โลกเทคโนโลยี ปั่นป่วนหนักขึ้นอีกครั้ง หลัง ประธานาธิปดีสหรัฐ ประกาศห้ามการเข้าถึงผู้ผลิตชิปจากบริษัทในกลุ่มหัวเว่ยทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย นับเป็นมหกรรมกีดกันทางการค้าครั้งใหญ่ที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกไปอีกยาวนาน
เนื่องจาก โลกเทคโนโลยี ที่ผ่านมา มีการแบ่งส่วนวิจัยและพัฒนาร่วมกันหลายชาติ เพื่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเร็วในการแข่งขันกัน แน่นอนว่าความร่วมมือในเชิงของเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องไร้พรมแดนที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ปิดกั้นการเข้าถึงเช่นนี้บนโลกของเทคโนโลยีเพียงเพื่อข้อสันนิษฐานที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
นับตั้งแต่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต ระบบความปลอดภัยด้านเครือข่ายก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และทุกประเทศต่างตระหนักถึงความสามารถในการเข้าถึงระบบเพื่อควบคุมและดูแลการใช้งานของประชาชน ตลอดจนป้องกันการล้วงความลับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากกลุ่มประเทศผู้ไม่หวังดี จนทำให้เกิดมาตรฐานด้านความปลอดภัยผุดขึ้นมาอย่างมากมายเพื่อรองรับความปลอดภัยในแต่ละภาคส่วน
ขณะที่องค์กรเองก็ลงทุนกับความปลอดภัยเครือข่าย เพื่อปกป้องข้อมูลทางการค้าของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นเรื่องพื้นฐานทางธุรกิจที่ทุกคนคิดได้อยู่แล้วว่าจะต้องทำให้เครือข่ายของตนเองมีความปลอดภัยสูงสุด และหากมองไปที่ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารทั้งหลายในทุกประเทศทั่วโลก ต่างก็เพิ่มมาตรการความปลอดภัยกันอย่างเหนียวแน่น เพราะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าไปอีกยาวนาน
แต่แม้ว่าความปลอดภัยจะได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างไรก็ตาม แผนโฆษณาชวนเชื่อของประธานาธิปดีสหรัฐที่จุดพลุเริ่มต้นด้วยการระบุว่า หัวเว่ย จะล้วงความลับของแต่ละประเทศเพื่อส่งต่อให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใกล้ชิด ก็เริ่มขยายวงกว้างและส่งผลรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
มาตรฐานความปลอดภัยจากองค์กรกลางทั่วโลกที่ผ่านมา เป็นของปลอม?
คำถามหลักที่ค้างคาใจ ซึ่งยังหาผู้ตอบให้คลายสงสัยไม่ได้นั่นก็คือ มาตรฐานความปลอดภัยจากองค์กรกลางทั่วโลกที่ตั้งขึ้นมาบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นเป็นของปลอมที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อเทียบกับข้อสันนิษฐานของสหรัฐอย่างนั้นจริงหรือ?
