ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยยุค 2.0 ขยายได้เร็วกว่าเดิม 5 เท่า

ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยยุค 2.0 ขยายได้เร็วกว่าเดิม 5 เท่า
ศุภรัฒศ์
นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีที จีดีซี (ประเทศไทย) จำกัด

เอสทีที จีดีซี ยักษ์ด้านดาต้าเซ็นเตอร์จากสิงคโปร์ ดึงผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ‘ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา’ ขึ้นแท่นซีอีไทยคนแรก ทุ่มกว่า 7.3 พันล้านบาท ประกาศเดินหน้าสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ยุค 2.0 ไฮเปอร์สเกลพร้อมแคมปัสแห่งแรกของไทย รองรับการขยายธุรกิจได้เร็วขึ้นกว่า 5 เท่า พุ่งเป้าสร้างรายได้ภายใน 4 ปี กว่า 1,000 ล้านบาท รุก 3 กลุ่มหลัก การเงิน หน่วยงานรัฐ และบริการใดๆผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(OTT)คาดไตรมาสแรก 2564 พร้อมให้บริการเฟสแรก

นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีที จีดีซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เราเรียกว่ายุคดาต้าเซ็นเตอร์ 1.0 โดยเรามีบริการคลาวด์ที่หลากหลายเกิดขึ้นในประเทศไทย ในประเด็นโครงสร้างเรียกว่าครบสมบูรณ์แบบ​แล้ว แต่นั่นคืออดีต ในมุมของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทุกวัน มีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา มีการพูดถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยี​ที่จะเพิ่มความสามารถให้ธุรกิจเติบโตขึ้น และยังต้องการการพัฒนาที่สูงยิ่งขึ้น

การทำให้เทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์​เติบโตขึ้นได้เร็วตามการเติบโตของธุรกิจ เมื่อหันกลับมามองที่ดาต้าเซ็นเตอร์ยุค 1.0 ที่เรียกว่าครบสมบูรณ์​แล้ว แต่ยังไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ โดยรองรับการขยายตัวของข้อมูลได้เพียง 1.5-2 เท่าเท่านั้น การเริ่มเข้าสู่ยุคดาต้าเซ็นเตอร์ 2.0 นับเป็นครั้งแรกที่ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มี 2 คุณสมบัติ ทั้งไฮเปอร์สเกลและแคมปัสมารวมอยู่ในที่เดียวกันและตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะรองรับการขยายตัวด้านข้อมูลกว่า 5 เท่าจากการออกแบบที่รองรับทั้ง 3 ส่วนที่สำคัญทั้งเรื่องของกำลังไฟ การเชื่อมต่อ และพื้นที่ให้บริการ

โดยความเป็นไฮเปอร์สเกลที่ตั้งขึ้นจะเป็นแบบสากลระดับโลก ทั้งเรื่องความปลอดภัยระดับเทียร์ 3 เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ตั้งซึ่งออกแบบให้ป้อกันกันความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล และการให้บริการที่ได้รับการยอมรับของเอสทีที จีดีซีจากทั่วโลก โดยความหมายของไฮเปอร์สเกล ตามทฤษฏี​แล้วจะสามารถขยายได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากระบบดาต้าที่ใกล้กันมากขึ้น ด้วยขอบเขตที่ลูกค้าสามารถขยายบริการได้กว่า 5 เท่า

ขณะที่การเป็นแคมปัส ซึ่งเป็นการรวมผู็ให้บริการที่เกี่ยวข้องกันเข้ามาอยู่ในสถานที่เดียวกันจากความเป็นกลางของดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ จะช่วยให้บริการของลูกค้าประหยัดต้นทุนการเชื่อมต่อและประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้ามาอยู่ในแคมปัสเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ​และการออกแบบเช่นนี้ยังไม่มีใครในประเทศไทยสามารถออกแบบมาได้ นับเป็นครั้งแรกที่ทำได้เช่นกัน

และนอกจากด้านโครงสร้างอาคาร 8 ชั้นที่พร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้แล้ว ยังมีระบบไฟฟ้าสำหรับตัวอาคารที่รองรับสูงสุด 20 MW โดยเฟสแรกจะรองรับ 4MW และขยับขึ้นทีละ 4MW ต่อเฟสจนครบ 20MW ขณะที่ส่วนใหญ่ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะมีการรอรับสูงสุดที่ราว 12 MW เท่านั้น โครงการทั้งหมดจะอยู่บนพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ย่านรามคำแหง โดยจะมีเทคโนโลยีทีครบสมบูรณ์​ที่สามารถขยายบริการได้ทันที ช่วยให้ลูกค้าสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว พร้อมความปลอดภัยระดับเทียร์ 3 และมาตรฐาน Threat and Vulnerability Risk Assessment (TVRA) เช่นเดียวกับการดูแลความปลอดภัยสถานที่ของสถานทูตระดับโลก

