
หลายวันก่อน TheReporterAsia ได้มีโอกาส สนทนากับผอ.เนคเทค คนเทคโนโลยีที่เก่ง ด้วยมุมมองและวิธีการการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากหิ้งสู่ห้างอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีเป้าหมายที่แข็งแกร่งในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ตั้งเป้าไว้ได้อย่างมั่นคง แนวคิดดังกล่าวจะสะท้อนอนาคตเนคเทคอะไรออกมาได้บ้าง และรูปธรรมที่เห็นจะเป็นอย่างไร
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค กล่าวอย่างจริงจังกับเราว่า เนคเทค ไม่ได้เป็นหน่วยงานพัฒนาคน แต่เป้าหมายหลักของเราคือการเป็นหน่วยงานที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้กับประเทศ เพื่อเข้ามาทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนต้องติดกับดักการลงทุนทางเทคโนโลยี ทำให้การเดินทางสู่ถนนเทคโนโลยีของธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
จิ๊กซอร์แรกของเทคโนโลยียกระดับประเทศไทย
การร้อยเรียงโครงการต่าง ๆ ของเนคเทคที่ผ่านมา นับตั้งแต่โครงการ Ai for Thai ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนนักศึกษาและผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างทั่วถึง และสะดวกในการนำไปใช้ ซึ่งปัจจุบัน เนคเทคก็ยังเปิดให้ใช้งานฟรี แต่มีข้อจำกัดเรื่องของปริมาณการใช้งานเท่านั้น
วันนี้โครงการ Ai for Thai ถือว่าเป็นโครงการที่มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการใช้งานทรานแซคชั่นราว 1 ล้านครั้งต่อเดือน นับว่าเป็นจิ๊กซอร์หนึ่งที่สำคัญของการต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีพัฒนาประเทศที่สำคัญในอนาคต
แนวคิดของการพัฒนาและต่อยอดให้คนไทย สามารถใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างทั่วถึง แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนัก แต่การเดินหน้าโครงการใหญ่ที่ต่อเนื่องกัน TheReporterAsia ก็อยากจะให้ทำความเข้าใจเรื่องของแพลตฟอร์ม ไอโอที ควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายสำคัญที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น เมื่อสามารถพัฒนาให้ IoT มีปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุม
ความท้าทายของการใช้แพลตฟอร์ม Ai for Thai ซึ่งมีโซลูชั่นที่หลากหลายให้เลือกใช้ แต่ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีหลายโซลูชั่นที่มีตัวเลือกของภาคเอกชน ขณะที่บางโซลูชั่นก็เป็นเรื่องราวและความสามารถของภาษาไทย ที่แน่นอนว่า โซลูชั่นของต่างชาติไม่มีทางที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจภาษาไทยได้ถ่องแท้ เทียบเท่ากับนักเทคโนโลยีไทยแท้ได้อย่างแน่นอน
อีกทั้งการผลักดันให้เกิดการทดลองหรือใช้งาน ในระดับนักพัฒนาทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ตลอดจนนักเรียนและนักศึกษาได้เข้ามาร่วมกันพัฒนาต่อยอดก็เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการพัฒนาในวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมด้วยการให้ใช้งานได้ฟรีสำหรับคนไทย แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในปริมาณการใช้ แต่ก็นับว่าเพียงพอต่อการสร้างโมเดลต้นแบบ เพื่อการนำเสนอแนวคิดและต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจเทคโนโลยีต่อไปได้ในอนาคต
จิ๊กซอร์ที่ 2 NETPIE 2020
ดร.ชัย กล่าวต่อว่า หลังจากการเปิดตัวแพลตฟอร์ม NETPIE 2020 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราก็ได้มีการจัดประกวด โดยจับคู่ระหว่างนักพัฒนาและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องจักร ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของอุตสาหกรรม ให้เครื่องจักรสามารถบอกเล่าความต้องการออกมาได้ แต่กระนั้น การพัฒนาดังกล่าวยังไม่ใช่การพัฒนาไปสู่การเป็น Industry 4.0

