นิสสันต่อยอดสร้างนวัตกรรมชุมชนปีที่ 3 ‘แค่ใจก็เพียงพอ 62’

นิสสันต่อยอดสร้างนวัตกรรมชุมชนปีที่ 3 ‘แค่ใจก็เพียงพอ 62’

นิสสัน

เราจะจัดการกับของเสียที่อยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร แน่นอนว่าสิ่งที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตาและชินกันเป็นประจำนั้น การจะนั่งมองแล้วก่อให้เกิดแนวคิดพัฒนาขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายอย่างต้องใช้ตัวช่วยเพราะบางครั้งการมองเห็นทุกวันอาจจะทำให้เรามองข้ามไป ล่าสุดนิสสันสานต่อโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ ตามพ่อที่พอเพียง” เป็นปีที่ 3 เริ่มโครงการล่าสุดในปลายปี พ.ศ. 2562 และยังคงเดินตามคำสอน ภูมิปัญญา และความเสียสละของพระมหากษัตริย์ไทยผ่านโครงการดังกล่าว

ในปีที่ 3 นี้ ใช้ชื่อโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ Honor the King’s Legacy 2019” โดยได้จัดการแข่งขัน UPCYCLE SOLUTIONS ประเภททีม มุ่งเน้นการช่วยเหลือชุมชนด้วยการสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาที่แท้จริงในชุมชนให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าโครงการฯ ทั้งสิ้น 138 ทีม จาก 33 มหาวิทยาลัย

กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้เป็นนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป มีทักษะความสามารถด้านการออกแบบ การทำการตลาด การสร้างแบรนด์และการสื่อสารการตลาด พร้อมทั้งมีความสนใจในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีใจพร้อมที่จะ “ให้มากกว่า” ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้วัสดุเหลือใช้จากชุมชนกลับมามีค่า แต่ต้องเน้นการส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจุดประกายไอเดียทางนวัตกรรมและทางการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งจากภายใน สามารถดำเนินการสร้างสรรค์ต่อเองได้อย่างยั่งยืน

ส่วนตัวผู้เข้าแข่งขันเองก็ต้อง “ได้มากกว่า” เงินรางวัลกลับไป ดังนั้นตลอดระยะเวลาการแข่งขันทางโครงการฯ นิสสันจึงจัดให้มีกิจกรรมการอบรม และเวิร์กชอปร่วมกันกับกูรูในสายงานการตลาด แบรนดิ้ง และการสื่อสารการตลาดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เข้าแข่งขันต่อไปในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นการทำโครงการแบบวินวิน นักศึกษาก็นำมันสมองของคนรุ่นใหม่มาคิดค้นไอเดียให้กับชาวบ้าน ส่วนตัวเองก็จะได้ความรู้ด้านการตลาดและความรู้ด้านอื่นๆ กลับไป ได้พัฒนาศักยภาพและทักษะของตนเองเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชน ชุมชน และผู้เชี่ยวชาญเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการทำงานและสร้างเครือข่ายที่จะต่อยอดได้ในอนาคต

นิสสัน

การแข่งขันในครั้งนี้นิสสันแบ่งเป็นทีม 4-6 คน แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 รอบเพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะ 1 ทีม การแข่งขัน แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 รอบ คือ 1. รอบคัดเลือก – The Nationwide Qualification Round (ส่งแผนการพัฒนานวัตกรรมชุมชน) โดยรับสมัครทีมจากทั่วประเทศ จากนั้นคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ 12 ทีม จากแผนการพัฒนานวัตกรรมชุมชนที่ส่งเข้ามายังโครงการฯ

  1. รอบ 12 ทีม – Semi-Final Pitch นำ 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ Semi-Final เข้าร่วมการ Workshop Design Thinking เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงออกแบบ และเพื่อแนวทางในการพัฒนาผลงาน จากนั้นนำเสนอโครงงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 6 ทีม

  2. รอบชิงชนะเลิศ ทำการแข่งขันหาทีมผู้ชนะเลิศและรอง 2 อันดับ จากทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน 6 ทีม โดยการทำ Workshop ลงพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งรับฟังปัญหาด้านสิ่งของเหลือใช้ที่เกิดขึ้นในชุมขน เพื่อนำปัญหาเหล่านั้นมาออกแบบนวัตกรรม โดยจะได้รับโจทย์สำหรับนำเสนอในรอบตัดสินพร้อมกัน แต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนในการสร้างผลงานต้นแบบทีมละ 20,000 บาท และทุกทีมจะได้เข้าร่วม Design Sprint Bootcamp และทำ Workshop ทุกทีมจะพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและยั่งยืนในการแก้ปัญหาวัสดุ และของเหลือใช้สำหรับชุมชนเหล่านี้ ซึ่งนักศึกษาจะใช้ความรู้ที่ได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์จริง รวมถึงนวัตกรรมของนิสสัน

ทั้งนี้หลังจากลงพื้นที่สำรวจชุมชนแล้ว ทางนิสสัน ประเทศไทย ได้มีการจัด Design Sprint Workshop ให้แก่นักศึกษาร่วมกับ ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและออกแบบนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งนักศึกษาได้ทำ workshop พร้อมทั้งหารือร่วมกับชุมชนเพื่อทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

นิสสัน

 

ในรอบสุดท้าย ทีมที่เข้ารอบทั้ง 6 ทีม จะเริ่มต้นทำงานกับ 3 ชุมชน ประกอบด้วย 1. ชุมชนบ้านน้ำใส : มีโครงการส่งเสริมเรียนรู้จากบริษัทและชุมชนต่างๆ มาก จึงทำให้เกิดขยะขวดและถุงพลาสติก ซึ่งไม่สามารถนำไปกำจัดได้ทันเวลา อีกทั้งชุมชนยังมีปัญหาการจัดเก็บขยะจากชุมชนโดยรอบ ในชุมชนนี้มี ทีม กลุ่มใจ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมเดอะ แกลบ คราฟ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าทำงานร่วมกับชุมชน

