อาจารย์สุพจน์ ดีบุญมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ“ยุวชนอาสา” ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัญหาของชาวบ้านคือการทอผ้าที่ยังได้ปริมาณที่น้อยและยังขาดช่องทางการตลาดที่เหมาะสม จึงได้มีการหารือร่วมกันระหว่างนักศึกษาและชุมชน ว่าจะร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพการผลิต ทั้งเรื่องของการตลาด การทำบัญชีต้นทุน และการประชาสัมพันธ์ โดยเป้าหมายของการให้นักศึกษาลงมาคือการได้นำความรู้ที่เรียนมา นำมาใช้จริง มาช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนได้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
นางสาวเกศรินทร์ ภูหลักด่าน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาไปถ่ายทอดให้กับชุมชน ซึ่งชาวบ้านยังขาดความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน เช่น การทำบัญชีผิดและยังไม่รู้วิธีการคิดต้นทุนการผลิต โดยนักศึกษาก็จะนำโจทย์เหล่านี้มาวิเคราะห์และออกแบบกิจกรรมเพื่อที่จะหาทางเข้าไปช่วยอบรมและให้ความรู้กับชาวบ้าน
เช่นเดียวกับ นางณัฐธยาน์ อนันการ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านสะอาดสมศรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ที่นักศึกษาเห็นความสำคัญของชุมชน และนำความรู้และแนวคิดใหม่ๆมาให้ชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านยังขาดความรู้และทำกันต่อ ๆ กันมา ต่อไปก็คงจะมีลายผ้าที่ทันสมัยขึ้น มีสีสันที่สวยงาม และมีการผลิตที่ได้จำนวนมากขึ้น
สำหรับโครงการ “ยุวชนอาสา” ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไปตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (อว.) ได้นำร่องโครงการ “ยุวชนอาสา” โดยให้นักศึกษารวมกลุ่มกันโครงการละ 8-10 คน บูรณาการความรู้หลากหลายสาขาในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ โดยให้ลงทำงานกับชุมชนจำนวน 1 ภาคการศึกษา และบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชาพร้อมประเมินผลการเรียนภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์
โดยหนึ่งในโครงการที่เข้าร่วมในครั้งนี้คือโครงการ การพัฒนาศักยภาพการผลิต การตลาด การสร้างสื่อ และการจัดทําบัญชีต้นทุน ชุมชนทอผ้าบ้านสะอาดสมศรี ตําบลภูปอ อําเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งนักศึกษาได้รวมกลุ่มกันบูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาด้านการตลาด ด้านบัญชี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ นิเทศศาสตร์ เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน
ทั้งนี้ชุมชนบ้านสะอาดสมศรี ตําบลภูปอ อําเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ เป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นในการทอผ้าฝ้าย เช่น ผ้าพื้น ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า เพื่อที่จะทำเป็นอาชีพเสริมระหว่างกการว่างเว้นในฤดูทำนา โดยที่ผ่านมาชาวบ้านเน้นการทอผ้าแบบดั้งเดิมแต่ยังขาดการประยุกต์ลวดลายและแบบใหม่ๆ ให้ทันสมัย และยังขาดทักษะและช่องทางในการสื่อสารทั้งในเรื่องด้านการตลาดและด้านการประชาสัมพันธ์