
ก่อนที่จะหยิบยืมวอลโว่ XC40 มาทดสอบกันนั้น โดยส่วนตัวแล้วชอบในเรื่องของการดีไซน์รถแวนของค่ายนี้มานานแล้ว ย้อนไปตั้งแต่สมัย 850 T5R รถแวนทรงเหลี่ยมที่มีเสน่ห์อย่างมากในยุคนั้น โดยเฉพาะสีเหลืองอ่อนที่สะดุดตามากๆ และหลังจากนั้น (โดยความเห็นส่วนตัว) ก็ยังไม่มีรถยนต์ค่ายไหนที่ทำรถแวนได้มีเสน่ห์เท่าวอลโว่เลย
จนมาถึงยุคที่เอสยูวีเริ่มเข้ามามีบทบาทบนท้องถนนมากขึ้น วอลโว่ก็นำเสนอรถในกลุ่มนี้มากมายหลากหลายรุ่น จนมาถึงรุ่นล่าสุด XC40 ที่นอกจากจะมีดีไซน์ที่ล้ำสมัยแล้ว ยังทำให้รถยนต์แบรนด์นี้ดูหนุ่มขึ้นอีกเป็นกอง เด่น สะดุดตา และยังคงเอกลักษณ์ของความเหลี่ยมของตัวถังที่ได้รับการขัดเกลามาเป็นอย่างดี จนทำให้คู่แข่งโดยตรงอย่าง BMW X1 และ Mercedes Benz GLA มีหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง
แม้จะเป็นแบรนด์หรูเหมือนคู่แข่ง แต่การดีไซน์ของ XC40 ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความหรูหราแบบออกนอกหน้า โดยเฉพาะการแต่งภายในที่หากมองผ่านกระจกเผินๆ ก็ดูธรรมดาและไม่หวือหวาอะไร แต่เมื่อลองเข้ามาสัมผัสกันแบบจริงจังแล้วจะรู้ได้เลยว่า การตกแต่งไม่ได้หรูมาก แต่ดูแพงมาก มีลูกเล่นเต็มไปหมด และที่สำคัญมีเสน่ห์แบบสแกนดิเนเวียนเหมือนที่วอลโว่ตอกย้ำให้กับแบรนด์อยู่เสมอมา
รูปทรงภายนอกอาจจะดูไม่ใหญ่โตนักแต่หากเข้ามาภายในแล้วจะพบว่ารถคันนี้กว้างกว่าที่คิด เบาะนั่งคู่หน้าสบายมาก เป็นเบาะนั่งแบบสปอร์ต R-Design หุ้มด้วยหนังและหนังกลับ Nuback Fine Nappa Perforated Leather เบาะนั่งคนขับ ปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบบันทึกตำแหน่ง Memory Seat ระบบปรับดันหลังไฟฟ้า Lumbar Support 4 ทิศทาง เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับด้วยไฟฟ้าเช่นกัน
ส่วนเบาะหลังนั้นแม้จะมีความโปร่งกว่ารุ่นพี่ XC60 เล็กน้อย แต่ก็มีความกว้างที่เท่ากัน นุ่มสบาย เสียอย่างเดียวคือพนักพิงหลังตั้งชันมากและไม่สามารถปรับเอนได้ ซึ่งถ้าแก้ตรงนี้ได้ความสบายในห้องโดยสารจะเรียกว่าเพอร์เฟคเลยทีเดียวเพราะ XC40 (MY2019) ในรุ่น R-Design ได้เพิ่มหลังคากระจก Panoramic Sunroof เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้ามาให้ แถมยังมีเสียงเพลงระดับเทพจากระบบเสียง Harman Kardon Amplifier 600 วัตต์ ลำโพง 13 ตำแหน่ง พร้อม SubWoofer และระบบเสียงรอบทิศทางแบบ Quantum Logic มากันแบบครบๆ
เบาะหลังอาจจะไม่ใช่จุดขายเพราะเมื่อลองดูจากระบบความปลอดภัยที่ให้มาแล้ว ต้องบอกเลยว่าไม่มีใครให้มากกว่านี้อีกแล้วกับราคา 2,490,000 บาท แม้ในคลาสคู่แข่งที่สูงกว่าก็ยังมีไม่ถึง สมกับสโลแกนคุ้นหูว่า “ทุกชีวิตปลอดภัยในวอลโว่” ดังนั้นขอเลือกเฉพาะที่ต้องร้องว๊าวก่อนนะว่ามีอะไรบ้าง ส่วนระบบที่รถทั่วไปมีแล้วก็คือปกติ ไม่ขอเขียนถึง
ระบบป้องกันเมื่อเกิดการวิ่งตกถนน Run-Off Protection, ระบบปกป้องการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ และหลัง Whiplash Protection System, ระบบกระจายแรงกระแทกจากการชนด้านข้าง Side Impact Protection System, ระบบป้องกันการชน City Safety พร้อมเซนเซอร์ตรวจจับรถ คนเดินถนน จักรยานและสัตว์ใหญ่ พร้อมฟังก์ชันหยุดรถอัตโนมัติ Full Auto Brake, ระบบป้องกันการชน Collision Avoidance & Mitigation Support พร้อมฟังก์ชันหยุดรถอัตโนมัติ Auto Brake, ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา Blind Spot Information System
ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง Cross Traffic Alert พร้อมฟังก์ชันหยุดรถอัตโนมัติ Auto Brake, ระบบแจ้งเตือนเพื่อให้เว้นระยะห่างจากคันหน้า Distance Alert, ระบบเตือนด้วยแรงสั่นที่พวงมาลัยเมื่อรถออกนอกช่องจราจร Lane Keeping Aid, ระบบควบคุมการทรงตัวและยึดเกาะถนน DSTC, ระบบควบคุมการโคลง Advanced Stability Control, ระบบควบคุมและป้องกันการโคลงของรถ Roll Stability Control
มาทางด้านการขับขี่กันบ้าง อย่างที่บอกไปแล้วว่าห้องโดยสารคู่หน้าให้ความสบายได้อย่างมาก ทัศนวิสัยดี เมื่อรวมเข้ากับระบบความปลอดภัยที่อัดมาให้อย่างเต็มที่แล้ว ต้องบอกเลยว่าการขับรถคันนี้ในการเดินทางไกลให้ความสบายอย่างมาก ไม่เครียดและเมื่อยล้าเลย ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียงขนาด 1,969 ซีซี. เทอร์โบให้กำลังสูงสุด 252 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800 – 4,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD ก็ตอบสนองในระดับที่น่าพอใจ
“โหมดการขับขี่สามารถปรับได้หลายรูปแบบ ถ้าอยากไปแบบเรื่อยๆ ขับสบายๆ พละกำลังมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ดุเดือดก็ให้เลือกขับโหมด Comfort แต่ถ้าต้องการความจี๊ดจ๊าด กดเมื่อไรพลังพร้อมพลีกายถวายชีวิต ช่วงล่างและพวกมาลัยให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น แอบแข็งเล็กน้อย เหมาะที่จะไปบู๊มากกว่าโหมด Comfort ก็ให้เลือกโหมด Dynamic ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยการซดน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าจะไปบุกป่าฝ่าดง ลุยโคลน ขึ้นเขาแบบโหดนิดๆ ก็ปรับไปที่โหมด Off Road แต่ถ้าต้องการความประหยัดก็เลือกโหมด Eco ส่วนใครที่ชอบตามใจตัวเองมากๆ ก็กดไปเลย Individual”
สำหรับการเดินทางไกลนั้น แนะนำให้ใช้โหมด Comfort เพราะทุกอย่างจะปรับให้นุ่มแต่หนึบแน่น ไม่แข็งกระด้างเหมือนคู่แข่ง เมื่อรวมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD ก็ช่วยความมั่นใจเข้าไปอีกในความเร็วสูงระดับ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทริปที่ Thereporter.asia ได้พาไปทดสอบในครั้งนี้คือหมู่บ้านอิต่อง เหมืองปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี การเดินทางไกลในครั้งนี้มีถนนหลากหลายรูปแบบทั้งทางตรงยาว ทางโค้ง และเส้นทางที่ต้องฝ่าฝนตกหนัก รวมไปถึงในช่วงหนึ่งของทางขึ้นเหมืองปิล็อกนั้นถนนพัง แคบและลื่นมากซึ่งเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน
“แต่ก็เป็นโอกาสที่ XC40 คันนี้แสดงศักยภาพให้เราเห็นว่าเอาอยู่ในทุกสภาพถนน สร้างความปลอดภัยได้มากและทำให้เราไม่รู้สึกเป็นกังวลเมื่อต้องเจอกับสภาพที่รถไม่น่าจะไปได้ แต่ทุกสิ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี และในทริปนี้ได้ใช้งานระบบระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลังและฟังก์ชันหยุดรถอัตโนมัติแบบจริงจัง เพราะในขณะที่เรากำลังถอยหลังและมองเห็นน้องหมาเข้ามาอย่างชัดเจน เน้นว่าชัดเจน และคิดว่าจะเดินผ่านไปแล้ว แต่สรุปกลับหันหลังมาตัดหลังรถซะอย่างนั้น ดีที่ระบบช่วยหยุดอัตโนมัติช่วยไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะเสีย 4 หมื่นด้วยความไม่ตั้งใจก็เป็นได้”
สำหรับตัวเลขอัตราเร่งที่เคลมจากโรงงานว่าอัตราเร่ง 0-100 km/h ใน 6.5 วินาที นั้นคิดว่าน่าจะต้องปรับไปโหมด Dynamic ซะก่อนถึงจะได้ตัวเลขที่ใกล้เคียง ส่วนความเร็วสูงสุดที่เคลมไว้ที่ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นก็ไม่ได้ลอง เพราะมองความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมทาง รวมถึงถนนในเมืองไทยไม่ได้เอื้อให้ลองความเร็วระดับเกิน 180 กิโลโมตรต่อชั่วโมงเท่าใดนัก เช่นเดียวกับอัตราการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นก็ไม่ได้ลอง เพราะเป็นคนขับรถค่อนข้างเร็ว และคิดว่าลูกค้าที่ซื้อรถระดับนี้ไม่น่าซีเรียสเท่าใดนัก แต่ถ้าซีเรียสอยากรู้ ก็บอกเลยว่าประหยัดกว่าที่คิด เมื่อเทียบกับความแรงที่ได้
ด้านความสะดวกสบายที่นอกเหนือจากระบบความช่วยเหลือต่างๆ นั้น XC40 (MY2019) ในรุ่น R-Design ยังมีกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา ไฟหน้า ปรับระดับสูง-ต่ำแบบอัตโนมัติ ระบบเปิด-ปิดไฟสูง พร้อมปรับมุมส่องสว่างอัตโนมัติ Active High Beam Control ฝาท้าย เปิด – ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า โดยไม่ต้องใช้มือ Hand-free Tailgate ระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในรถ Clean Zone และไม่ต้องกลัวหลงด้วยระบบนำทาง Navigation System
ส่วนของเล่นสำหรับคนที่นิยมเรื่องไอที งานนี้วอลโว่จัดเต็มมาพร้อมหน้าจอกลางระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 9 นิ้ว คล้ายกับแท็บเล็ตและสามารถทัชสกรีนได้ง่ายแบบไม่ต้องกดหนัก เข้าถึงเมนูต่างๆ ได้แบบสบายๆ แต่หากกลัวจอเลอะหรือไม่มีเวลาเอื้อมไปจิ้ม ก็ยังมีระบบ Sensus Connect พร้อมฟังก์ชันสั่งงานด้วยเสียง เพียงบอกไปว่าต้องการให้ทำอะไร รวมถึงระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth ทำให้การเชื่อมต่อกับมือถือเป็นไปได้แบบง่ายดาย แต่ถ้าคิดว่ายังไม่ไฮเทคพอก็เชื่อมต่อได้เลยกับ Apple Car Play หรือ Andriod Auto ตามแต่ว่าจะเป็นสาวกขอระบบปฏิบัติการไหน และที่สำคัญยังมีแท่นชาร์จโทรศัพท์ไร้สายแบบ Wireless Charging ทำให้ไม่ต้องกลัวการลืมสายชาร์จ (แต่ต้องเช็คมือถือตัวเองก่อนนะ ว่ารองรับไหม)
ส่วนระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ (แบบขนาน-เข้าซอง) Park Assist Pilot นั้นไม่ได้ลอง เพราะเท่าที่มีอยู่ก็คิดว่าจะใช้ไม่หมดอยู่แล้ว เช่นเดียวกับระบบช่วยในการขับขี่อัตโนมัติ Pilot Assist ที่จะช่วยควบคุมรถจนถึงความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ไม่ได้ลองเช่นกัน เพราะกลัวใจเพื่อนร่วมทางที่ส่วนใหญ่เป็นพาหนะที่มีวินัยในการขับรถค่อนข้างต่ำ