
กลายเป็นองค์กรที่ถูกจับตามองมาตลอดในฐานะบริษัทที่ต้องควบรวมกับ กสท โทรคมนาคม ในการก่อตั้งบริษัทใหม่เพื่อสร้างการแข่งขันในยุคดิจิทัลดิสทรัปชัน แต่จนเมื่อเวลาผ่านไปการควบรวมก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าแม้จะมีสัญญาณที่ดีในการเจรจากับทุกฝ่ายและเห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง แต่กระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านกฏหมายซึ่งก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่ใครจะรู้บ้างว่าระหว่างที่สังคมกำลังให้ความสนใจกับการควบรวมนั้น ทีโอทีมองถึงโอกาสในการเข้าร่วมประมูล 5G ไว้แล้ว และมีเงินสดพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลอีกด้วย
แต่การประมูลครั้งนี้มีแนวทางที่น่าสนใจว่า ทีโอทีน่าจะร่วมกับ กสท โทรคมนาคมหรือ แคท ในการทำ 5G ร่วมกัน เพราะเมื่อดูแนวโน้มแล้วน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะทำเพียงลำพัง และจะเป็นการเดินหน้าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ทั้งสององค์กรจะทำร่วมกัน ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าการควบรวมธุรกิจเดิมที่มีอยู่
นายสัมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ในฐานะประธานบอร์ด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที กล่าวว่า การเดินหน้าเข้าสู่บริการ 5G ของทีโอทีไม่ได้น้อยหน้าใครเลย ทีโอทีมีศักยภาพมีความพร้อม เพียงแต่คนในทีโอทีต้องปรับวิสัยทัศน์ ปรับสิ่งที่มีอยู่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งในส่วนของความร่วมมือกับแคทเพื่อทำ 5G นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะในอดีตการให้บริการโครงข่ายภาครัฐซึ่งทีโอทีกับแคทเคยทำร่วมกันก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว
“แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการลงไปในรายละเอียดที่ลึกกว่าการพูดถึงราคาประมูลคลื่นความถี่ 5G เพราะเทคโนโลยีนี้มีการลงทุนที่สูงมาก ซึ่งการที่ทั้ง 2 องค์กรจะลงทุนร่วมกันสัก 4-5 หมื่นล้านนั้นไม่ยาก แต่การหาเงินกลับมาไม่ใช่เรื่องง่าย และการลงทุนอาจจะไม่คุ้มค่าในขณะนี้เพราะต้องสร้างให้มีการใช้งานก่อน โดยเงินที่ใช้ก็ไม่ใช่จ่ายแค่การประมูลแต่ต้องลงทุนเครือข่ายอีก ในทางกลับกันถ้าไม่ทำบ้านเมืองไม่พัฒนา ดังนั้นราคาค่าประมูลคลื่นควรจะต่ำลงหน่อยเพื่อจะได้นำเงินไปพัฒนาในส่วนอื่น ก่อให้เกิดการใช้งานและสร้างรายได้ที่แท้จริง”
การดำเนินการด้านธุรกิจ 5G นั้น แม้จะมีเงินสร้างได้แต่ต้องดูความพร้อมของการใช้งาน ซึ่งการให้บริการของทีโอทีจะมุ่งสนับสนุนสังคม ภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านของความปลอดภัยที่ภาครัฐต้องให้กับชุมชน เพราะ Public Security เป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนสาธารณสุขก็เป็นเรื่องที่ตามมา โดยเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทอย่างมากในการทำให้สิ่งที่ทีโอทีดำเนินการมาสามารถสำเร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อย่างเช่น แพลตฟอร์มสาธารณสุข ที่จะเดินหน้าพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้นและสามารถช่วยเหลือผู้คนในสังคมในวงกว้างได้มากขึ้น
ทั้งนี้สำหรับรายได้ตลอดทั้งปี 2562 ของทีโอทีนั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนทางด้านพันธมิตรก็มีความก้าวหน้าทางการร่วมมือเช่นกัน แต่เนื่องจากที่ผ่านมาต้องกันงบประมาณไว้จ่ายให้กับพนักงานที่ลาออกเพื่อเป็นสวัสดิการคนละ 400 วัน ทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชี ซึ่งทางบอร์ดก็ให้ฝ่ายบริหารไปหารายได้มาทดแทนเงินส่วนนี้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
นายสัมศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุด ทีโอทีได้เดินทางไปดูงาน บริษัท DOCOMO R&D Center ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูความก้าวหน้าด้าน 5G โดยศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์เซ็นเตอร์ R&D ของบริษัท DOCOMO มีหน้าที่ในการทำวิจัยข้อมูลและพัฒนาระบบต่างๆ ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจากเดินที่บริษัทแห่งนี้เป็นระบบเก่าไม่ทันสมัย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งด้านการสื่อสาร ระบบขนส่ง และเป็นที่หนึ่งทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ
โดย DOCOMO เป็นหนึ่งในบริษัทที่จะนำระบบ 5 G มาใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแม้จะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แต่ในเบื้องต้นคาดว่าด้วยเทคโนโลยีนี้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าไปดูพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็สามารถดูผ่านทางระบบที่แสดงภาพเคลื่อนไหวเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง เพราะในระหว่างการเยี่ยมชมศูนย์เซ็นเตอร์ R&D ครั้งนี้ ได้มีการทดลองให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G เมื่อนำมาใช้กับการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา
“การมาดูงานในศูนย์ R&D ของ DOCOMO ในครั้งนี้ ทำให้เรามองเห็นว่าแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโนโลยีไปไกลมาก แต่การพัฒนาระบบใหม่ๆ นั้น ได้ทำการศึกษาจากบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกในทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่จีน แล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นประเทศชั้นนำแต่ก็ไม่ละเลยที่จะศึกษาเทคโนโลยีของประเทศอื่นๆ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ประเทศไทยควรนำแนวทางแบบนี้มาศึกษาและปรับใช้”
ทั้งนี้การให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ DOCOMO R&D Center นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากและหวังว่าข้อมูลที่ได้รับในครั้งนี้ จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และมีหลายสิ่งหลายอย่างน่าจะมีความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยจากการรับฟังข้อมูลเห็นว่า ทีโอทีเดินมาถูกทางแล้ว สามารถพัฒนาดูแลประชาชนได้อย่างดีไม่ได้ล้าหลังอย่างที่คิด
ด้านนายมาซาจิ กล่าวว่า การดำเนินการระบบ 5 G เป็นการพัฒนาที่ใช้งบประมาณสูง DOCOMO จึงได้ปรับเป็นการตั้งศูนย์เซ็นเตอร์ R&D ขึ้นมาเพื่อรองรับระบบ 5 G โดยเฉพาะ ทั้งนี้งบประมาณในการดำเนินการพัฒนาระบบ 5 G มาจากประชาชนที่เป็นลูกค้ามาใช้บริการของบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบ 5 G ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นเพียงการทดลองใช้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 เป็นต้นมา
ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนที่ใช้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย.ปี 2563 โดยหวังว่า บริษัท DOCOMO จะเป็นเจ้าแรกในการนำระบบ 5 G มาใช้ ซึ่งในส่วนของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 นั้นคงต้องรอลุ้นว่าในปีหน้าบริษัทจะได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านใด
เมื่อดูจากภาพรวมแล้ว 5G น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ทำให้ทีโอทีกลับมาเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องฝากให้ประธานบอร์ดอย่าง “นายสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์” ผู้คว่ำหวอดในวงการนี้ได้ประคับประคองอย่างใกล้ชิด เด็ดขาดทางด้านการบริการจัดการกับส่วนที่เฉื่อยชา เพื่อให้ทุกสิ่งที่วาดไว้ประสบความสำเร็จเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมาย