วันนี้ TheReporterAsia ชวนคุณมาแกะรอยยุคใหม่ของการตลาดดิจิทัล ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มจุดพลุเข้าสู่ ‘ยุคค้นพบ’ จากผลการวิจัยล่าสุดภายใต้หัวข้อ ‘Riding the Digital Wave: Southeast Asia’s Discovery Generation’ ที่ Facebook ร่วมมือกับเบน แอนด์ คอมพานี ออกสำรวจคนในภูมิภาคนี้ เพื่อหาคำตอบของพฤติกรรม ‘ดิจิทัลคอนซูเมอร์’ ที่มีอัตราเติบโตขึ้นต่อเนื่องกว่า 3 เท่านับตั้งปี 2015-2018 จาก 90 ล้านคนขยับขึ้นเป็น 250 ล้านคน และคาดว่าจะสูงถึง 310 ล้านคนในราวปี 2025
จอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิยามของ ดิจิทัลคอนซูเมอร์ นับจากการเป็นผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และขยายระดับอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เรากำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก การซื้อขายสินค้าไม่ได้ถูกจำกัดแค่ที่ร้านค้าอีกต่อไป ผู้คนยังมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ซึ่งผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นการออกเส้นทางที่สำคัญในการค้นพบสินค้าของดิจิทัลคอนซูเมอร์ ทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจได้จากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน และพร้อมที่จะเปิดกว้างรับแบรนด์ใหม่เข้ามาอยู่เสมอ
และนั่นก็ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ที่แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักแล้วก็จะต้องทำให้ดิจิทัลคอนซูเมอร์ ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ พร้อมๆกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ให้มีความรู้สึกใหม่ๆอยู่เสมอเช่นกัน ส่วนแบรนด์ใหม่ๆ ก็จะเริ่มมีโอกาสเป็นที่พบเห็นของดิจิทัลคอนซูเมอร์มากขึ้น ซึ่งแบรนด์ใหม่ๆเหล่านี้ก็จะต้องสร้างตัวตนของตนเองให้ชัดเจน มีจุดขายที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่แน่วแน่ เพื่อดึงดูดให้ดิจิทัลคอนซูเมอร์ตอบสนอง

ด้านดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์ บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี กล่าวว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ซึ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดการซื้อขายออนไลน์ในระดับภูมิภาค โดยประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น แบรนด์ต่างๆจึงจำเป็นต้องจับความสนใจและแนวคิดของผู้บริโภคให้ทัน เพื่อมาประยุกต์ให้เข้ากับแผนการตลาดและการขายที่จะสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แบรนด์ต่างๆ ยังจำเป็นต้องคิดค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การซื้อสินค้าในเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิทัล
เริ่มต้น ‘ยุคค้นพบ’ เทรนด์ใหม่ของดิจิทัลคอนซูเมอร์
ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดกว้างรับแบรนด์ใหม่ๆ สูงสุดกว่า 75% ในประเทศสิงคโปร์ ขณะที่ประเทศไทยพบการเปิดรับแบรนด์ใหม่ราว 65% และพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของไทยก็เติบโตกว่า 5 เท่า คิดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียตนามที่เป็อันดับ 1 ที่เติบโตกว่า 6%
พฤติกรรมการค้นพบสิ่งใหม่ๆ นับเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นที่สุด โดย 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกล่าวว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าต้องการจะซื้ออะไรขณะไล่ดูสินค้าออนไลน์ และมากกว่า 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขารู้จักผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ๆ จากช่องทางออนไลน์ และบรรดาผู้บริโภคในไทยยังชื่นชอบการซื้อของจากหลากหลายช่องทาง ซึ่งราว 90% ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าพวกเขามีการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และราคาหน้าร้านก่อนตัดสินใจซื้อ
ผลสำรวจผู้บริโภคชาวไทยเกือบ 60% ได้ลองซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลัก 3 ประการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ประกอบด้วย ยอดรีวิวสินค้าในเชิงบวกจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ ราคาหรือโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ และความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า 61% ของผู้บริโภคชาวไทยไม่ต้องการรอช่วงลดราคาหรือโปรโมชั่นเพื่อจะซื้อสินค้า และจะตัดสินใจซื้อเมื่อต้องการซื้อในทันที
โอกาสที่เปิดกว้างรับแบรนด์ใหม่ๆของ ดิจิทัลคอนซูเมอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนความไม่แน่นอนของความจงรักษ์ภักดีต่อตราสินค้าที่ลดต่ำลง และนั่นก็ทำให้แบรนด์เริ่มต้องทำให้ตนเองเป็นที่ค้นพบมากขึ้น เพื่ออยู่ในสายตาของดิจิทัลคอนซูเมอร์เหล่านี้ให้ได้อย่างมีกลยุทธ์
จอห์น กล่าวว่า เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้ามา แต่ก็มีคำถามมานานว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นจริง และทำไมมันยังไม่มาสักที ซึ่งการวิจัยล่าสุด ชี้ชัดว่า ‘มันมาแล้ว’ และคลื่นเหล่านี้จะพาเราไปสู่โอกาสมากมาย ซึ่งคนไทยเรามีความพร้อมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และความพร้อมที่จะเข้าถึงทรานส์เซคชั่นของการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายภาครัฐ ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0
พลังของเฟซบุ๊กคือการเข้าถึงผู้คน และผู้คนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆผ่านการค้นพบในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจของสินค้า และเรายังเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะบุคคล ที่สามารถล่วงรู้พฤติกรรมและความต้องการได้อย่างแท้จริง ส่งแมสเซจผ่านระบบ ไดนามิค แอด ด้วยการจับคู่ของระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ที่จะทำให้แบรนด์ของสินค้าสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตามความต้องการ อีกทั้งเรายังสามารถระบุขอบเขตสถานที่เพื่อสร้างพื้นที่เฉพาะของการจำหน่ายสินค้า แบบจำกัดพื้นที่ได้ตามต้องการ

ระบบของเฟซบุ๊ก สามารถช่วยเสริมประสบการณ์ดิจิทัลให้กับชาวไทยได้ค้นพบสิ่งที่รอคอยได้ตลอดเวลา ผ่านการจับต้องที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ภายในโลกของออนไลน์ และนั่นก็ทำให้แบรนด์สามารถสร้างประสบการณ์ที่ให้กับดิจิทัลคอนซูเมอร์ได้ตามต้องการ
ขณะที่ความท้าทายของเฟซบุ๊กคือการสร้างความสะดวก และระบบที่แม่นยำในการทำให้ดิจิทัลคอนซูเมอร์สามารถเข้าถึงแบรนด์ อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกจากเครื่องมือที่จะช่วยให้แบรนด์ทั้งเก่าและใหม่ ได้ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสามารถเดินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อส่งแมสเซจสู่กลุ่มเป้าหมายได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว วิธีการสื่อสารของแบรนด์ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ดิจิทัลคอนซูเมอร์สนใจแบรนด์และกลายเป็นลูกค้าต่อไปในอนาคต