ส่องดีป้าดันเกษตรกรใช้ ‘โดรน’ แก้ปัญหาการผลิต

ส่องดีป้าดันเกษตรกรใช้ ‘โดรน’ แก้ปัญหาการผลิต
โดรน
Photo : (Facebook) ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ความท้าทายของการทำเกษตรยุคใหม่ ที่นอกเหนือจากเรื่องเงินทุนและสภาพอากาศแล้ว ‘แรงงาน’ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ TheReporterAsia ได้ติดตามเรื่องของการนำโดรนมาใช้แก้ปัญหาด้านการเกษตร ภายใต้ “โครงการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร” จากแนวคิดของการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ หลังจากฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมไร้สารพิษบ้านหนองสงวนพัฒนา อ.เสิงสาง จ.นครรราชสีมา เพื่อติดตามโครงการดังกล่าว

ซึ่งระบุว่า “เกษตรกรในชุมชนได้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 3,000 ไร่ แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในการฉีดพ่นสารน้ำ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว บ่อยครั้งที่พบปัญหาการฉีดสารที่ไม่ทั่วถึงและมีต้นทุนแฝงเกิดขึ้นมากมายจากปัญหาแรงงานดังกล่าว เกษตรกรจึงมีแนวคิดในการนำโดรนเพื่อการเกษตรมาปรับใช้ให้สามารถทดแทนกำลังคนได้ อีกทั้งยังประหยัดน้ำได้มากกว่า 80% และลดต้นทุนค่าปัจจัยการผลิตลงกว่า 30 -50% นับว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาพร้อมเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 20% ต่อไร่”

จะสังเกตได้ว่าจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการแก้ไขปัญหาแรงงงาน ทำให้เกษตรกรจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อยื่นเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ หรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community)จนนำไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง ที่คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

โดรน
Photo : (Facebook) ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

เมื่อหันกลับมาที่ภาพรวมของโครงการ เราพบว่าโครงการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร ที่เข้ามาขอรับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของดีป้านั้น มีทั้งหมด 3 โครงการ ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสระแก้ว และยังมีการพัฒนาโดรนเพื่อการท่องเที่ยวอีก 1 โครงการที่เกาะลิบงในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการบินสำรวจด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสนับสนุนของดีป้า ก็มีเงื่อนไขเพื่อการสนับสนุนองค์ความรู้เป็นหลัก การสนับสนุนเรื่องของครุภัณฑ์จึงทำได้เพียงการสนับสนุนได้ราว 50% และชุมชนผู้ทำโครงการต้องมีความพร้อมในการสมทบเองอีก 50%เช่นกัน

ขณะที่การเข้าร่วมโครงการมีขั้นตอนการเข้าร่วมที่รัดกุม เพื่อวัดความสัมฤทธิ์ผลเมื่อจบโครงการแล้วจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด โดยผู้สนใจโครงการจะต้องเสนอแผนการบริหารจัดการในระยะยาวที่ชัดเจน สามารถวัดผลและก่อให้เกิดรายได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด จนเมื่อเอกสารผ่านการพิจารณาในขั้นต้น ผู้เสนอจะต้องเข้ามานำเสนอแนวคิดต่อคณะกรรมการด้วยตนเองให้คณะกรรมการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีขั้นตอนการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการจากคณะกรรมอีก 1 ครั้ง และถึงนำเสนอต่อบอร์ดกรรมการใหญ่ของโครงการ เพื่ออนุมัติเงินสนับสนุนโครงการต่อไป

ในส่วนของแนวทางของการพัฒนาโครงการโดรนเพื่อการเกษตรนั้น จะผสานความร่วมมือของ 3 ส่วนที่สำคัญ 1. ดีป้าเองที่สนับสนุนด้านเงินทุนและเชื่อมโยงองค์ความรู้ให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างราบรื่น 2. ผู้ให้บริการอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองจากดีป้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของการถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจในอุปกรณ์ที่จำหน่ายอย่างถ่องแท้ และ3 ตัวชุมชนเองจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนสมทบและแนวทางการพัฒนาต่อยอดไปสู่เป้าหมายโครงการได้อย่างแท้จริง

โดยในเบื้องต้นโครงการดังกล่าว ชาวบ้านจะได้รับการอบรมความรู้เพื่อให้สามารถบังคับโดรนได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อนำไปสอบใบอนุญาตการบินให้ได้อย่างน้อย 2 คน อีกทั้งยังต้องปฎิบัติตามกฏหมายการบิน จากพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 อย่างเคร่งครัด และเรียนรู้การซ่อมบำรุง เพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และท้ายที่สุดโครงการจะต้องต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ ทั้งการให้บริการภายในชุมชนและการให้บริการพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำเงินที่ได้มาซ่อมบำรุงหรือซื้อโดรนลำใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้งบประมาณในปี 2563 ทราบว่าเริ่มดำเนินการเปิดรับโครงการ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ หรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community)แล้วในบางพื้นที่ เช่นที่จังหวัดขอนแก่น โดยการเปิดรับจากแตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่เปิดรับเฉพาะส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งปีนี้จะทำการเปิดรับทั้งส่วนกลางและสาขา เพื่อกระจายตัวการรับโครงการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงต่อไป ขณะที่งบประมาณที่จะสนับสนุนสูงสุดจะอยู่ที่ราว 2 แสน/โครงการ ลดลงจากปีที่แล้วที่เพดานสนับสนุนสูงสุดจะอยู่ที่ 5 แสนบาท โดยจะเปิดรับได้ไม่เกิน 100 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่เปิดรับได้เพียง 38 โครงการเท่านั้น

โดรน
Photo : (Facebook) ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ซึ่งการดำเนินงานในปีแรก 2562 แม้ว่าโครงการทั้งหมด 38 โครงการจะยังไม่แล้วเสร็จ แต่ผลลัพธ์ในส่วนประสิทธิภาพการทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นนับได้ว่าน่าประทับใจ 100% ในขณะที่ด้านการบริหารจัดการระยะยาวจะยังต้องรอระยะเวลาการดำเนินงานต่อไป เนื่องจากตามแผนแล้วต้องสร้างรายได้เพื่อดูแลโดรนนั่นเอง

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า แนวทางการส่งเสริมของดีป้านั้น ไม่ไม่เพียงการโยนเครื่องมือให้เกษตรได้ใช้ไปงั้นๆเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมที่ใส่ใจในรายละเอียด โดยใช้ขั้นตอนที่ไม่ต่างจากการปั้นสตาร์ทอัพแต่อย่างใด นับตั้งแต่การเสนอแนวความคิด เสนอแผน การที่เกษตรกรเองจะต้องเข้ามานำเสนอให้จบและเข้าใจแผนภายใน 5 นาทีต่อหน้ากรรมการ การสร้างองค์ความรู้แบบพี่เลี้ยงที่ประคับประคองให้เกิดผลลัพธ์ 100% และท้ายที่สุดยังส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาตนเองที่ยั่งยืนของโครงการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ซึ่งเชื่อแน่ว่าเมื่อโครงการหนึ่งสำเร็จ จะเริ่มกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนข้างเคียง จนนำไปสู่การพัฒนาบริการ อาทิเช่น บริการบินโดรนพ่นสารน้ำ ยาบำรุงพืช ที่ก่อให้เกิดเป็นรายได้เพิ่มเข้ากลุ่มชุมชนได้อีกช่องทางหนึ่งต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

Related Posts