นักเทคโนโลยีตัวจริง ชวนให้เรามองเห็นความเป็นจริงว่า เครื่องจักรเป็นสินทรัพย์หลักของโรงงาน การเปลี่ยนเครื่องจักรให่ให้มีความทันสมัยในแบบของโรงงานอัจฉริยะ ก็เท่ากับการสร้างโรงงงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นโดยง่ายในไทย หรือแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนจำนวนมหาศาล
หากแบ่งเป็นยุคของอุตสาหกรรม Industry 1.0 คือยุคที่เริ่มใช้เครื่องจักรเข้ามาผลิตในปริมาณมาก ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ Industry 2.0 เราเริ่มเป็นการต่อเนื่องของสายพานการผลิตที่ส่งต่อจากเครื่องจักรหนึ่งไปสู่เครื่องจักรหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเข้าสู่ยุค Industry 3.0 ความต่อเนื่องของการผลิต เริ่มมีการใช้งานคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมสั่งการและตรวจจับความผิดพลาดมากขึ้น คนเริ่มถูกใช้ในกระบวนการผลิตน้อยลง
ขณะที่ Industry 4.0 นั้น เป็นเรื่องของการผลิตแบบอัตโนมัติ การผลิตด้ยหุ่นยนต์ เพียงแค่กรอกคำสั่งของสินค้าที่ต้องการ ระบบที่นับตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ ตลอดจนเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตออกมาเป็นสินค้าที่สามารถส่งขายได้เลย จะเห็นได้ว่าความอัตโนมัติมีแบบครบถ้วนสมบูรณ์ในระดับ Industry 4.0
กลับมาที่ความตั้งในของการพัฒนา NETPIE 2020 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการผลักดันให้อุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่การแปลงเครื่องจักรเก่าให้มีความฉลาดมากขึ้น สามารถเก็บค่าข้อมูลต่าง ๆ ของเครื่องจักร ออกมาสู่หน้าแดชบอร์ด เพื่อให้ผู้ควบคุมดูแลสามารถจัดการได้อย่างง่ายดาย จากเดิมที่จะต้องใช้ผู้ชำนาญการในการตรวจวัดและตรวจสอบในพื้นที่เครื่องจักรนั้น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วจึงจะทำการแก้ไข ทำให้ไม่ทันการณ์
การไม่รู้ล่วงหน้าของการจัดการเครื่องจักร ส่งผลให้กิจการต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ตลอดจนการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งเมื่อปล่อยให้เครื่องจักรเสีย ระบบจะต้องหยุดการผลิตเพื่อซ่อมแซ่ม และเมื่อเสียแล้วก็จะทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างเสียหายเพิ่มเติมด้วย แต่เมื่อต้องเปลี่ยนตามอายุของสเปกอุปกรณ์ที่ผู้ผลิตแจ้ง ก็ไม่ได้สะท้อนอายุการใช้งานจริง ทำให้ต้นทุนการจัดการเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ
NETPIE 2020 จะเข้าไปเสริมให้ผู้ประกอบการในการเปลี่ยนเครื่องจักร ให้บอกเล่าความต้องการของตนเองได้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเครื่องจักรเดิมให้อัจฉริยะมากขึ้น สามารถสร้างแพลตฟอร์มการจัดการด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ IoT (Internet of Things) ได้อย่างสะดวก ในราคาที่จับต้องได้ อีกทั้งยังมีทีมที่พร้อมจะช่วยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การทำงานของแต่ละโรงงานที่มีความต้องการที่แตกต่างกันได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเนคเทคเองก็คาดหวังว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 3.5 ให้ได้
จิ๊กซอร์ที่ 3 การจัดการพลังงาน
เราเห็นเห็นแล้วว่า เนคเทค มีแนวทางในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ( Ai for Thai) เพื่อช่วยในคิดแทนสมองของมนุษย์ และมีแพลตฟอร์มด้าน IoT ( NETPIE 2020) เพื่อช่วยให้เชื่อมโยงสิ่งที่จับต้องได้เข้าสู่โลกของดิจิทัล และส่วนสำคัญของการจัดการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ต้องยอมรับว่า เราต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน และนั่นก็เป็นสิ่งที่เนคเทค เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม IDA ออกมา