หรือโลกของเทคโนโลยีเริ่มถูกครอบงำด้วยการเมืองที่ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างก็เริ่มเข้ามาหาผลประโยชน์กันแล้ว ความไร้พรมแดนจะไม่มีอีกต่อไป และความร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาจากทั่วทุกมุมโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่จะมีความเร็วมากพอที่จะกระชากให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆได้ทันการณ์หรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าการเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะให้สหรัฐเข้ามาชี้นำ
และเมื่อโลกของผู้ผลิตเทคโนโลยี ถูกบังคับให้แตกแยกกัน จะเกิดหายนะร้ายแรงมากมายที่จะตามมา ซึ่งไม่นับรวมโรงงานที่จะต้องล้มหายตายจาก ด้วยเหตุของการถูกจำกัดลูกค้า ขาดเทคโนโลยีในการผลิต หรือแม้กระทั่งขาดวัตถุดิบในการผลิต ตามข้อบังคับของสหรัฐ
เพราะเมื่อมาตรฐานความปลอดภัย ถูกปฏิเสธความเชื่อมั่นเช่นนี้แล้ว การเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะยังคงเกิดการขยายตัวอีกต่อไปหรือไม่ เนื่องจากไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป แต่ละประเทศต่างก็ระแวงว่าจะถูกล้วงความลับ บนความไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีการเข้ารหัส ทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทางมารองรับแล้วก็ตาม
ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเกิดข้อจำกัดด้านการใช้งานร่วมกันของอุปกรณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดของการเชื่อมโยงต่อไปในอนาคต เราลองคิดดูว่าเมื่อผู้บริโภคซื้ออุปกรณ์มาหลายชิ้น แต่ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งบางกรณีเราก็อยากได้ฟีเจอร์บางส่วนของอีกอุปกรณ์แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีความร่วมมือในการพัฒนาอุปกรณ์ร่วมกัน ดังเช่นที่เรื่องกำลังเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของหัวเว่ยและบริการจากกูเกิล
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราซื้อกล้องวงจรปิดมาแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับมือถือยี่ห้อหนึ่งได้ จะเชื่อมได้ก็ต่อเมื่อใช้มือถืออีกยี่ห้อเท่านั้น หรือหากต้องการจะเชื่อมกับสมาร์ททีวีด้วยก็จะต้องใช้อีกยี่ห้อเท่านั้น หรือหากจะร้ายแรงเข้าไปอีกก็คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่จะต้องเฉพาะเจาะจงอุปกรณ์บางแบรนด์ของบางค่ายเท่านั้น แล้วเราก็จะวุ่นวายในการหาความเชื่อมโยงเหล่านั้นเอง เหมือนเช่นในอดีตที่เราจะต้องพกสายชาร์จของใครของมันติดตัวไปด้วย เนื่องจากไม่สามารถใช้งานร่วมกันแบบต่างยี่ห้อและรุ่นได้นั่นเอง
และหากสหรัฐ ยังคงบ้าอำนาจเช่นนี้ต่อไป ใครจะยืนยันได้ว่า รูปการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับ อุปกรณ์และบริการอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นและท้าทายบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งตอนนี้เห็นท่าทีว่าจะไม่กล้าออกมาทัดทานพลังของสหรัฐ ซึ่งก็จะเท่ากับการแขวนคอตัวเองเพื่อรอวันบังคับให้ตายเท่านั้น
แต่นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับหายนะครั้งนี้ ซึ่งหากมองให้ดี การยอมศิโรราบในทุกสิ่งแม้กระทั่งยอมขาดทุนยกเลิกลูกค้าอย่างหัวเว่ยได้ของบริษัทผู้ผลิตที่คบค้ากับสหรัฐ ผู้ใช้หรือประเทศที่ใช้บริการและอุปกรณ์เหล่านั้น จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อสหรัฐบังคับให้บริษัทเหล่านั้นเปิดช่องให้สหรัฐเข้าถึงข้อมูลหลังบ้านได้ บริษัทเหล่านั้นจะไม่กล้าที่จะไม่ทำตาม
เรื่องนี้หากเขียนมากกว่านี้ก็ดูจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้เทคโนโลยีทุกประเทศทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การถูกเรียกสอบของเฟซบุ๊กอย่างยาวนาน ก็เป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีของการถูกบังคับด้วยอำนาจเพื่อความต้องการบางสิ่งบางอย่าง อันต้องเกิดขึ้นอย่างไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนเลยของสหรัฐอย่างแน่นอน
สิ่งเหล่านี้นับเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่โลกเทคโนโลยีกำลังเผชิญ ซึ่งหากมองในแง่ดีก็คือโอกาสของการเบาลงของสหรัฐ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่หากมองในแง่ร้าย เรื่องที่ยืดเยื้ออย่างยาวนานต่อไปจนกลายเป็นวิถีใหม่ ซึ่งจะเป็นการตัดตอนการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของบริษัทเทคโนโลยี และกลายเป็นความถาวรที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต หากวันนี้ ไม่ลุกขึ้นมายืนหยัดบนมาตรฐานความปลอดภัยที่มีได้อย่างศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง