ใครๆ ก็เป็นสื่อได้จริงหรือ !!?!!

ใครๆ ก็เป็นสื่อได้จริงหรือ !!?!!
สื่อ
ภาพโดย Alexas_Fotos จาก Pixabay

ความท้าทายของโครงสร้างสื่อสารมวลชน เริ่มถูกท้าทายนับตั้งแต่มีเว็บไซต์ขึ้นมาบนโลกใบนี้ ความท้าทายเหล่านั้นเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆและสวนทางกับ แรงศรัทธาของมวลชนต่อระบบสื่อสารมวลชน จนวันนี้โลกออนไลน์ได้พัฒนาเข้าสู่ช่วงของสังคมออนไลน์ที่ทุกคนสามารถสื่อสารถึงผู้คนหรือกลุ่มคนได้ทั่วทุกมุมโลกจากแพลตฟอร์มที่มี จนเริ่มมีแนวคิดว่า ‘ใครๆก็เป็นสื่อได้’ แต่แล้วจริงหรือที่ใครๆก็เป็นสื่อได้?

บทบาทของสื่อสารมวลชนในอดีตที่ผ่านมา คือการเป็นผู้ส่งสาร ไขข้อข้องใจ ตลอดจนส่งต่อความรู้ในเรื่องราวและความเป็นไปของโลกใบนี้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมืด มุมสว่าง สื่อมวลชนจะเข้าตรวจสอบเรื่องราวและนำเสนอในแง่มุมตามกรอบจริยธรรมที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่า การเข้าถึงแหล่งข่าว รูปแบบนำเสนอ ตลอดจนระดับจริยธรรมของสื่อวัดได้จากผลงานของการนำเสนอ ที่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบมาแล้วมากมายผ่านระบบกองบรรณาธิการที่มีบรรณาธิการอาวุโสหลายท่านทำการตรวจสอบความถูกต้อง

บ่อยครั้งที่เราเห็นอิทธิพลของสื่อสามารถเข้าไปกำหนดความเป็นไปของการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการเมืองบริหารประเทศ แต่นั่นไม่ใช่เพราะการชี้นำหรือกำหนดกฏเกณฑ์เพื่อบังคับให้ใครเดินตามแนวคิดดังกล่าวโดยสื่อมวลชนเอง ข้อเท็จจริงกลับเป็นการตีแผ่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จนผู้ก่อเหตุเกิดอาการหวาดกลัว และยุติการกระทำก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายและส่งผลเสียหายที่มากกว่าเดิม

ในช่วงเวลาหนึ่งสถานะของสื่อ มักถูกชี้นำให้เลือกข้างทางการเมือง หรือเลือกข้างผู้ผิด/หรือผู้ถูก แน่นอนว่าความเป็นจริงแล้ว จริยธรรมของสื่อ จะถูกระบุชัดเจนถึงการนำเสนอที่ต้องครบถ้วนทุกมิติ ทั้งผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ และผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในการนำเสนอ หรือแม้ในส่วนของประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด ทั้งในเรื่องศาสนาและความเชื่อต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง

นิเวศน์สื่อที่อ่อนแอลง

สื่อสารมวลชน นับว่าเป็นอาชีพแรกๆที่ถูกกลืนกินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองในมุมของการบริหารสื่อที่มีประสิทธิภาพแล้ว นอกจากสำนักข่าวนั้นๆจะต้องมีเงินจ้างนักข่าวมืออาชีพแล้ว กระบวนการและขั้นตอนการเข้าพื้นที่ ตลอดจนรูปแบบการนำเสนอ ต่างก็เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนทุกสำนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นยังเป็นเครื่องวัดคุณภาพของสำนักข่าว ที่สามารถช่วยให้นักข่าวในพื้นที่ไม่นำความเป็นกระบอกเสียงไปแปลเปลี่ยนเป็นรายได้เข้ากระเป๋าเพื่อยังชีพอีกด้วย

นับตั้งแต่ปี 2557 เม็ดเงินโฆษณาที่เข้าสู่ระบบสื่อมวลชนเริ่มลดน้อยลง ไม่นานนักก็เริ่มมีสำนักพิมพ์นิตยสารปิดตัวลง การนำเสนอด้วยรูปแบบการพิมพ์ไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้อีกต่อ และนักวิเคราะห์หลายแห่งก็ระบุตรงกันว่า สื่อสิ่งพิมพ์จะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะที่สื่อกระแสหลักที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ต่างก็ระส่ำและพยายามปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้ได้ แต่กระนั้นความซับซ้อนของโลกดิจิทัลก็มีเงื่อนไขที่ความนิยมเป็นหลัก ซึ่งสำนักข่าวใหญ่ยังคงติดปัญหาเรื่องบุคคลากรทางการข่าวที่ไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานสู่ดิจิทัลสักเท่าไหร่

