แกะรอย The Stanford Thailand Research Consortium #1

Stanford

ทุกคนรู้ดีว่างานวิจัยเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่กระนั้นงานวิจัยที่ผ่านมาของประเทศไทยก็สะท้อนความล้มเหลวบางอย่างของการนำไปใช้งานบนโลกของความเป็นจริงอย่างที่ทุกคนรู้ดีเช่นกัน แต่ความร่วมมือของภาคเอกชนและหน่วยงานการศึกษาระดับโลกที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้เป็นความแตกต่างที่เราจะต้องหันกลับมามอง ซึ่งนั่นก็คือการเกิดขึ้นของ The Stanford Thailand Research Consortium ที่เป็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษาระดับโลกที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากประเทศสหรัฐอเมริกา และยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่าง เอพี ไทยแลนด์ ที่ได้จุดประกายการวิจัยเชิงประยุกต์มาแล้วก่อนหน้า

และจากความสำเร็จของการริเริ่มในวันนั้น ทำให้วันนี้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้นจากพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยอย่างเอไอเอส และยักษ์ใหญ่ด้านการเงินอย่างธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมจะร่วมกันลงขันราว 1 ล้านเหรียญต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการความร่วมมือ 5 ปี ภายใต้การดูแลเสมือนตัวกลางผสานความร่วมมืออย่าง SEAC (South-East Asia Center)ที่เป็นศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ต่างชาติจะเข้าใจบริบทไทยอย่างไร

คำถามแรกที่แว๊บเข้ามาในความคิดของการนั่งฟังความร่วมมือครั้งนี้คือ มหาวิทยาลัยต่างชาติอย่างสแตนฟอร์ดจะเข้าใจบริบทคนไทยได้ดีกว่าเราได้อย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับเป็นการเปิดมุมมองความคิดใหม่ที่เรียกว่าเป็นแนวทางการศึกษาสากล อันจะมีระเบียบแบบแผนในการปฎิบัติที่เป็นมาตรฐานในการเข้าถึงบริบทที่ชัดเจนในทุกๆสังคมมนุษย์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและพาร์ทเนอร์อย่าง SEAC เองก็ได้เตรียมคำตอบนี้มาอย่างดีเช่นกัน

Stanford
พอล มาร์คา ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

พอล มาร์คา ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความร่วมมือในโครงการวิจัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า “มันจะเป็นอย่างไรถ้ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย?” ซึ่งความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของการทำงานวิจัยร่วมกันกับเอพี ไทยแลนด์ ทำให้เราสามารถขยายความร่วมมือกับอีก 2 องค์กรนั่นก็คือ เอไอเอส และธนาคารกสิกรไทย จนทำเกิดการจัดตั้งโครงการ The Stanford Thailand Research Consortium ขึ้นมา และตอนนี้ ไทยยูเนี่ยน ก็เพิ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Consortium แห่งนี้เป็นที่เรียบร้อย

ด้านนางสาวโรนี่ย์ ชิโล่ ผู้อำนวยการโครงการอาวุโส Stanford Center for Professional Development กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium เกิดขึ้นจากความร่วมมือและความตั้งใจของคณาจารย์และนักเรียนทั่วมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกว่า 13 ท่าน ในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา ธุรกิจ และภูมิศาสตร์

โดยมีสิ่งสำคัญในการวิจัยเดียวกันนั่นคือการรักษาสมดุลระหว่างโครงการที่จะทำให้เกิด “Doing Good” หรือการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ และสนับสนุนสังคมไทยและประเทศไทยโดยรวม เพื่อช่วยให้สมาชิกในกลุ่ม Consortium แห่งนี้ “Doing Well” หรือการช่วยให้บริษัทที่ร่วมมือหรือมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ซึ่งหลายโครงการที่เริ่มทำการวิจัยยังได้รับแรงบันดาลใจจากนโยบายการพัฒนา Thailand 4.0 เพื่อยกระดับคุณค่าของมนุษย์ และเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมให้ดียิ่งขึ้น และรวมไปถึงการส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

โครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ตัวอย่างของโครงการที่ทีมสแตนฟอร์ดได้เริ่มมีส่วนร่วม ได้แก่ ความพยายามในการระบุความเป็นอยู่ของคนไทยในแต่ละพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของข้อมูลประชากร การดูเรื่องของผู้สูงวัย ตลอดจนศึกษาเรื่องของการใช้ที่ดิน และแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดน่าน

ด้านนางสาวพาเมล่า แพม เจ ไฮนส์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการจัดการ) กล่าวว่า ทีมของเราได้เริ่มทำ 2 โครงการ ซึ่งโครงการแรกมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบทบาทที่คนทำงานในยุคปัจจุบันมีต่อองค์กร ซึ่งใช้วิธีวิเคราะห์ทางชาติพันธุ์ (Ehnographic Methods) จากการที่เราได้เข้าไปสังเกตดูนักวิเคราะห์ข้อมูลทำงานอย่างใกล้ชิด และสัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับการทำงาน อันเป็นโครงการที่ทำร่วมกับเอไอเอส เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กร

