
เทรนด์ไมโคร ประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของนั้นมีอัตราการเติบโตที่ดี ลูกค้ามีการทรานฟอร์มไปสู่คลาวด์มากขึ้น ส่วนในปีหน้าเตรียมทรานฟอร์มภายในบริษัท พัฒนาด้านเครื่องมือและบุคลากร พร้อมจับมือกับพันธมิตร เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดซีเคียวริตี้ขยายตัวในปีหน้า แนะลูกค้าหมั่นประเมินความเสี่ยง และตรวจสอบช่องโหว่ขององค์กร รวมถึงต้องลงทุนกับเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่มีความเหมาะสมกับภัยคุกคามที่ขยายตัวเร็วขึ้น
นางสาวปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของเทรนด์ไมโครประเทศไทยนั้นมีอัตราการเติบโตที่ดี ลูกค้ามีการทรานฟอร์มไปสู่คลาวด์มากขึ้น มีการลงทุนด้านการดูแลทั้งเน็ตเวิร์ค ดาต้าเซ็นเตอร์ และเอนพอยต์ เพิ่มมากขึ้น โดยในปีหน้าเทรนด์ไมโครเตรียมทรานฟอร์มภายในบริษัท การพัฒนาด้านเครื่องมือและบุคลากร รวมไปถึงการเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดซีเคียวริตี้ที่จะมีการเติบโตที่มากขึ้นในปี 2020
ปัจจุบันเทรนด์ไมโครมี Cloud One เป็นซีเคียวริตี้แพลตฟอร์ม ซึ่งประกอบด้วยโซลูชันที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย พร้อมรับมือกับธุรกิจของลูกค้าที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เติบโตมากขึ้นจากระบบคลาวด์ และซัพพลายเชนด้วยความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ ทำให้เพิ่มช่องโหว่ขององค์กรตั้งแต่องค์กรภาคเอกชนไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมให้อ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากภายนอกมากขึ้น
“ในปี 2020 ที่จะมาถึง การโจมตีก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากการคาดการณ์นั้นพบว่า เทคโนโลยีคลาวด์และไอโอที (Internet of Things) เข้ามามีบทบาทและสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรมากขึ้น และเป็นที่นิยมมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการเสี่ยงให้ถูกการโจมตีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นผู้ให้บริการ Managed Service Provider (MSP) ทั้งหลายก็จะตกเป็นเหยื่อโจมตีมากขึ้น รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะเป็นความท้าทายที่สำคัญในการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น”
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะได้เห็นความเสี่ยงของซัพพลายเชนรูปแบบใหม่ เนื่องจากพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลจะเปิดช่องให้อันตรายเข้ามายังเครือข่ายของบริษัทได้ผ่านเครือข่าย Wi-Fi ที่มีความปลอดภัยต่ำ นอกจากนี้ช่องโหว่ในอุปกรณ์ตามบ้านที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตยังถูกใช้เป็นจุดเข้าถึงเครือข่ายบริษัทได้ด้วย
นางสาวปิยธิดา กล่าวว่า การเปลี่ยนโฉมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนี้ ทำให้จำเป็นต้องใช้ระบบป้องกันที่ผสานเทคนิคการรักษาความปลอดภัยจากหลายยุคสมัย เพื่อครอบคลุมทุกลำดับชั้น และมีการเชื่อมต่อผสานการทำงานระหว่างกันในกลไกการรักษาความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น โซลูชันในการป้องกันภัยจะต้องมีความสามารถในการมองเห็นอย่างสมบูรณ์ (Visibility), โซลูชันที่ช่วยในการป้องกันอันตรายและสามารถจำกัดวงความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ, มีระบบตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัยพร้อมตอบสนองได้อย่างทันท่วงที, การรักษาความปลอดภัยระดับลึกถึงเครื่องเอนด์พอยท์ ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์อันตรายที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้เพื่อปกป้องตัวเองในเบื้องต้นเทรนด์ไมโครจึงแนะนำให้องค์กรต่าง ๆ ยกระดับการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการคลาวด์ และ MSP, หมั่นประเมินความเสี่ยง และตรวจสอบช่องโหว่ขององค์กรภายนอกที่ทำงานร่วมกันเป็นประจำ, ลงทุนกับเครื่องมือด้านความปลอดภัยเพื่อสแกนหาช่องโหว่ และมัลแวร์ในองค์ประกอบที่มาจากเธิร์ดปาร์ตี้, พิจารณาเลือกใช้เครื่องมืออย่าง Cloud Security Posture Management (CSPM) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งค่าผิดพลาด, และตรวจสอบนโยบายด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้งานจากบ้าน และพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล