ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างอะไรๆก็ออนไลน์ ความจำเป็นของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักตกเป็นเหยื่อของการตลาดความเร็วอินเทอร์เน็ต คือเรื่องของ ‘สปีด’ นั่นเอง ผู้ให้บริการทุกค่ายต่างออกมาบอกว่าลูกค้าของตนนั้นจะได้ใช้ความเร็วสูงสุดเท่านั้นเท่านี้ และตอนนี้ก็เพิ่มความเร็วไปถึง 1Gbps สำหรับ 5G เน้นว่า ‘สูงสุด’ แต่ต่ำสุดกลับไม่เคยมีใครเคยออกมาบอกว่าลูกค้าชายขอบสัญญาณจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วต่ำสุดเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่ง Peak Time ที่เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนใช้งานอย่างหนาแน่น สปีดที่อวดอ้างกันว่าเร็วนักหนาจะใช้งานจริงกันได้หรือไม่? หรือจะเป็นอย่างทีเรารู้กัน ที่ขึ้นแต่ตัวอักษรแบบหน้าขาวๆแล้วไม่ไปต่อ
TheReporterAsia พยายามค้นหาคำตอบที่ไม่ใช่การเดินโร่ทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตไปทั่วฟ้าเมืองไทย เพราะนั่นเป็นเพียงการเขียนสคลิปต์ให้รองรับการใช้งานสปีดสูงสุดเมื่อเน็ตเวิร์กมีการร้องขอทดสอบสปีดก็เท่านั้น หรือจะพูดให้ง่ายๆก็แค่ต้มคนดูว่ามีความเร็วสูงสุดจากการทดสอบเอง เพราะมีคนช่วยแชร์ต่อทำให้ผู้ให้บริการและนักการตลาดที่ต้องการแพร่กระจายความหวังของเรื่องสปีดสู่ความคิดของผู้บริโภค จึงต้องลักไก่ต้มคนดูซะเลย แต่รายงานที่แท้จริงแบบไม่มีการเขียนโค้ดเฉพาะขึ้นมานั้นเป็นของ OpenSignal ค่ายที่ทำการทดสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบไม่รับสอดไส้ซึ่งสะท้อนหลายเรื่องออกมา
ก่อนหน้านี้ในช่วงการเปิดตัว 4G หลังการประมูลคื่นกันเสร็จ ทั้ง 3 ค่ายมือถือของไทยต่างออกมาเคลมเรื่องของความเร็วทั้งแบบแบบหลายสิบจนถึงหลายร้อย Mbps แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีการทดสอบความเร็วของการใช้งานจริง เรื่องมโนความเร็วหลายสิบจิ๊กนั้นก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะเท่าที่รู้รายงานในปี 2019 ของ OpenSignal ระบุว่า เอไอเอสมีประสบการณ์ของความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ที่เพียง 4.3Mbps เท่านั้น ขณะที่ทรูมูฟมีประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 7Mbps และดีแทคมีความเร็วอยู่ที่ 7.6 Mbps ซึ่งทั้งหมดเป็นการทดสอบจากการใช้งานผ่านเครื่องสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น
และในส่วนของประสบการณ์ของการอัปโหลดนั้นยิ่งหนักกว่า เพราะรายงานในช่วงเวลาเดียวกันระบุว่า เอไอเอมีความเร็วในการอัปโหลดที่ 2.5Mbps ซึ่งเท่ากันกับดีแทค ขณะที่ทรูมูฟสามารถทำความเร็วใจนการอัปโหลดได้ถึง 5.9Mbps เลยทีเดียว แต่ความเร็วเท่านั้น ยังไม่ใช่คำตอบของความเร็วที่แต่ละค่ายนั้นเคลมออกมาอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่าความเร็วของการดาวน์โหลดนั้นแตกต่างจากตอนโฆษณาเมื่อครั้งที่ได้คลื่นความถี่ 4G มาครอบครองเป็นอย่างมาก แถมในบางพื้นที่ ยังเป็นจุดบอด จุดอับ จุดพีคหรือจุดอะไรก็สุดแล้วแต่จะเรียกในพื้นที่ของการใช้งานอินเทอน์เน็ตไม่ได้ แล้ววันนี้เราก็ได้เห็นการโฆษณาความเร็วกลับมาอีกครั้ง เมื่อการประมูล 5G สิ้นสุดลง และโอเปอร์เรเตอร์ต่างก็ออกมาแข่งขันและอวดอ้างการทำความเร็วสูงสุดเช่นเคย
สตรีมมิ่งต่างๆ ต้องสปีดเน็ตเท่าไหร่?
