TAI จับมือ มรภ.อยุธยา พัฒนาหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องบิน

TAI จับมือ มรภ.อยุธยา พัฒนาหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องบิน
ช่างซ่อมเครื่องบิน
ดร.ธนกฤต อัศวลงกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด(ขวา) และ รองศาสดาจารย์ ดร. ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ไทย แอร์โรวสเปซ อินดัสทรีส์ (TAI) จับมือ มหาวิทยาลัยราชภักพระนครศรีอยุธยา ปั้นหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานระดับสากล พัฒนาบุคลากรที่มีใบรับรองเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินระดับโลก ตั้งเป้านักศึกษาร่วมโครงการ 500 คน โดยรับสมัครจากทั้งนักศึกษาปัจจุบันรวมถึงบัณฑิตที่จบไปแล้วไม่เกิน 2 ปี และผู้ที่ประกอบอาชีพในสายการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่แล้ว หวังให้อุตสาหกรรมการบินในไทยเดินหน้าด้วยการมีบุคลากรระดับมาตรฐาน และรองรับการส่งออกแรงงานระดับคุณภาพพร้อมทำงานทุกที่ในโลกอุตสาหกรรมการบิน

ดร.ธนกฤต อัศวลงกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือกับทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ครั้งนี้ว่า “ไทยแอร์โรสเปซ เป็นหนึ่งในธุรกิจด้านดูแลและจัดการในภาคอุตสาหกรรมการบินมานาน นอกจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคที่กำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องแล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำลังเป็น คำถาม อยู่คือการสร้างบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสากลนั้น ณ วันนี้ประเทศไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีภาคการศึกษาหลายแห่งที่มีการเปิดสอนหลักสูตรการบินเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีสภาบันการศึกษาใดเลยที่มองเห็นและได้นำเอากรอบหรือข้อกำหนดมาตรฐานสากลไปกำหนดไว้ในหลักสูตร”

“เราในฐานะของผู้ประกอบการที่โดยทางตรงแล้ว ก็คือภาคธุรกิจที่ต้องสรรหาบุคลากรเข้าสู่การทำงานหากแต่ในประเทศไทยนั้นแรงงานที่จบออกมาไม่ได้ตามมาตรฐานสากลและไม่มีใบรับรองความรู้ระดับสากล ทำให้วันนี้ภาคอุตสาหกรรมการดูแลอากาศยานในประเทศไทยนั้นยังคงจำกัดอยู่กับงานพื้นๆ มีเพียงบริษัทไม่กี่แห่งที่จะรับงานซ่อมและดูแลอากาศยานที่มีความซับซ้อนได้มาก เราจึงกลับมามองว่าเพราะอะไรและปัญหาอยู่ที่จุดใดพบว่าภาพรวมในประเทศของเราวันนี้คือเรื่องของมาตรฐานสากลที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในแง่ขององค์ความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ตอบโจทย์ในมาตรฐานสากล ณ ปัจจุบัน” ดร. ธนกฤต กล่าวเสริม

ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยแอร์โรสเปซ อินดัสทรียส์ จำกัด ได้ทำการเปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมและสอบวัดความรู้มาตรฐานช่างซ่อมอากาศยาน บนมาตรฐาน EASA Part147 ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกที่เปิดดำเนินการในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือทำการฝึกอบรมกับ Dviation Solutions จากสหภาพยุโรป โดยที่ผู้ที่ผ่านการอบรมและสามารถสอบผ่านตามหลักสูตรนั้น จะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ที่สามารถนำไปสมัครงานกับธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานที่ใดก็ได้ในโลก

รองศาสดาจารย์ ดร. ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “ความร่วมมือกับไทยแอร์โรสเปซนั้นถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยามุ่งมั่นในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนาทั้งองค์ความรู้และประสิทธิภาพรวมถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยฯ ที่จะสามารถตอบสนองทั้งนักศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรวมถึงร่วมพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมการบินถือเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ประเทศกำลังเดินหน้าไป เราไม่ได้มองที่ปัญหาเดิมแต่กำลังมองไปข้างหน้าว่าหาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จะเข้าสู่การผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินนั้นจะต้องเตรียมตัวและเดินหน้าไปด้วยวิธีการใด”

“และการมองหาพันธมิตรที่เป็นภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบินก็เป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยมองแล้วว่า เหมาะสมทั้งในแง่ของการสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำเอาคำแนะนำที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาบุคคลากรและหลักสูตร อีกทั้งปัจจุบันการพัฒนา คน ให้ตรงตามความต้องการป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมให้พร้อมต่อการทำงานได้จริงก็เป็นแนวทางที่สำคัญของภาคการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญ และการนำเอามาตรฐานสากลเข้ามาบรรจุในหลักสูตรยิ่งเป็นหลักสำคัญที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จะสามารถนำมาเป็นจุดต่างสำหรับการเลือกเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาอีกต่อไป” ดร. ชูสิทธิ์ กล่าวเสริม

ในส่วนรายละเอียดของความร่วมมือในการถ่ายทอดและร่วมสร้างบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินระหว่าง ไทยแอรโรสเปซ อินดัสทรียส์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นั้น จะเริ่มที่หลักสูตรของช่างซ่อมอากาศยานที่รับสมัครจากนักศึกษาปัจจุบันและบัณฑิตที่จบไปแล้วไม่เกิน 2 ปี หรือบุคคลากรในอุตสาหกรรมการบินที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการมีใบรับรองความรู้ระดับสากล เพื่อการทำงานร่วมกับบริษัททางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งการมีใบประกาศรับรองที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นเหมือนใบเบิกทางให้กับแรงงานด้านอุตสาหกรรมการบินของไทยในการส่งออกไปทำงานได้ทั่วโลก

Related Posts