ขณะที่โครงการที่ 2 เน้นไปที่ Complex Teams โดยส่งคนไปเฝ้าสังเกตและอยู่กับพนักงานของเอพี ไทยแลนด์ ประมาณ 3 เดือน ซึ่งได้สังเกตดูการทำงานของพนักงานและพูดคุยกับพวกเขา เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการทำงานของพวกเขาและความท้าทายที่พวกเขาเผชิญในการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบ Complex Teams โดยเป้าหมายหนึ่งของเรา คือการเรียนรู้ว่าจะต้องทำงานแบบไหนเพื่อให้ได้ทีมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านศาสตราจารย์ ไมเคิล เลอเพ็ค คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) ระบุว่าทีมของผมได้เริ่มทำงานวิจัยสองโครงการกับ เอพี ไทยแลนด์ ซึ่งโครงการแรกเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเสมือนจริงสำหรับการใช้ชีวิตและจัดการข้อมูลที่เชื่อมต่อจากสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นมา ซึ่งโมเดลดังกล่าวใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตในการทำงาน เรียน และเล่น

ซึ่งความท้าทายคือการที่จะเชื่อมโยงชีวิตจริงของเรากับดิจิทัลให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิมๆและหาทางสร้างแนวทางใหม่ๆในการจัดการโครงสร้าง วิเคราะห์ และแสดงให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นรอบตัวเราอย่างต่อเนื่อง การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับโลกเสมือนจริงและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ขณะที่โครงการที่ 2 มุ่งเน้นไปที่การค้นหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมที่จำลองขึ้นมา เพื่อพัฒนาวิธีการใหม่ๆในการระบุ เข้าใจ และประเมินนวัตกรรมที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบพลิกผัน ในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วทั่วโลก เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือขององค์กรหรือประเทศในอนาคต

ขณะที่ศาสตราจารย์ ชัค อีสลีย์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการจัดการ) ระบุว่า ทีมของผมได้เริ่มทำงานวิจัย 2 โครงการกับ เอไอเอสและธนาคารกสิกรไทย โดยโครงการแรกมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมขององค์กรและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ (Innovation and Entrepreneurship Training) โดยได้ทำการพัฒนาทักษะผ่านการส่งมอบความรู้และฝึกอบรมในเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งได้เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลกับทีมนวัตกรรมภายใน และหวังว่าจะสามารถนำวิธีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังมีการวางแผนที่จะทดสอบกับกลยุทธ์คราวด์ซอสซิ่ง (Crowdsourcing) แบบใหม่อีกด้วย

ขณะที่โครงการที่ 2 จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมและการฉ้อโกงทางการเงินระหว่าง SMEs ในประเทศไทย เนื่องจากเทคโนโลยีบล็อกเชนมีรูปแบบของการเปิดเผยข้อมูลผ่านบล็อกในเครือข่ายที่ยากต่อการแก้ไขจากคนๆเดียวได้ ทำให้เกิดความมั่นคงทางข้อมูลที่สูง

ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ระเบียบแบบแผนการวิจัยดังกล่าว มุงเน้นที่การลงลึกในรายละเอียดของพฤติกรรม ตลอดจนข้อมูลโดยรอบของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการวิจัยแบบเดิมๆที่เกิดขึ้นในห้องทดลองหรือห้องวิจัย และแนวทางดังกล่าวก็เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อันขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติ โดยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พิสูจน์ได้จากการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเช่นนี้ราวปีละ 3 – 5 พันล้านบาทจากองค์กรทั่วโลก

และไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือของการวิจัยภายใต้โครงการ The Stanford Thailand Research Consortium ในประเทศไทยครั้งนี้ ยังเป็นระดับความร่วมมือของมหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง ซึ่งหมายความว่า ใน 1 โครงการ เราจะได้นักวิจัยจากหลายสาขาเข้ามาร่วมทำงานชิ้นเดียวให้เกิดความสำเร็จนหลากหลายมิติที่แตกต่างกัน เพื่อยกระดับให้ผลงานมีความสมบูรณ์พร้อม ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปใช้ต่อภาพรวมของประเทศไทย และท้ายที่สุดองค์กรที่มีส่วนร่วมจะสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลวิจัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เป็นอย่างไรกันบ้างกับจุดกำเนิดของโครงการนี้ ที่จะพลิกโฉมการวิจัยบนหิ้งให้ลงมาสู่การปฏิบัติจริง นับตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยเป็นต้นมา แต่ความเร้าใจไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะยังมีฟากของการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อสู่วัฒนธรรมไทยอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ศูนย์​พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หรือ SEAC ที่จะเข้ามาร้อยเรียงให้สแตนด์ฟอร์ดได้เข้าถึงและเข้าใจบริบทคนไทยได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แกะรอย The Stanford Thailand Research Consortium #2

แกะรอย The Stanford Thailand Research Consortium #3

แกะรอย The Stanford Thailand Research Consortium #4

แกะรอย The Stanford Thailand Research Consortium #5

banner Sample

Related Posts