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้าเป้า สิ่งพิมพ์ไม่ได้รับความนิยม ทำให้รายได้ของสื่อเริ่มตกลงอย่างเห็นได้ชัด บางแห่งมีการจ่ายเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว หรือพอประทังการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนให้รอดเท่านั้น และบางแห่งจำเป็นต้องเลย์ออฟคนข่าวมือดีออก เพื่อเป็นการลดต้นทุน ทำให้สื่อเริ่มอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด จนบางครั้งเราจะเห็นการเปลี่ยนมือเจ้าของสื่อ และเริ่มเข้าสู่การบริหารโดยนายทุนเป็นหลักมากขึ้น ทำให้ระบบกองบรรณาธิการที่เข้มแข็งเริ่มอ่อนแอลง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่กลุ่มสำนักข่าวหรือสำนักพิมพ์เท่านั้น กลุ่มสมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า แรงสนับสนุนของเอกชนเปลี่ยนไป เริ่มไม่ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งผลให้การจัดกิจกรรมเริ่มลดน้อยถอยลง และนั่นก็ทำให้ภูมิคุ้มกันของบรรดาสื่อมวลชนน้อยใหญ่ ต่างก็ลดน้อยลงไปด้วย เนื่องจากขาดการอบรมและส่งเสริมแนวทางการประกอบอาชีพจากองค์กรต่างๆนั่นเอง

ความท้าทายดังกล่าวส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สื่อมวลชนถูกนำไปเทียบเคียงกับสื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปิดเว็บไซต์และตั้งตัวเป็นผู้รายงานหรือส่งสารที่คิดว่าเหมาะสมเสียเอง แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบของการนำเสนอดังกล่าว ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมตลอดจนแนวทางการนำเสนอของสถานะสื่อมวลชน เนื่องจากสื่อสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ เริ่มต้นการนำเสนอจากความนิยมบนโลกออนไลน์ เพื่อตอบสนองเรทติ้งการเข้าชม สู่การสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มต่างๆที่เม็ดเงินโฆษณาไหลไปอยู่

ความอ่อนแอของสื่อมวลชน เริ่มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อระบบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และส่งผลให้บางสถาบันการศึกษาปิดแผนกหรือคณะ ที่ทำการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนลงอย่างน่าเสียดาย ทำให้สื่อมวลชนรุ่นใหม่ขาดทักษะทางจริยะธรรมของการนำเสนอที่เหมาะสมตามแบบที่ควรจะเป็น ในขณะที่สื่อบางสำนักที่เริ่มปรับตัวได้ เมื่อต้องการบุคคลากรก็เรียกหาสื่อมวลชนรุ่นใหม่เหล่านี้ เนื่องจากมีอัตราค่าจ้างเริ่มต้นที่ต่ำกว่าผู้อาวุโสทางการรายงานข่าว และยังเป็นบุคคลากรที่เข้าใจโลกดิจิทัลได้อย่างถ่องแท้ เนื่องจากเติบโตมาพร้อมกัน

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อมวลชน ตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก หากจะขยับสร้างการอบรมที่มีคุณภาพ ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกสำนักข่าว ในสถานะการณ์สื่อเกิดใหม่ผุดขึ้นราวดอกเห็น ขณะที่สำนักข่าวเองก็ต้องจำใจจ้างเด็กใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานการรายงานข่าวเข้ามา เนื่องจากความขาดแคลนบุคคลกรในภาวะต้นทุนที่จำกัด กระนั้นจะให้ส่งเด็กเข้าอบรมด้านจริยธรรมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆก็เป็นเรื่องที่ใคร่จะกินเวลาทำงานเป็นอย่างมาก

จากปัจจัยหลายๆด้าน ส่งผลให้ความอ่อนแอของสื่อมวลชนเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามที่เราเห็นและเข้าใจแบบเผินๆ ซึ่งเมื่อย้อนกลับขึ้นไปอ่านด้านบน จะเห็นว่าการมีสื่อที่เข้มแข็งจะช่วยให้มวลชนที่อ่านสามารถเข้าใจบริบทความเป็นไปตามข้อเท็จจริงได้อย่างเข้มแข็งจากหลากหลายแง่มุม แต่เมื่อไม่มีการรับรู้ดังกล่าว ข่าวสารก็จะสะเปะสะปะไร้แก่นสารที่ผู้รับจะสามารถคัดกรองได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบางสำนักข่าว พยายามเข้ามาช่วยคัดกรองข่าวจริง ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์แล้วก็ตาม

เรารู้ดีว่าข่าวปลอมเริ่มแพร่ระบาดบนโลกออนไลน์ และยากต่อการควบคุม เนื่องจากระบบแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้มีโอกาสคัดกรองด้วยตนเอง แต่เป็นการนำเสนอด้วยรูปแบบการป้อนให้อ่านตามที่ผู้ครอบครองระบบต้องการ และทำได้เพียงเลือกที่จะอ่านหรือไม่เท่านั้น ซึ่งก็สะท้อนว่าวันนี้กลุ่มนายทุนเริ่มมีบทบาทและอำนาจในการควบคุมการสื่อสารข่าวสารได้อย่างเบร็ดเสร็จ แม้ว่าเนื้อหาของการนำเสนอจะอยู่ที่ใครก็ได้ที่มีบัญชีในการโพสต์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะแพร่หลายได้ตามใจปรารถนา

สื่อใหม่กับความเป็นดิจิทัล

วันนี้สื่อสารมวลชนแบบคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจกับความรวดเร็วในการนำเสนอ โดยที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของระบบกองบรรณาธิการอย่างเช่นเคย ด้วยความต้องการช่วงชิงพื้นที่ออนไลน์ ที่จัดอันดับการเป็นเจ้าของต้นฉบับจากระยะเวลาการนำเข้าสู่ระบบ และความนิยมที่คนเรียกดูมากที่สุด หรือที่บางแห่งเรียกว่า ‘การปั่นยอดวิว’ เพื่อนำยอดเหล่านั้นไปให้เหล่านักการตลาดดู และเสนอขายความคุ้มค่า โดยที่ไม่เคยมองที่เนื้อหาของการนำเสนอเลยว่ามีความถูกต้อง มีจริยธรรม และคุณภาพของเนื้อหาแต่อย่างใด

หากย้อนไปในวัยที่ผู้เขียนเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการข่าว เรามักถูกย้อนถามกลับมาเสมอว่า ‘ผู้อ่านจะได้อะไรจากข่าวของคุณ?’ ทำให้ทุกครั้งที่เรานำเสนอจะคำนึงถึงประโยชน์หรือความรู้ที่ผู้อ่านจะได้รับเป็นอย่างแรก ซึ่งแน่นอนว่าข่าวเช่นนั้น ไม่ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน แนวทางการทำงานของการทำให้ติดอันดับบนโลกออนไลน์คือการเกาะกระแสความนิยม ซึ่งสวนทางกับการทำงานรูปแบบกองบรรณาธิการแบบเดิมที่ยังคงมองหาประโยชน์จากเนื้อหาข่าวสู่ผู้อ่านเป็นหลัก จนถูกมองว่าล้าหลังในการนำเสนอ

การสวนทางดังกล่าวของวิธีการนำเสนอข่าว ทำให้เกิดยุค ‘คลิกเบต’ หรือการสร้างหัวข้อข่าวให้น่าสนใจเกินจริงเพื่อหลอกล่อให้คนกดลิงค์เข้าไปอ่านเพื่อสร้างยอดวิว จนเว็บไซต์บางแห่งติดอันดับขึ้นมา แม้ว่าเมื่อเข้าไปอ่านแล้วจะไม่พบเนื้อหาหรือข้อความที่คาดหวังก็ตาม แต่เว็บไซต์เหล่านั้นก็ยังขายโฆษณาได้ให้กับนักการตลาด

วันนี้เราจะรู้กันดีว่าเด็กรุ่นใหม่เริ่มกระโดดเข้ามาเป็นสื่อสารมวลชนขนาดเล็กกันมากขึ้น ความคิดพื้นฐานของคนเหล่านี้คือความต้องการสร้างยอดวิวเพื่อนำไปสู่รายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ได้มีพื้นฐานของจริยธรรมในการนำเสนอ หรือแม้กระทั่งเด็กใหม่ที่เริ่มเข้าสู่แวดวงการรายงานข่าวใหม่ ก็ยังขาดซึ่งความเข้าใจในกรอบจริยธรรมในการนำเสนอหรือรายงานข่าวที่เหมาะสม เห็นได้จากการรายงานข่าวในสถานะการณ์ฉุกเฉินหลายๆครั้งที่เกิดขึ้น ที่ผิดแปลกจากกรอบที่ควรจะเป็น

ซึ่งหากเป็นเรื่องของธุรกิจทั่วไปก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับจริยธรรมชัดเจนสักเท่าไหร่ ถ้าธุรกิจที่ว่าสามารถตอบโจทย์นักการตลาดได้ แล้วยังจะต้องให้ความใส่ใจกับกรอบจริยธรรมในวิชาชีพอย่างเช่นอาชีพนักข่าวทำไม ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า การนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชน มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งระบบนิเวศน์ที่อาจจะมากกว่าสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่ว่าใครๆก็เป็นสื่อได้ เพียงเพราะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูว่า นิเวศน์ของสื่อนั้นๆครบถ้วนอย่างมีคุณภาพแล้วหรือยัง หรือวันนี้เราอ่อนแออยู่? ซึ่งสังคมจะเป็นตัวสะท้อนความอ่อนแอของสื่อได้เป็นอย่างดี ว่าท้ายที่สุดแล้ว มวลชน มีภูมิคุ้มกันกับข่าวสารมากน้อยเพียงใด

Related Posts