กองทุนดีอี ประเดิม VillageInsight พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

กองทุนดีอี ประเดิม VillageInsight พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
VillageInsight
นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

จับตาโครงการพัฒนานิเวศเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลฐานราก DE Smart Village ผุดไอเดีย สร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลให้ชุมชนเข้มแข็ง อัดทุน 5.5 ล้าน พัฒนาแพลตฟอร์ม VillageInsight ช่วยชุมชนขนาดเล็กเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และต่อยอดสู่การเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐสู่ยุค Data Driven และเติบโตเป็น กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต่อไปในอนาคต

นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จุดแข็งของเราคือสิ่งที่อยู่ภายในประเทศ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรมและบริการ แต่เรายังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และในช่วงของดิจิทัลเข้ามาแม้ว่าจะเป็นการดิสรัปชั่นส์บริษัทใหญ่ แต่ในมุมของชุมชนขนาดเล็ก เมื่อเรามีแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ เราก็จะสามารถขยายจากชุมชนต้นแบบไปสู่การทำในทั่วประเทศ และในอนาคตก็จะสามารถขยายไปสู่ต่างประเทศได้อีกด้วย

โครงการพัฒนานิเวศเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลฐานราก DE Smart Village จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับชุมชนขนาดเล็กที่จะมีจุดยืนบนโลกออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น ทั้งในส่วนของอาหารอร่อย ที่ท่องเที่ยวขนาดเล็ก ที่พัก ตลอดจนการให้ความรู้ ให้แพลตฟอร์ม และสร้างการสนับสนุนภาครัฐให้กับภาคประชาชน โดยใช้งบประมาณ 5.5 ล้าน ภายในระยะเวลาดำเนินการราว 8 เดือน โดยจะเป็นเข้าไปส่งเสริมชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนา 30 -50 ชุมชนให้แข็งแกร่ง พร้อมการสร้างผู้นำชุมชนให้สามารถบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืน

การทำเช่นนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน และทำให้ระบบนิเวศน์ที่พร้อมจะส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานของภาครัฐจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของความร่วมมือ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันจะเริ่มจากชุมชนเล็กๆที่มีปัจจัยของแรงดึงดูดที่สำคัญ และเชื่อว่าทุกสถานที่มีจุดขายของตัวเองที่สามารถต่อยอดไปสู่การขายของชุมชนได้หากได้รับการโปรโมตและพัฒนาที่เหมาะสม

สิ่งที่เราเน้นคือ แนวความคิดของผู้นำชุมชน จะต้องสามารถสร้างคุณภาพในการพัฒนาจุดขายของชุมชนได้อย่างมีระบบ และมีการติดตามผลการทำงาน การติดตามผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างระบบที่ครอบผู้นำชุมชนขึ้นอีกครั้ง เพื่อช่วยในการขาย และตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและบริการจากภาคเอกชน ตามกลไกของตลาด นอกจากนี้ยังจะมีหน่วยงานองค์การค้า เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า และในฝั่งของบริการ จะมีการตรวจสอบจากรีวิวของนักท่องเที่ยวที่เคยไปมาแล้วว่ามีความประทับใจหรือไม่

ด้านนายภควัต รักศรี หัวหน้าโครงการพัฒนานิเวศเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลฐานราก DE Smart Village กล่าวว่า จากปัญหาของการขาดการบูรณาการด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าแต่ละหน่วยงานจะมีช่องทางอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละหน่วยก็จะทำของตนเอง อันเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนและไม่มีเครื่องมือที่สะดวกในการทำ

วันนี้เราพัฒนาแพลตฟอร์ม แบบดาต้าแพลตฟอร์ม ซึ่งจะสามารถแชร์ข้อมูลให้กับแต่ละหน่วยงาน จาก Data Lake ภายในแพลตฟอร์ม VillageInsight.org เพื่อรองรับการทำงานที่ซ้ำซ้อนให้กับหน่วยงาน และภายในตัวแพลตฟอร์มเองก็จะมีการทำอีคอมเมิร์ซเล็กๆอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยร่วม เพื่อส่งต่อข่าวสารการประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชน และสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เป็นหนังสั้น โดยมีงบประมาณแบบ O2O ซึ่งจะซื้อสินค้าตัวอย่างมาจัดแสดงเพื่อให้ลูกค้าได้สามารถจับต้องได้ และนำไปสู่การสั่งซื้อต่อไปในอนาคต

VillageInsight

ทั้งนี้ชุมชนที่จะเข้าร่วมจะต้องมีอัตลักษณ์ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหารน่าทาน มีที่น่าพัก และสินค้าน่าซื้อ เพื่อที่เป็นแรงดึงดูดในการเข้ามาของนักท่องเที่ยว หรือจะมีเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ ด้วยก็ได้

