
“พุทธิพงษ์” แถลงครบรอบ 1 ปีกับบทบาท รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดชื่อ 13 โครงการเด่น เพิ่มความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ประเทศไทย สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างทั่วถึง-เท่าเทียม ปลื้มดี่อีเอส โชว์หลายผลงานสำคัญร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย “ฝ่าวิกฤติ” สถานการณ์โควิด-19
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในโอกาสแถลงผลงานเด่นครบรอบ 1 ปีที่เข้ามาบริหารกระทรวงแห่งนี้ว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทำให้เห็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ เพื่อฝ่าวิกฤติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรง ได้ดำเนินหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร องค์กรต่างๆ ทำงานได้อย่างไม่สะดุด ร่วมกับเจ้าของเทคโนโลยีเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการด้านการแพทย์ของโรงพยาบาล สร้างโอกาสคนตกงานเข้าถึงแหล่งงานใหม่ เป็นต้น
โดยยกตัวอย่าง ผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด -19 ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต 5 ราย เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี-โทรฟรี 100 นาที, ร่วมกับ บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ในราคาถูก “เน็ตอยู่บ้าน”สนับสนุนการ ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และการเรียนการสอนออนไลน์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา, การออก พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับให้หน่วยงานรัฐและเอกชน สามารถจัดประชุมออนไลน์ได้ตามกฎหมาย และมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม ที่เป็นมาตรฐานด้าน Security ขั้นต่ำในการดูแลความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น
รวมทั้ง สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยติดตาม และป้องกันควบคุมการขยายวงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่โดดเด่นและได้รับความนิยม อย่างเช่น “ไทยชนะ” สำหรับการ Tracking การเดินทางรายบุคคล โดยใช้งานผ่านการเช็คอิน-เช็คเอ้าท์ ร้านค้า/สถานที่สาธารณะ มียอดผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 34 ล้านคน จำนวนร้านค้าลงทะเบียน มากกว่า 2.6 แสนร้าน ล่าสุดยังช่วยติดตามจำนวนกลุ่มเสี่ยง 394 คนในจ.ระยอง ได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและติดต่อเข้ารับการคัดกรองฟรี
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ยังได้เปิดพื้นที่หางานออนไลน์ผ่านระบบ “JOBD2U by ThaiFightCOVID-19” ช่วยเหลือคนตกงาน-ว่างงานจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงโอกาสแหล่งงานใหม่ โดยรวบรวมตำแหน่งงานจากบริษัทด้านดิจิทัลทั่วประเทศ มารวมไว้บน platform นี้ รวมถึงหลักสูตรเรียนรู้ฟรี เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
ขณะที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) หน่วยงานใต้สังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่ โดยรับภารกิจดูแลจัดส่งหน้ากากอนามัย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ผ่านโครงการ ‘ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19’ โดยระหว่างวันที่ 1-11 มิถุนายน 2563 ได้ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 147,489,850 ชิ้น
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานตามภารกิจกระทรวงฯ ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม ในตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลฯ ได้มีการดำเนินงานโครงการสำคัญๆ 13 โครงการ ตั้งแต่การเสริมความแข็งแกร่งในการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย ที่ครอบคลุมไปถึงกฎหมายด้านดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย ปูทางสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางโลกและสนามการค้ายุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง
โดยทั้ง 13 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ Thailand Digital Valley เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อม และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาการสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล จัดตั้งอยู่ในเขต EEC เพื่อเป็นฐานของภูมิภาคในการลงทุนด้านเทคโนโลยี AIม, VR, AR, IoT, Robotic, 5G Application รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต และการบริการ
ที่ผ่านมา ได้มีการจัดโรดโชว์เข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของโลกด้านดิจิทัล ในซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา เช่น Seagate Technology, Facebook, CISCO Systems, Google, Amazon Web Services และ Microsoft และได้รับการตอบรับให้ความสนใจเป็นอย่างดี เป็นการปูทางสู่โอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนไทย ทำให้คนไทยได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทผู้นำด้านดิจิทัลระดับโลก
2.การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) เริ่มให้บริการแล้ว มีหน่วยงานส่งคำขอใช้บริการเข้ามา 472 หน่วยงาน 1,570 ระบบ (ประมาณ 24,118 VM) ซึ่งตามแผนได้มีการกำหนดให้บริการหน่วยประมวลผลรวม 32,000 vCPU ภายในปี 2563 ช่วยประหยัดงบประมาณทางด้านไอทีของภาครัฐได้ 30-70% ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่สำคัญของประเทศ จะถูกจัดเก็บอยู่ภายในประเทศไทย และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้กลายเป็น Big Data ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้
“การที่เรามีระบบ GDCC หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้ามาใช้งานทรัพยากรคอมพิวเตอร์บนระบบ Cloud กลางที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการใช้งานในการจัดทำระบบงานสำหรับให้บริการประชาชน, ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐที่มีมาตรฐาน เป็นระบบ และมีความต่อเนื่องในการให้บริการยิ่งขึ้น” นายพุทธิพงษ์กล่าว
3.การผลักดันให้เกิดการประมูล 5G ในประเทศไทย โดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มมีการวาง cell site เพื่อรองรับการให้บริการ 5G โดยภาคเอกชน หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2564 โดยกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทาง มาตรการ และกลไกในในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
4.ความคืบหน้าการควบรวม CAT-TOT รับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ โดย ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 และตามเป้าหมายการควบรวมจะแล้วเสร็จเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ในปี 2564
5.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูก โดยมีการรับฟังความเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการ และให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง อีกทั้ง ยกระดับประสิทธิภาพการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
6.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยดำเนินการคืบหน้าไปแล้วในหลายเรื่อง และอยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อพิจารณานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อมีคำสั่งแต่งตั้ง อีกทั้ง อยู่ระหว่างการเสนอ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ต่อคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเพื่อลงนามและประกาศใช้ต่อไป
7.การจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. ….เพื่อเป็นแนวนโยบายในระดับรัฐ (State Level) ที่ชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ในระดับผู้ประกอบการ (Firm Level) ต่อไป
โดยกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ จะครอบคลุมตั้งแต่ระดับประชาชนทั่วไป หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาพรวมของประเทศ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัย, กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตการใช้ดาวเทียมต่างชาติที่เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ต่อการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร และเกิดการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
8.การดำเนินการของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมามีการอนุมัติโครงการไปแล้วใน 2 ลักษณะ ได้แก่ โครงการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการจัดหา เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ดิจิทัลที่สนับสนุน ช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุข และรักษาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 40 โครงการ จาก 38 หน่วยงาน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 409,117,831 บาท
และโครงการภายใต้กรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุน ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีใน 7 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech), เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech), เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech), เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgriTech), เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ (GovTech), เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล (ManTech) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับวาระเร่งด่วนของรัฐบาลด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Technology & Digital Infrastructure Agenda : AgendaTech) โดยมีการอนุมัติและลงนามในสัญญาจำนวน 43 โครงการ รวมวงเงิน 1,487,589,075 บาท
9.ระบบ Big Data ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ โดย GBDI ร่วมมือกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในการให้ความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอนุญาตให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วยเป็นเจ้าของข้อมูล และแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ต่อเมื่อผู้ป่วยอนุญาตเท่านั้น มีการกำหนดชั้นความลับ เพื่อให้ข้อมูลปลอดภัย และเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีเครือโรงพยาบาล/โรงพยาบาลหลักของประเทศ เข้าร่วมแล้ว 14 แห่งโดยเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของผู้บริหารโรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทยได้ครบถ้วนที่สุด
10.ระบบ Big Data ด้านการท่องเที่ยว สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน เก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่สนใจนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นบริการให้ประชาชน หรือช่วยธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป ตัวอย่างเช่น 1.บริการ “หมุด” และรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวหลักและรอง 2.การจัดทำมาตรฐานจัดเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และ 3.การวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำร่องการพัฒนาแล้วใน จ.อุบลราชธานี, อุดรธานี, กระบี่ และภูเก็ต
11.การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และกำลังคนด้านดิจิทัลในประเทศไทย เนื่องจากเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม และธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ที่มีทักษะ IoT, Data Science, AI, Robotics, Mechatronics หรือทักษะดิจิทัลอื่น ๆ ที่จำเป็น ตั้งแต่ระดับความรู้ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงความรู้ขั้นสูง ให้เกิดบุคลากรด้านดิจิทัลที่เพียงพอทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ
12. การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ดำเนินการโดย บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นการลงทุนภาครัฐที่สำคัญต่อการกระตุ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานและธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสในการศึกษาและสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางในเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ได้
“โครงการนี้จะรองรับการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สำคัญของภูมิภาค ขณะที่ ปริมาณความจุเชื่อมต่อวงจรผ่านประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าบริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชน มีราคาถูกลง เพิ่มความน่าสนใจของประเทศไทในการลงทุนตั้งฐานข้อมูลของ Content Provider รายใหญ่ มากขึ้น” นายพุทธิพงษ์กล่าว
13.การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ที่มีระบบประมวลผลติดตามข้อมูลข่าวสารช่องทางสื่อออนไลน์ (Social Monitoring Center) เพื่อรับมือกับการสร้างข่าวปลอม การประเมินและลดความเสี่ยงโดยตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านส่งเสริมความมั่นคงทางด้านดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจากข่าวสารที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ประสานงานมากกว่า 200 หน่วยงาน
สำหรับสถิติการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 – 15 ก.ค. 2563 พบว่า เป็นข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 9,162,718 ข้อความ ซึ่งเข้าเกณฑ์ตรวจสอบ 15,297 ข้อความ คิดเป็นจำนวนที่ต้องตรวจสอบ 5,230 เรื่อง
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดตามของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมผ่านช่องทางเว็บไซต์ 3,006,764 ผู้รับชม, ไลน์ทางการ 1,405,806 ราย, เฟซบุ๊ก 62,018 ราย และทวิตเตอร์ 6,400 ผู้ติดตาม