  1. ชุมชนบ้านน้ำโจน : ในแต่ละปีมีลูกทุเรียนตกมาก ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องตัดแต่งและเผาเพื่อกำจัด รวมทั้งยางของมังคุดและผลที่ไม่สวย ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำไปขายได้ จึงทำให้เกิดขยะจำนวนมาก ทีม ฮักนะมันแกว คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทีม B.E. Case คณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมจากของเสียเหล่านี้

  2. ชุมชนบ้านตะกาดเง้า : การกำจัดเปลือกหอยนางรมทำได้ยากและมีปริมาณมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมาก
    โดยมี ทีม ต้า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และทีม Mitr คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาประชันกันในครั้งนี้

หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น ทางนิสสันก็ได้ประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ งานนี้มีทั้งเสียงไชโยจากทีมที่ชนะและน้ำตาจากความผิดหวังสำหรับทีมที่ไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งด้วยความเข้มข้นของการทำเวิร์คชอป และผลการตัดสินของคณะกรรมการที่ดูรายละเอียดกันอย่างรอบด้าน ผลงาน “อิฐ อึด อึด” จากทีม “Mitr” ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้รับทุนการศึกษา 250,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร และเงินทุนสนับสนุนสถาบันการศึกษา 50,000 บาท ไปได้สำเร็จ ซึ่งนักศึกษาบอกว่าชื่อทีม “Mitr” หมายถึง “มิตร” และมีกลยุทธ 4 มิตรพิชิตใจ อันประกอบไปด้วย การผลิตที่เป็นมิตร ราคาที่เป็นมิตร การจำหน่ายที่เป็นมิตร และการสื่อสารที่เป็นมิตร

“อิฐ อึด อึด” เกิดจากการลงพื้นที่ และพบว่าคนในชุมชนบ้านตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ประกอบอาชีพการเลี้ยงหอยนางรมกันมานานแล้ว เลี้ยงเพื่อแกะเป็นเนื้อหอยขายและทิ้งเปลือกกองรวมกันไว้ แต่จะมีบางส่วนที่คนเลี้ยงกุ้งจะเข้ามารับซื้อไปแต่ก็ขายได้แค่ในราคาตันละ 100 บาทเท่านั้น แต่ก็ยังคงเหลือกองเปลือกหอยนางรมเป็นจำนวนมากอยู่ดี ก่อให้เกิดไอเดียที่จะกำจัดวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้ ประกอบกับในชุมชนมีการใช้งานอิฐบล็อกอย่างแพร่หลาย งานวิจัยเกี่ยวกับการนำเปลือกหอยไปใช้ประโยชน์สำหรับนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างอิฐบล็อกจึงเกิดขึ้น

นิสสัน

การทำงานนั้นทีม “Mitr” ได้กลับมาทดลองหาส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเปลือกหอยบด ซีเมนต์ และน้ำส่วนผสมหลักจนได้สูตรที่ลงตัว เป็นอิฐที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา มีค่าการอุ้มน้ำต่ำ พร้อมรับน้ำหนักได้ถึง 52 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร รองรับการใช้งานทั่วไปในชุมชนไม่ว่าจะเป็นการนำไปทำเป็นสร้างสิ่งปลูกสร้างเล็ก ๆ อย่างเรือนเพาะเห็ด หรือผนังกั้นน้ำได้เป็นอย่างดี น อกจากนี้ยังมีจุดแด่นเรื่องการอุ้มน้ำต่ำ การเกิดตะไคร่น้ำน้อย ทำให้อัตราการลื่นก็น้อยลง รวมไปถึงสามารถต่อยอดทำทางเดินที่เรืองแสงได้ในตอนกลางคืน

การทำอิฐบล็อกเปลือกหอยนางรมนั้นต้องใช้เศษเปลือกหอยที่บดละเอียดกับซีเมนต์และน้ำ เพียงผสมวัสดุต่าง ๆ คนให้เข้ากัน และเทลงบล็อกที่เตรียมไว้ 1 วันสามารถผลิตได้ 25 ก่อนต่อวันต่อคน โดยใช้เวลาเพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง โดยหากมีการคำนวณว่าหากจำหน่ายในราคา 9.50 บาทต่อก้อน ชาวชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจาก 300 บาทต่อวันเป็นประมาณ 619 บาทวันวัน ส่วนผลทางอ้อมหากมีกำลังการผลิตถึง 25 คนต่อวัน จะช่วยลดขยะจากเปลือกหอยภายในชุมชนได้มากถึง 105.3 ตันต่อปี

โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ ตามพ่อที่พอเพียง” ครั้งต่อไปของนิสสัน คาดว่าจะเป็นการกระจายไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมา และจะเน้นให้นักศึกษาในพื้นที่ใช้มันสมองของตัวเองสร้างนวัตกรรมใหม่ในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปกับโครงการดีๆ แบบนี้ ซึ่งถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกต้องขอให้ทางนิสสันติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ได้ทำไปแล้วนำมาเสนอความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีและช่วยกระตุ้นให้ชุมชนอื่นๆ ได้มองเห็นถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้จากสิ่งที่เขาตั้งใจทำ ให้เขานำสิ่งที่มองว่าไร้ค่ามาสร้างรายได้ แม้จะทำได้ไม่ทั่วถึงในเร็ววัน แต่การเริ่มต้นที่ดีก็จะมีการขยายตัวไปเรื่อยๆ ได้อย่างแน่นอน

Related Posts