เอคเซนเชอร์ แนะวิธีปรับทิศธุรกิจสร้างโอกาส

เอคเซนเชอร์ แนะวิธีปรับทิศธุรกิจสร้างโอกาส
เอคเซนเชอร์
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย

การดิสทรัปเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เพราะนักวิเคราะห์ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ว่าจะอยู่ในทุกธุรกิจใดก็มีสิทธิที่จะถูกดิสทรัปทั้งสิ้น แต่การจะปรับตัวให้ทันกับโลกเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีการพิจารณาในหลายองค์ประกอบ เพราะถ้าปรับแล้วไม่ดีหรือไม่ได้ไปต่อ การลงทุนก็อาจจะสูญเปล่า

รายงานของเอคเซนเชอร์เรื่อง “Make Your Wise Pivot to the New” ใช้ข้อมูลจากการสำรวจผู้บริหารระดับสูง 1,440 ราย ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรม ใน 12 ประเทศ พบว่า มีกิจการเพียงร้อยละ 6 ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสใหม่หรือลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งเอคเซนเชอร์เรียกว่า wise pivot หรือการปรับทิศอย่างชาญฉลาดเพื่อตอบรับโอกาสใหม่

นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการปรับทิศทางหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ใช่เพราะมีธุรกิจเดิมเป็นฐาน แต่เพราะไปเสริมธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่ง ปรับประสิทธิภาพ ทำให้สามารถปันทรัพยากรที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจใหม่ออกมาได้ กิจการเหล่านั้นกล้าที่จะก้าว ตั้งแต่การลดต้นทุนตามแผนกลยุทธ์ผลักดันให้นวัตกรรมกลายเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ และขายสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่าออกไป เพื่อเปลี่ยนธุรกิจหลักให้เป็นขุมพลังขับเคลื่อนการลงทุนใหม่ ๆ ได้ต่อไป

“จากการทำงานกับลูกค้า ทำให้เราเห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ มีการไตร่ตรองเป็นอย่างดีเกี่ยวกับวิธีที่จะพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร เพื่อปรับธุรกิจหลักและขยับขยายธุรกิจใหม่ไปด้วยกัน บริษัทชั้นแนวหน้าจะเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมเพื่อหาแนวคิดดี ๆ ที่มีศักยภาพจากที่ต่าง ๆ ในองค์กร และนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการสนับสนุนและมีโฟกัสตรงจุดชัดเจน”

ทั้งนี้ปัจจุบันลูกค้าในไทยเริ่มเข้าใจเรื่องของการสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่มากขึ้น แต่บางครั้งยังลืมคิดไปว่าต้องใส่ใจเรื่องของระบบหลังบ้านด้วยเพื่อให้ทุกอย่างเกื้อหนุนกันได้เป็นอย่างดี สำหรับในปีนี้ธุรกิจดาวรุ่งในเมืองไทยที่จะเติบโตได้เป็นอย่างดีคือ ธุรกิจการให้บริการ โลจิสติกส์ รวมไปถึงธุรกิจกลุ่มอื่นที่ทรานฟอร์มไปก่อนคนอื่น แต่การทรานฟอร์มนั้นต้องมองสิ่งที่เรามีแล้วจะต่อยอดไปทางไหนต่อ นำจุดแข็งที่มีเพื่อข้ามไปสู่ธุรกิจอื่น ตัวอย่างเช่นธุรกิจธนาคารที่พยายามทรานฟอร์มไปยังธุรกิจใหม่ที่จะทำให้โต ด้วยการสร้างคนดิจิทัลมากขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรใหม่ที่จะไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ แข่งขันได้

นายนนทวัฒน์ กล่าวว่า การทรานฟอร์มเป็นโอกาสทางธุรกิจในยุคที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนแบบนี้ ส่วนยุทธวิธีการปรับทิศอย่างชาญฉลาดนั้น ต้องอาศัยการลงทุนที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนมีทฺสทาง จังหวะและปริมาณที่เหมาะสม รวมไปถึงต้องเกลี่ยการลงทุนอย่างสมดุลด้วย ทั้งนี้องค์กรแต่ละแห่งเผชิญกับความท้าทายต่างกันไปเมื่อปรับทิศไปสู่ธุรกิจใหม่ รายงานของเอคเซนเชอร์จึงแนะนำปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบสำหรับบริษัทที่ยังไม่ชำนาญเท่า Rotation Master หรือผู้ชำนาญการปรับทิศ

โดยการผลักดันการเติบโตของธุรกิจหลัก ไม่ใช่แค่ลดต้นทุนให้ดีที่สุดเท่านั้น แต่อาจนำระบบอนาลิติกส์เข้ามาใช้ เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าที่มีอยู่ได้ดีขึ้น รวมทั้งนำการตลาดดิจิทัลและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์แต่ละบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ยังต้องเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงสุดและปรับขยายได้มากที่สุด เช่น การดึงคนเก่ง ๆ หรือซื้อสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง

ฟื้นวัฒนธรรมของธุรกิจหลักให้แข็งแกร่ง ด้วยการเสริมศักยภาพใหม่เข้าไป เช่น การดึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามา เพื่อหาโอกาสการใช้บิ๊กดาต้าให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและนำมาใช้ด้วยความรับผิดชอบ รวมไปถึงอาจจะรวมกลุ่มและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อทดสอบแนวคิดเชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จนมีความพร้อมสำหรับการเข้าไปเจาะตลาดก่อน

Related Posts