วันนี้ TheReporterAsia ขอย้อนกลับมาดูว่าที่จริงแล้ว การทำกิจกรรมต่างๆบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง สตรีมมิ่ง ถ่ายทอดสด หรือแม้กระทั่งเกมออนไลน์นั้นต้องการความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานกันอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้การใช้งานสะดุดและได้รับคุณภาพสูงสุดของไฟล์ที่เข้าถึง
ซึ่งพบว่าการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งคุณภาพระดับ 8K (เชื่อว่ายังไม่มีให้ดูมากนัก) นั้นต้องการความเร็วขั้นต่ำที่ 50Mbps หรือหากย่อคุณภาพลงมาหน่อยที่ระดับ 4K หรือ Ultra HD ก็ยังต้องการความเร็วที่ 25Mbps เพื่อการชมที่ลื่นไหลแบบคุณภาพสูงสุด ขณะที่ความละเอียดระดับ HD นั้นก็ต้องการความเร็วราว 5 Mbps แบบนิ่งๆ สัญญาณไม่แกว่ง และการดูวิดีโอสตรีมมิ่งแบบธรรมดาให้ราบรื่นก็จะใช้ราว 3Mbps เท่านั้น
มองไปที่ความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมนั่นก็คือ การเล่นเกม โดยเกมคอนโซล ส่วนใหญ่ต้องการความเร็วขั้นต่ำ 3Mbps แต่ถ้าได้ความเร็วที่ 25Mbps ก็จะลื่นไหลได้ดีมาก แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบของการเล่นเกม เพราะเรื่องที่สำคัญกว่าคือ Latency ที่ควรจะต้องต่ำด้วย เพราะเมื่อกดยิงแล้วโดนเป้าหมายต้องตายทันที ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าตายแล้วต้องยิงซ้ำก็มีโอกาสพลาดในเกมสูงมาก ดังนั้น Ping Time จึงขอต่ำกว่า 10ms เพื่อตอบสนองการแอคชั่นได้แบบไร้รอยต่อทางด้านเน็ตเวิร์กสำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะ
นั่นเป็นความต้องการใช้งานที่ต้องบอกเลยว่า วันนี้ 4G LTE สามารถรองรับได้อย่างดี ถ้าระบบมีการให้บริการแบบมีคุณภาพที่ดี เพราะในทางเทคนิคแล้ว 4G (LTE Category 4) ธรรมดาสามารถดาวน์โหลดได้สูงสุด 150Mbps แต่สามารถใช้งานจริงๆกันได้แค่ 15Mbps เท่านั้น ขณะที่ 4G+ ซึ่งมีการผสมเน็ตเวิร์กในหลายๆย่านความถี่เพื่อรวมความเร็วให้มากขึ้น ทำให้ในทางเทคนิคแล้วสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 979 Mbps กันเลยทีเดียว แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะสามารถใช้งานได้เร็วสุดที่เพียง 90 Mbps ก็ยังถือว่าเร็วอยู่ดี
และเมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขของประสบการณ์ผู้ใช้จะเห็นได้ว่า เรายังใช้งานได้เพียแค่ความเร็วยุค 3G บวกบวกเท่านั้นเอง และเมื่อมองดูบริการต่างๆ ที่ต้องใช้สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ก็ยังเป็นบริการที่เพียงพอต่อทรัพยากร 4G อยู่นั่นเอง เรื่องนี้เป็นความจริงที่เราจะต้องทำความเข้าใจและไม่ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะท้าทายที่สุดแล้ว เราเองต่างหากที่เจ็บตัว ต้องจ่ายค่าบริการแบบเหมาไปเดือนๆ โดยที่บริการนั้นๆยังย่ำอยู่ที่เดิม มีเพียงแค่ตัวเลขเคลมเท่านั้นที่ให้สัญญากับเราว่าเร็วสูงสุดเท่าไหร่ วันนี้ผมขอรู้ความเร็วต่ำสุดของบริการได้มั้ย ว่าแพคเกจนี้จะใช้ได้ต่ำสุดเท่าไหร่เอ่ย?