นอกจากนี้ยังจะต้องมีผู้นำชุมชน เพื่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นคนช่วยยืนยันถึงมาตรฐานของการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ๆ ว่ามีความโดดเด่นจริง และยังจะต้องมีหน่วยงานรับรองเพื่อที่จะสามารถต่อยอดได้ถูกจุด ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของ 1.ชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2.เชิงเกษตร 3.โฮมสเตย์ 4. เชิงอนุรักษ์ 5.แหล่งท่องเที่ยว และสุดท้าย 6.ชุมชนเมือง

ในการสร้างแพลตฟอร์มนี้มีการเลือกใช้ภาษา ReAct ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เว็บใหญ่เลือกใช้ โดยจะสามารถรองรับการใช้งานจำนวนคนที่มาก และสนับสนุนการทำ Data Transfer ที่สมบูรณ์แบบ โดยจะเป็นการรวบรวม Big Data ตั้งแต่เริ่มเข้าชมเว็บไซต์จวบจนจบทริปการท่องเที่ยวนั้น ๆ ซึ่งจะเก็บข้อมูลทั้งหมด แล้วสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมให้แก่นักท่องเที่ยวนั้น ๆ จากข้อมูลของแต่ละชุมชนนำเสนอต่อไปในอนาคต

ขณะที่การประสานข้อมูลของหน่วยร่วม สามารถระบุได้เลยว่ามีความต้องการข้อมูลแบบไหน อย่างไร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงความต้องการอย่างแท้จริง โดยทั้ง 4 กลุ่มข้อมูล แต่ละกระทรวงสามารถเรียกข้อมูลไปใช้ได้อย่างสะดวก

เรายินดีเป็นระบบหลังบ้านให้กับทุกหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งจะฐานข้อมูลแบบเปิดเพิ่มเติมจากศูนย์ข้อมูลแบบเปิดที่มีอยู่ ซึ่งในอนาคต DE Smart Village จะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลแบบ API ที่แต่ละหน่วยงานสามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำไปสู่การเป็นภาครัฐที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยฐานข้อมูลเป็นหลัก (Data Driven)

การใช้งานแพลตฟอร์มที่ง่าย

ชุมชนสามารถสมัครสมาชิกได้ง่าย เขียนข้อมูลได้เอง และสามารถสร้างแอปพลิเคชั่นได้เอง สามารถเข้าใช้ผ่านคิวอาร์โค้ด เชื่อมโยงฐานข้อมูล แนะนำชุมชนได้อย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในพื้นที่ รองรับการขนส่งระบบไปรษณีย์ไทยและรายอื่นๆ ซึ่งในอนาคตโครงการสามารถจะต่อยอดสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (โซเชียลเอนเตอร์ไพร์ซ) ได้ สามารถสั่งจองผ่านแพลตฟอร์มได้ มีการรายงานผลการเข้าใช้งาน และยอดขาย ยอดจองต่างๆ เพื่อประเมินและพัฒนาระบบต่อไปได้ในอนาคต โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์

มีระบบปฏิทิน เพื่อแจ้งเตือนกิจกรรมของชุมชน ให้บุคคลที่สนใจรับทราบ มีระบบการเดินทางและสร้างเส้นทางที่เหมาะสม ช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางภายในชุมชนได้โดยง่าย พร้อมการรายงานสถานการณ์ในชุมชน เพื่อสร้างอัพเดตข่าวสารของชุมชนได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นการสร้างทริปการท่องเที่ยวได้เอง โดยระบุจำนวนค่าใช้จ่าย และการจองบริการกับเอกชน ได้ด้วยตนเองอีกด้วย

ปัจจุบันมีจำนวน 30 ชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้แต่ละชุมชน ได้เข้าใจในกระบวนการพัฒนา โดยจะมีการสอนเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบ อันจะสามารถขยายผลให้ผู้นำชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสอนต่อ หรือได้รับการอบรมผ่านหน่วยร่วมต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้คาดว่าระบบแดชบอร์ดจะสามารถพร้อมให้บริการได้ในราวต้นเดือนธันวาคม 2563 ขณะที่การสร้าง Data Lake ในรูปแบบ API ผ่านแพลตฟอร์ม VillageInsight.org คาดว่าจะแล้วเสร็จในราวต้นปี 2564 และในอนาคตจะสามารถต่อยอดสู่การเป็นโซเชียลเอนเตอร์ไพร์ซ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเรื่องของดาต้าหลังบ้านให้มาก เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปต่อยอด ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการของชุมชนในพื้นที่ต่อไป

Related Posts