที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและให้ระบบออกหนังสือเดินทางมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ Thales ยังจะจัดให้มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับผู้เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการออกหนังสือเดินทาง โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกยกระดับทักษะเจ้าหน้าที่ชาวไทยในการเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล

ด้านนายวินส์ตัน เหยียว หัวหน้าฝ่ายโซลูชั่นในการระบุตัวตนและไบโอเมตริกของทาเลส กล่าวว่า หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์ใหม่นี้มีจำนวน 64 หน้า ประกอบด้วยหน้าปกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Cover) ซึ่งเป็นหน้าบันทึกข้อมูลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ทำจากโพลีคาร์บอเนต มีลักษณะบางและยืดหยุ่น รวมถึงมีช่องแสดงรูปภาพรูปที่สองของผู้ถือหนังสือเดินทาง และรูปถ่ายสีจริงที่ผ่านกระบวนการบันทึกด้วยรังสียูวี คุณสมบัติด้านความปลอดภัยเหล่านี้ทำให้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของหนังสือเดินทางเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงตามที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

“ปัจจุบันการโจมตีมี 2 ปัจจัยคือ การปลอมตัวตนและการเข้าสู่ข้อมูลไม่ได้เข้ารหัส ดังนั้นทาเลสจึงได้มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ด้วยการเอ็มเบดเดดซอฟท์แวร์ไปที่อีพาสปอร์ต โดยนอกจากจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับโลกแล้ว เรายังได้จับมือกับบริษัทโลคอลในการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับการทำตามกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกฏและข้อบังคับในระดับสากล รวมถึงกฏหมายในเมืองไทย”

การทำธุรกิจในประเทศไทยของทาเลสนั้น เน้นการใช้กลยุทธ์ระยะยาวในการสร้างความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับอุตสาหกรรมพันธมิตรในท้องถิ่น ซึ่งวิธีนี้ผ่านการทดสอบจากการดำเนินงานของทาเลสทั่วโลกมาแล้ว ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าปลายทาง โดยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ปฏิกิริยาตอบสนองและความใกล้ชิดกับลูกค้า นอกจากนี้ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสนับสนุนความต้องการก้าวไปสู่ความสำเร็จของโครงการประเทศไทย 4.0 และกลายเป็นพันธมิตรระยะยาวของประเทศไทย

นายมาสสิโม กล่าวว่า ก่อนหน้าโครงการนี้ทาเลสได้นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาความปลอดภัยของระบบรางในสถานีรถไฟ 48 แห่ง โดยได้จับมือกับบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง (River Engineering) เพื่อดำเนินการออกแบบ ส่งมอบ และติดตั้งระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) ระบบป้องกันความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟระดับ 1 บนเส้นทางรถไฟสี่ช่วงรอบๆ กรุงเทพฯ เป็นการนำเสนอเทคโนโลยี ETCS เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560

โดยการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟของประเทศให้ทันสมัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพัฒนารถไฟในรัศมี 500 กิโลเมตรรอบๆ กรุงเทพมหานครให้เป็นระบบไฟฟ้านั้น เฟสแรกของการปรับปรุงให้ทันสมัยนี้คือการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็น ETCS ระดับ 1 ในเครือข่ายรถไฟ 4 ช่วงของ รฟท. (สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้) ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี และจะช่วยสนับสนุน รฟท. ในการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟให้ทันสมัยและเป็นระบบมาตรฐานในการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟ (ATP)

“โครงการระบบอาณัติสัญญาณจะครอบคลุมสถานีรถไฟ 48 แห่งจากลพบุรีทางทิศเหนือลงใต้ไปถึงนครปฐม และถึงมาบกะเบาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การติดตั้งระบบ ETCS ระดับ 1 ช่วงระยะทางยาวที่สุดจะเป็นการติดตั้งที่ครอบคลุมสถานีรถไฟ 21 แห่งจากสถานีหัวหมากจนถึงสถานีแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังชายแดนไทยฝั่งตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย”

เทคโนโลยี ETCS ใช้กับโครงการรถไฟรางคู่ (104 กิโลเมตรจากฉะเชิงเทราถึงคลองสิบเก้าและแก่งคอย) โดยยังได้ส่งมอบและปรับใช้ระบบ ETCS-1 เครื่องนับเพลาและประแจกล เพื่อรองรับการปรับปรุงทั้งเส้นทางสายเก่าและสายใหม่และรถไฟ ซึ่งเป็นการช่วยให้เครือข่ายการขนส่งของไทยมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้รับสัญญาให้ดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวกับรถไฟสายสีแดงของกรุงเทพมหานครในระยะทาง 41 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะให้บริการกับผู้โดยสารมากกว่า 130,000 คนต่อวัน