ศุภรัฒศ์

วันนี้ธุรกิจมีการแข่งขันกันที่ดาต้าที่เพิ่มขึ้น การแปลงดาต้าเป็นมูลค่าเพิ่มที่มากขึ้น เป็นสิ่งสะท้อนความสามารถของการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี การเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ 1.0 เปรียบเสมือนการเป็นสนามบินดอนเมืองทั้งระบบ​ ซึ่งอากาศยานจะเป็นเสมือนแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงสนามบินสู่การเดินทางไปทั่วโลก แต่กระนั้นสนามบินก็ยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับอาศยานที่เพิ่มมากขึ้น การเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่รองรับแอปพลิเคชั่นที่เข้ามาจากทั่วโลกเพื่อเชื่อมโยงบริการได้อย่างอิสระเป็นทิศทางการทำดาต้าเซ็นเตอร์ในยุค 2.0 ซึ่งเป็นเสมือนสนามบิน 2.0 ที่สามารถขยายการรองรับอากาศยานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยนั่นเอง

เราขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 สามารถรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลที่เชื่อมโยงบริการต่างๆที่เกิดขึ้นได้กว่า 70% ของผู้คนทั่วโลก ในระยะเวลาเพียงแค่ 5ปี มีการเพิ่มขึ้นกว่า 80 ดาต้าเซ็นเตอร์ใน 5 ประเทศทั้ง จีน 58 แห่ง อินเดีย 15 แห่ง อังกฤษ 10 แห่ง และสิงคโปร์​ 7 แห่ง การเปิดในประเทศไทยนี้จะเป็นประเทศที่ 5 ในการเปิดบริการของ STT GDC ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการได้ภายใน Q1 ปี 2021

ทั้งนี้สถานที่ตั้งรามคำแห่งที่จะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นนี้ นับว่ามีความพร้อมในการห่างไกลจากพื้นที่สุ่มเสี่ยง ทั้งเรื่องของภัยพิบัติธรรมชาติ หรือพื้นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหรือสถานทูต ทำให้เราไม่ใกล้กับจุดเสี่ยงในทางข้อกำหนด และเรายังสร้างพื้นที่เป็นแนวสูงที่ เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างเหมาะสม

ประเทศไทยเรามีศักยภาพมากในการขยายบริการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ โดยภาพรวมกว่า 11%ของคนจีนนอกประเทศอยู่ในประเทศไทย และธุรกิจจีนเข้ามาไทยอีกมาก ด้วยวัฒนธรรมที่​ใกล้เคียงกัน แน่นอนว่าดาต้าจะวิ่งจากไทยกลับเข้าไปประเทศจีน ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์สากลในระดับภูมิภาค

ในแง่ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เรายังสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้จากทุกระบบตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งปัจจุบันความเร็วของอินเทอร์เน็ตมีการเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำจากสงขลาไปที่สิงคโปร์ผ่านไปที่ฮ่องกงและญี่ปุ่นแล้วต่อไปยังอเมริกา นับเป็นการเชื่อมต่อหลายฮอบ แต่ในอนาคตจะมีอีกเส้นที่เชื่อมไปที่เวียตนามและส่งไปญี่ปุ่นสู่อเมริกาได้เลย ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นในอนาคต โดยเราเตรียมท่อเพื่อรองรับการใช้งานและการขยายเน็ตเวิร์ค​ต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

เราเชื่อว่าภายใน 4 ปี จะสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 1000 ล้านบาท ด้วยความเชี่ยวชาญของ เอสทีที จีดีซี ที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่กว่า 100 แห่งทั่วโลก จากกลุ่มการเงินการธนาคาร หน่วยงานรัฐบาล และผู้ให้บริการผ่านระบบดินเทอร์เน็ต (OTT)ต่างๆ ด้วยความชัดเจน และไทม์มิ่ง ที่จะเป็นส่วนสำคัญมากในการแข่งขัน แม้ว่าเราจะเพิ่งเข้ามา แต่เราก็มาพร้อมความเชี่ยวชาญและช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเราเห็นชัดเจนว่าประเทศไทยมีความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์แบบไฮเปอร์สเกลจากการเพิ่มขึ้นของบริการ และเราก็ตื่นเต้นที่จะผลักดันให้เกิดดาต้าเซ็นเตอร์ยุค 2.0 ขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ทั้งนี้รูปแบบการคิดค่าบริการ ในยุคดาต้าเซ็นเตอร์ 1.0 นั้นจะคิดค่าบริการเป็นแรคพร้อมระบบไฟฟ้าหรือแยกระบบกำลังไฟฟ้าออกจากกัน แต่ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ 2.0 จะไม่คิดค่าบริการตามจำนวนแรค แต่จะซื้อขายเป็นขนาดกำลังไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งกลยุทธ์​ทางด้านราคาคาดว่าจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากการแข่งขันจะเป็นเรื่องความพร้อมการรองรับเทคโนโลยีของอนาคต และคุณภาพการบริการของดาต้าเซ็นเตอร์เองมากกว่า ส่วนราคาก็จะเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

Related Posts