กรมควบคุมโรค หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนด้านเทคโนโลยี ร่วมใจกันพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ ‘หมอชนะ’ ช่วยให้การติดตามและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงประชาชนที่ใช้ทุกคนเข้ากับพิกัดพื้นที่ พร้อมการประเมินเบื้องต้นของระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ด้วยการประเมินจากฐานข้อมูล DDC iLab ของกรมควบคุมโรคโดยตรง สร้างความชัดเจนให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และแนวทางการเข้าถึงระบบรักษาต่อไปของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นความร่วมมือของภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐบาลที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘หมอชนะ'(Morchana) นี้ขึ้น ด้วยความดั้งใจดังกล่าวแม้ว่าแอปพลิเคชั่นนี้จะยังไม่ใช่แอปพลิเคชั่นที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมาให้เพื่อการติดตามและเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความสามารถของการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ที่ประชาชนสามารถกรอกข้อมูลได้เอง เพื่อประเมินเบื้องต้น พร้อมการเชื่อมโยงกับประชาชนคนอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือจุดที่เดินทางหรือมีประวัติการเดินทางเข้าไป จะช่วยให้คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของตนเองได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น อีกทั้งเมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นหนึ่งในบุคคลเสี่ยงติดเชื้อ ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์ได้สามารถเข้าถึงบุคคลนั้นๆเพื่อเข้ารับการรักษาและดูแลได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้แอปพลิเคชั่น ‘หมอชนะ’ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกันของทุกภาคส่วน ด้วยโค้ดแบบโอเพ่นซอร์ส สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และ iOS ผ่านกูเกิลเพย์สโตร์และแอปสโตร์ หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ระบบจะทำการขออนุญาตเปิดสิทธิ์เข้าถึง พร้อมถ่ายรูปและสอบถามประวัติและสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้การประเมินเบื้องต้นมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้ใช้จะต้องอัปเดตข้อมูลตามระดับความเสี่ยงตั้งแต่หลักวันจนถึงสัปดาห์ เพื่อทำการออกคิวอาร์โค้ดตามสีที่กำหนด

ในส่วนของระบบหลังบ้านนั้น จะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล DDC iLab ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกับกรมควบคุมโรค เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แอปพลิเคชั่นผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้นที่กรอก และพิกัดการเดินทางที่จะเชื่อมโยงทั้งหมดเข้ากับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพบว่าบุคคลดังกล่าวตกอยู่ในความเสี่ยง จะมีการแจ้งเตือนจากบุคคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนติดตามอาการและรับตัวเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ขณะที่การป้องกันการกรอกข้อมูลเท็จ เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่า ข้อมูลที่กรอก 4 ข้อนั้นเป็นเพียงการกรอกเบื้องต้นเพื่อประเมินเท่านั้น ซึ่งจะต้องนำข้อมูลการเดินทาง เพื่อสะท้อนความใกล้ชิดบุคคลอื่นทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักที่มีความเสี่ยงเข้ามาประเมินร่วมด้วย ทำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นแม้ว่าผู้กรอกจะให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนก็ตาม แต่กระนั้นการให้ข้อมูลคาดเคลื่อนของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นกลับเป็นความเสี่ยงกับตัวผู้ใช้เอง เนื่องจากการกรอกข้อมูลว่าไม่มีความเสี่ยงเพื่อที่จะให้เป็นสีเขียว อาจจะทำให้บุคคลดังกล่าวเข้าถึงการรักษาที่ช้าหรือไม่ทันท่วงที ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ก็ขอให้กรอกข้อมูลกันด้วยความรอบครอบ

ด้านนายแพทย์สุรินท์นาท เจริญจิตต์ กองศัลยกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ระบุว่า แอปพลิเคชั่นนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างคลายความกังวลที่มากกว่าระบบคัดกรองเบื้องต้น ที่เราไม่มีทางรู้ประวัติการเดินทางของผู้ป่วยเลย แต่แอปนี้จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนดาวน์โหลดกันทันที ยิ่งดาวน์โหลดกันเร็วเท่าไหร่ การบันทึกการเดินทางและประวัติการเชื่อมโยงผู้ติดเชื้อก็จะถูกเก็บและประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยข้อมูลทั้งหมดจะมีการเก็บไว้ย้อนหลังเพียง 30 วันเท่านั้น
จึงอยากเชิญชวนประชาชนทุกคนของประเทศไทย เข้ามาโหลดแอปพลิเคชั่น’ หมอชนะ’ แล้วรีบกรอกข้อมูลที่จำเป็นกันตอนนี้เลยทันที เพื่อให้ทุกภาคส่วนคลายความกังวลว่าตัวเองนั้นเสี่ยงไหม หรือติดเชื้อแล้วหรือยัง? แอปพลิเคชัน หมอชนะ ร่วมโหลด ร่วมใจ ชนะภัยโควิด-19 #โหลดแอปเท่ากับบริจาค
