‘ช้างป่า i lert u’ พร้อมก้าวสู่บิ๊กดาต้าควบคุมช้างป่า

‘ช้างป่า  i lert u’ พร้อมก้าวสู่บิ๊กดาต้าควบคุมช้างป่า

ช้างป่า

ปัญหาคนกับช้างป่ากลายเป็นเรื่องที่ต้องหาวิธีการป้องกันแบบไม่จบไม่สิ้น เช่นเดียวกับ ประชาชนในพื้นที่ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ที่ต้องประสบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำอันตรายอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าเขา มีแนวเขตติดต่อกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของช้างป่าจำนวนมาก

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีโขลงช้างป่าออกหากินนอกเขตป่าและรุกเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรถูกช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรมากกว่า 200 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 7 แสนบาท และก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างมาอย่างต่อเนื่อง

แอปพลิเคชัน “ช้างป่า i lert u” จึงเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่าง ดีป้ากับสภาองค์กรชุมชนตำบลพวา และ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด (ผู้ผลิตแอปพลิเคชัน i lert U และ Claim Di) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนภัยจากช้างป่าแก่อาสาชุดเฝ้าระวังช้างป่า ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างฉับไวและทันเวลาก่อนเกิดการเผชิญหน้า ซึ่งแอปจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการวางแผนป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง

นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชน จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแจ้งเตือนภัยช้างป่า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community)

“การบุกรุกของช้างส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลพวาเป็นอย่างมาก โดยประชาชนที่ถูกช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรมีรายได้ลดลง บางส่วนไม่สามารถออกจากบ้านไปกรีดยางพาราในตอนกลางคืนได้ ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาของในการพัฒนา ช้างป่า i lert u ด้วยแอปนี้จะให้ชาวบ้านช่วยเก็บข้อมูลของจุดที่เจอช้าง ทำให้เราสามารถนำข้อมูลให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ทำแผนเชิงรุกได้ ด้วยข้อมูลอย่างเช่น ฤดูกาลนี้ จุดนี้ตรงนี้ เวลานี้ มีช้างเข้ามากี่ตัว เก็บข้อมูลทุกช่วงเวลาในแต่ละเดือน ตลอดทั้งปี เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ว่าจะผลักดันช้างอย่างไร เป็นแผนระยะยาว”

ช้างป่า

นายวาฤทธิ์ ศิริพิทยาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน กลุ่มสังคมและกำลังคน ดีป้ากล่าวว่า การสนับสนุนแอปนี้เป็นเรื่องของการแจ้งเตือนในส่วนที่ช้างเข้ามา เราไม่ต้องการทำร้ายเขา แจ้งว่าช้างเข้ามาในชุมชนและเตือนไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาป้องกันในพื้นที่ ไม่ได้เป็นการไล่ แต่เป็นการไม่ให้เข้ามารุกล้ำ เพราะช้างเมื่อเห็นคนจำนวนมากก็จะกลัว สำหรับประชาชนถ้าใช้ในวงกว้างเราจะได้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ว่าเข้าจุดนี้กี่ครั้ง ความถี่เท่าไร และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าทำไมช้างต้องเข้าที่นี่ ช่วงเวลานี้ เข้ามากี่ตัว จากนั้นจะนำมารวมเป็นเวลาทั้งปี และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำการผลักดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“การเก็บข้อมูลตลอดทั้งปีจะนำไปวิเคราะห์ เพื่อเตรียมตัวป้องกันการบุกรุก อย่างเช่นการสร้างโป่งน้ำร้อน แหล่งอาหารเพิ่มเติม ให้กับเส้นทางเดินของช้าง ทำดักไว้ก่อนเพื่อให้เขามีแหล่งอาหาร จะได้ไม่เข้ามากินในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการใช้งานแอปพลิเคชันมาระยะหนึ่งแล้วกับเจ้าหน้าที่ และปลายปีที่ผ่านมาได้ทำการอบรมอาสาสมัครไปแล้ว 150 คน นับจากนี้จะให้อาสาสมัครไปกระจายความรู้ต่อไป ขยายไปถึงตัวผู้นำชุมชนในระดับเทศบาลเพื่อช่วยให้ใช้ระบบนี้ขยายไปถึงประชาชนได้กว้างมากขึ้น”

นายวาฤทธิ์ กล่าวว่า ระยะต่อไปเทศบาลจะทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทำเป็นสติ๊กเกอร์ส่งไปทุกครัวเรือน และสามารถสแกนและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและนำมาใช้ได้เลย มีประโยชน์ด้านข้อมูล การแจ้งเตือนรับข่าวสาร ขณะนี้ทุกคนมีโทรศัพท์อยู่แล้ว จากเดิมไม่รู้จะแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างไร ไม่มีเบอร์เจ้าหน้าที่ โดยตอนกลางวันจะให้เจ้าหน้าที่เป็นแอดมิน ส่วนตอนกลางคืนจะมอบหน้าที่ให้ยามรักษาความปลอดภัย ให้เขาเป็นแอดมินแจ้งและประสานงานต่อ เมื่อทั้งหมดประสานกันก็จะได้มีการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ และได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

แอปพลิชัน “ช้างป่า i lert u” สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้งในระบบ Android และ iOS ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน

Related Posts