จับตาการประมูลความถี่ เด้งซีอีโอสังเวย 5G?

จับตาการประมูลความถี่ เด้งซีอีโอสังเวย 5G?
5G
สำนักงานใหญ่ ดีแทค ประเทศไทย ภาพโดย telenor.com

เรื่องราวของการเปลี่ยนตัวแม่ทัพกระทันหันของดีแทค ในช่วงเวลาที่การยื่นซองประมูลคลื่นใกล้เข้ามา ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณ​บางอย่างที่บอกเล่าเจตนา​ของบอร์ดบริหารเทเลนอร์ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการคานอำนาจกันระหว่างผู้บริหารและบอร์ดใหญ่จากนอร์เวย์​เรื่องการเข้าร่วมประมูล 5G ด้วย ทำให้เรื่องราวของการเด้งฟ้าผ่า น่าสนใจยิ่งขึ้น TheReporterAsia จะขอไล่เรียงความน่าสงสัยต่างๆเข้ามาในไทม์ไลน์เดียวกัน

เริ่มต้นด้วยวันที่ 8 ม.ค. 2563 เวลา 9.30 น. ดีแทค ในนามของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีทีเอ็น เข้ารับซองการประมูลคลื่นความถี่ โทรคมนาคมย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz เป็นรายที่ 2 และเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่าจะนำเรื่องไปศึกษาและส่งเข้าบอร์ดเพื่อพิจารณาการเข้าร่วมประมูลต่อไป

ซึ่งการเข้ารับซองก็ยังเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ได้สะท้อนความชัดเจนในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการประมูลแต่อย่างใด แต่หากมองย้อนไปในความเชี่ยงชาญของเทเลนอร์ในต่างประเทศที่เริ่มทดสอบโครงข่าย 5G นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในเอเชีย เทเลนอร์ในนามของดีแทคประเทศไทย​ก็ได้เริ่มทดสอบโครงข่าย 5G ในกรุงเทพ บนย่านความถี่ 28GHz แม้ว่าก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกันยายน เทเลนอร์ได้เปิดตัวอุปกรณ์​สถานีฐานบนความถี่ 3.6 GHz ซึ่งใช้อุปกรณ์​จากอีริคสัน พร้อมๆกับโครงการความร่วมมือในสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า 5G-VINNI ที่เลือกใช้ความถี่ 26GHz ด้วยอุปกรณ์​จากหัวเว่ย

และเทเลนอร์​มาเลเซีย​ในนามของ Digi ก็ได้จับมือกับ Cyberview เพิ่อเปิดพื้นที่ OpenLab ในการสร้างระบบนิเวศน์​ของการพัฒนาต้นแบบการใช้งาน 5G ในรูปแบบต่างๆให้กับภาคธุรกิจและนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นได้ทดสอบ บนความถี่ 3.5GHz ราว 100MHz

แน่นอนว่าความเชี่ยวความเชี่ยวชาญของเท​เลนอร์​ในการทำ 5G จึงมีพื้นฐานในหลากหลายความถี่ แต่กระนั้นจำนวนของการพัฒนาอุปกรณ์​กลับอยู่บนพื้นฐานของความถี่ 3.5GHz และเมื่อลองพิจารณาอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก​ที่รองรับย่านความถี่ก็มีการแยกย่านความถี่กันชัดเจนระหว่างค่ายยุโรปและจีนอย่างที่รู้กัน

และเมื่อมองที่ฟากของเครื่องลูกข่าย(สมาร์ทโฟน)​ ผู้ผลิตมือถือที่ออกรุ่นรองรับ 5G ในปัจจุบัน ล้วนรองรับความถี่ 3500MHz ของเทคโนโลยี 5G ทั้งสิ้น ทำให้เชื่อได้ว่าอนาคตโครงข่ายที่รองรับความถี่เช่นไรจะได้ไปต่อ เพราะเชื่อว่าหากทำโครงข่ายบนความถี่ที่ไม่รองรับเครื่องสมาร์ทที่เป็น 5G แท้ๆได้ การเปลี่ยนค่ายได้ง่ายๆในยุคปัจจุบันก็จะทำให้โครงข่ายดังกล่าวห่างไกลจุดคุ้มทุนไปอีกนาน

มองกลับมาที่ส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทย ที่นอกจากจะมีการประมูลที่เพิ่งรับซองกันไปหมาดๆและจะเริ่มการประมูลจริงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์​นี้ ราว 4 คลื่น ยังไม่มีคลื่นความถี่ 3500MHz ที่เครื่องลูกข่ายส่วนใหญ่รองรับ แม้ว่าคลื่นทั้ง 4 จะสามารถนำมาขยายช่องสัญญาณและทำโครงข่าย 5G ในแบบ NSA sub6 แต่ก็ถือว่าเป็นโครงข่าย 5G แบบไม่แท้ เพราะแม้ว่าการปล่อยสัญญาณให้เครื่องลูกข่ายเป็นแบบ 5G แต่การเชื่อมสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เครือข่ายยังเป็นเพียงการเกี่ยวสัญญาณ 4G เดิมเข้ามาใช้ด้วย ทำให้บางช่วงเกิดคอขวดด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีเอง

เรื่องทางเทคนิคก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่อเค้าว่าน่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างซีอีโอและบอร์ดบริหารจากฝั่งเทเลนอร์ได้ และยิ่งผสมรวมกับการทวิตข้อความของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) @TakornNBTC ว่า “ผมเรียนประชาชนทุกท่านทราบครับ การเปลี่ยนCEOดีแทคในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับแผนการประมูล5Gในวันที่16กุมภาพันธ์นี้แน่นอนครับ”

พร้อมข้อความที่กล่าวถึงคุณงามความดีของนางอเล็กซานดรา ไรช์ อดีตซีอีโอดีแทคที่โดนเด้งฟ้าผ่า ซึ่งระบุว่า “ตั้งแต่มีCEOของดีแทคมาตลอดระยะเวลา9ปีที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช ผมรู้สึกว่าคุณอเล็กซานดร้าเป็นCEOของดีแทคที่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทยได้ดีมาก และทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ดีเช่นกัน ผมขอแสดงความเสียใจกับคุณอเล็กซานดร้าและขอให้ประสบความสำเร็จตลอดไป”

ซึ่งแม้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ถึงสาเหตุของการเด้งฟ้าผ่า แต่ก็มีเค้าโครงของความเกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องยื่นซองประมูลในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะเมื่อประเด็นดังกล่าวสอดรับกับการที่ กสทช.อาจจะเปิดการประมูลความถี่ 3500MHz อีกครั้งในช่วงปลายปี ก็ทำให้เราเชื่อได้ว่าเทเลนอร์อาจจะต้องการรอครอบครองความถี่ดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็อาจจะต้องรอดูการประมูลรอบแรกว่าท่าทีของดีแทคจะเป็นอย่างไร เมื่อเปลี่ยนแม่ทัพใหม่เข้ามา

แน่นอนว่าเรื่องของการเด้งฟ้าผ่าไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กรดีแทคเองเท่านั้น แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังถูกกล่าวขานในกลุ่มผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย และท้ายที่สุดก็จะสะท้อนออกมาเป็นความเชื่อมั่นที่จะส่งผลต่อธุรกิจอย่างแน่นอน

Related Posts