“ETCS ระดับ 1 จะช่วยยกระดับความปลอดภัยให้การขนส่งระบบรางในประเทศไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ระบบจะคำนวณความเร็วสูงสุดที่ปลอดภัยสำหรับรถไฟแต่ละคันอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบอาณัติสัญญาณเตือนในห้องพนักงานขับรถไฟและระบบออนบอร์ดที่จะทำการบังคับรถไฟหากความเร็วเกินกว่าอัตราที่ปลอดภัย โดยสามารถนำไปปรับใช้กับระบบอาณัติสัญญาณที่มีอยู่เดิมในประเทศได้อย่างง่ายดายและจะรบกวนการดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกล่าวกันว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายที่มีอยู่ได้ถึง 40%”

นอกจากนี้ทาเลสให้บริการระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) สำหรับรถไฟสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน และโซลูชันระบบบัตรโดยสารร่วมกันของรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน และในปีพ.ศ. 2560 ยังได้ทำสัญญา AFC สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของ MRT ที่ครอบคลุมเพิ่มอีก 19 สถานี นอกจากนี้ทาเลสจะขยายทีมวิศวกรท้องถิ่นและองค์กรบริหารโครงการของตนในประเทศไทยเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว และฝึกอบรมอุตสาหกรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับเทคโนโลยี AFC ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้งานระบบได้หลังจากการเปิดใช้งาน

นายมาสสิโม กล่าวว่า หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนกลุ่มบริษัทของเราเป็นซัพพลายเออร์ระยะยาวของกองทัพบกและกองทัพเรือไทย ในด้านการบินทาเลสมีบทบาทสำคัญในการให้บริการโซลูชันทั่วประเทศแก่ลูกค้าในไทย ในส่วนของการจัดการจราจรทางอากาศ เรดาร์ และเครื่องช่วยการเดินอากาศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2561 ทาเลส ประเทศไทยได้รับสถานะเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐเล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทในการลงทุนในประเทศ และการพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญให้กับแรงงานในท้องถิ่น

ในภาคความมั่นคง ทาเลสได้รวมกลยุทธ์ประเทศไทย 4.0 มาใช้ในการเพิ่มความร่วมมือและถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมท้องถิ่นภายใต้การกำกับดูแลและอนุมัติจากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)

ในภาคเอกชน ทาเลสมีความร่วมมือระยะยาวกับภาคอุตสาหกรรมไทยในส่วนการคมนาคมทั้งทางอากาศและระบบราง ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถทางเทคนิคโดยรวมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย

“ทาเลสเป็นพันธมิตรของกองทัพเรือไทยมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ได้ติดตั้งส่วนสำคัญของกองเรือยุทธการด้วยระบบที่พัฒนาสูงสุด ซึ่งการปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้กับกองเรือยุทธการนั้น รวมไปถึงการติดตั้งเรดาร์ โซนาร์ ระบบ ควบคุมอัคคีภัย ระบบสั่งการและควบคุมของทาเลสเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2562 นี้ทาเลสประสบความสำเร็จในสัญญาสำคัญ 2 ฉบับ ในการเป็นผู้จัดหาโซลูชันเหนือน้ำและใต้น้ำทุกรูปแบบให้กับกองทัพเรือไทย”

ในสัญญาฉบับที่ 1 ทาเลสได้รับหน้าที่หลักในการปรับปรุงเรือกวาดทุ่นระเบิดชุดเรือหลวงบางระจันสองลำที่สร้างขึ้นในยุค 80 (เรือหลวงบางระจันและเรือหลวงหนองสาหร่าย) ปฏิบัติการตามสัญญาประสบความสำเร็จด้วยดีและเป็นไปตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการขยายขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของเรือหลวงกวาดทุ่นระเบิดทั้งสองลำออกไปได้อีกหลายทศวรรษ

ในสัญญาฉบับที่ 2 ทาเลสเป็นผู้รับเหมาหลักสำหรับเรือลาดตระเวนที่ทันสมัยล่าสุด (เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์): กองทัพเรือไทยได้สั่งให้ทาเลสเป็นผู้รับผิดชอบการบูรณาการที่สำคัญด้วยการติดตั้งโปรแกรมระบบอำนวยการรบที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดของทาเลส (TACTICOS) ซึ่งเป็นการบูรณาการระบบของบริษัทเข้ากับระบบแผนที่อิเล็คทรอนิกส์ที่ทันสมัย ระบบการสื่อสารเต็มรูปแบบ รวมถึงระบบ Datalink แบบ Link Y Mk.2 และระบบอาวุธ