ดร.ชัย บอกเราชัดเจนว่า แพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics) เป็นโครงการแพลตฟอร์มด้านการจัดการพลังงานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเข้ามาแทนที่ระบบโซลูชั่นการจัดการพลังงานของต่างประเทศที่สมบูรณ์แบบ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจัดการพลังงาน การจัดการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากมุมของพลังงาน ตลอดจนการเชื่อมโยงระบบเครือข่าย IoT ในโรงงาน ให้สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการดูแลจากที่ไหนก็ได้บนโซลูชั่นออนไลน์
ซึ่งหากมองให้ชัดแล้ว ความสามารถของแพลตฟอร์ม IDA นั้นก็เริ่มตั้งแต่ การตรวจวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน ซึ่งจะช่วยให้โรงงานสามารถเก็บมูลด้านพลังงานที่ละเอียด และนำไปวิเคราะห์ภาพของการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุด
นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยให้การควบคุมประสิทธิภาพของการผลิตเชิงพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และท้ายที่สุด ยังสามารถต่อยอดไปสู่การพยากรณ์การซ่อมบำรุงที่อ้างอิงจากอายุการใช้งานอุปกรณ์ของการใช้งานจริง เพื่อยืดอายุการใช้งานอะไหล่ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงจากเดิมที่จะต้องเปลี่ยนตามอายุของอุปกรณ์ แม้ว่าจะสึกหรอหรือไม่ก็ตาม
จะเห็นได้ว่า 3 ส่วนที่สำคัญของเนคเทคที่ได้พูดคุยกับ ดร.ชัย ในครั้งนี้นั้น ล้วนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เนื่องจากภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นต้องประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ฮาร์ดแวร์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ IoT ที่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างเข้าสู่ระบบดิจิทัล และซอฟต์แวร์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ แพลตฟอร์มต่าง ๆ (NETPIE 2020, IDA) ที่เนคเทคทุ่มเทพัฒนาขึ้นให้รัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ในราคาที่เป็นธรรม และสุดท้ายคือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยต่อยอดจาก 2 ส่วนแรก ให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
แน่นอนว่า เรื่องราวของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ไม่ได้มีเพียงแค่ 3 ส่วนนี้ที่ให้ความสำคัญ แต่วันนี้ TheReporterAsia ขอยกตัวอย่างเพียงแค่แผนการบางส่วนในการยกระดับเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคต ที่เนคเทคคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างครบถ้วน จากมุมมองและแนวคิดของหัวเรือใหญ่อย่าง ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ที่สะท้อนให้เห็นก้าวที่สำคัญของเนคเทคได้อย่างชัดเจน
และแม้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยจะเป็นไปด้วยข้อจำกัดที่มากมาย แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นและเข้าถึงแนวคิดของหน่วยงานเทคโนโลยีที่สำคัญของไทย และเข้าถึงแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของหัวเรือใหญ่เนคเทคที่ชัดเจน เอาไว้โอกาสหน้า TheReporterAis จะหาโอกาสเข้าไปสืบหาแนวทางการพัฒนาในด้านอื่น ๆที่สำคัญ ของ ดร.ชัย แห่งเนคเทค อย่างเช่นการพัฒนาแบตเตอรี่ หรือการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเนคเทคก็มีโครงการร่วมมืออยู่ในหลายส่วนที่คัญ มาให้ได้อ่านกันอีกครั้งนะครับ