ในอุตสาหกรรมนาวิกโยธินและการสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ทาเลสกำลังสร้างสมรรถภาพในท้องถิ่นให้กับพันธมิตรในประเทศไทย ทั้งในด้านการต่อเรือ การบูรณาการ การฝึกอบรม และการปรับใช้ระบบส่งกำลังบำรุงรวม (ILS) ให้แก่กองทัพเรือไทย นอกจากนี้ ทาเลสยังให้บริการวิทยุการรบระบบดิจิทัลและโซลูชันอื่นๆ ให้กับนาวิกโยธินของกองทัพเรือไทย ซึ่งช่วยให้กองทัพเรือไทยสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านความมั่นคงทางบก ทาเลสมีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายทั้งในด้านระบบและผลิตภัณฑ์สำหรับทหาร และยานพาหนะทางทหาร กลุ่มบริษัทของเราได้พัฒนาสมรรถภาพการสื่อสารทางยุทธวิธีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และได้ร่วมงานกับกองทัพบกไทยในการให้บริการการสื่อสารดิจิทัลที่ทันสมัยระดับโลก นอกจากนี้ยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ในด้านอุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์สำหรับข่าวกรองและการต่อต้านการคุกคาม รวมถึงกล้องถ่ายภาพความร้อนและเรดาร์สำหรับปฏิบัติการข่าวกรอง

ด้านความมั่นคงทางอากาศ ในปี พ.ศ. 2555 กองทัพบกไทยเลือกระบบต่อต้านทางอากาศสตาร์สเตรคของทาเลส (STARStreak Air Defence System) ระบบดังกล่าวประกอบด้วยขีปนาวุธต่อต้านทางอากาศระยะสั้นที่รวดเร็วที่สุดในโลก (VSHORAD) และเครื่องยิงน้ำหนักเบาแบบผสมผสาน (LML) ภายหลังจากการจัดซื้อครั้งแรกนี้ ในปี พ.ศ. 2558 ทาเลสได้รับสัญญาฉบับใหม่ให้จัดหาระบบต่อต้านทางอากาศสตาร์สเตรคชุดที่สองและสามให้กับกองทัพบกไทย

ในปี พ.ศ. 2560 ด้วยการทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ทาเลสร่วมมือกับ DTI ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการสร้างผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นในด้านระบบการสื่อสารและสั่งการดิจิทัลในยานพาหนะ รวมถึงการบูรณาการระบบป้องกันทางอากาศ ในปี พ.ศ. 2561 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ดาต้าเกท และทาเลสได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoA) ในการร่วมมือกันพัฒนาระบบสื่อสารดิจิทัลสำหรับยานพาหนะทหาร

ทาเลสได้มีส่วนในความสำเร็จของสนามบินสุวรรณภูมิ (BKK) โดยเป็นผู้จัดหาระบบจัดการจราจรทางอากาศ (ATM) แบบบูรณาการอย่างสมบูรณ์ครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานของแพลตฟอร์มสนามบินทั่วโลก นอกจากนี้ ความปลอดภัยในการลงจอดของสนามบินไทย 16 แห่งก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยระบบช่วยลงจอด (ILS) ของทาเลส

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ทาเลสได้รับสัญญาให้ส่งมอบระบบ ATM ทั่วประเทศให้แก่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด (Aerothai) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทย ระบบดังกล่าวมีชื่อว่าระบบการบริการการเดินอากาศ (Thailand Modernization CNS/ATM System (TMCS) ทาเลสให้บริการเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภาคอุตสาหกรรมแก่เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ทาเลสยังเป็นผู้ให้บริการระบบเดินอากาศและการลงจอดแก่สนามบินหลายแห่งในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นการช่วยให้การขนส่งทางอากาศมีความปลอดภัยสูงขึ้นในทุกสภาพอากาศ

ทาเลสเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของระบบ Avionics ในห้องนักบินของฝูงบินแอร์บัสหลากหลายรุ่น ซึ่งรวมถึง A320, A330, A350 และ A380 ที่ดำเนินการโดยการบินไทย บางกอกแอร์เวย์และไทยแอร์เอเชีย แผง avionics ที่ซับซ้อนคุณภาพสูงสำหรับเครื่องบินเหล่านี้ผลิต ประกอบและทดสอบในประเทศไทยผ่าน Sanmina-SCI

Related Posts