ส่องพฤติการณ์เชื้อโรค โควิด-19 ผ่านเพจหมอเดียร์ ย้อนวัย ไม่ใช้ศัลยกรรม

ส่องพฤติการณ์เชื้อโรค โควิด-19 ผ่านเพจหมอเดียร์ ย้อนวัย ไม่ใช้ศัลยกรรม
โควิด-19
พันโทนายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง

เรารู้ว่าไวรัสโคโรน่าที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดโรค โควิด-19 และสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือกระบวนการเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลา ตลอดจนรูปแบบการเข้าทำลายร่างกายที่เรารักของเชื้อชนิดนี้ วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสเจอหมอเดียร์ แพทย์อายุรศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและโรคตับ จึงไม่พลาดที่จะได้ขอความรู้เรื่องของพฤติการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่า ว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วเขาทำงานอย่างไรต่อร่างกายบ้าง

พันโทนายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง หรือหมอเดียร์ แพทย์อายุรศาสตร์และเป็นเจ้าของเพจ “หมอเดียร์ ย้อนวัย ไม่ใช้ศัลยกรรม” กล่าวว่า เชื้อโคโรน่าไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น จริงๆแล้วตัวเชื้อไม่ได้สร้างอันตรายให้เกิดขึ้นโดยตรงกับร่างกาย เช่นกัด กร่อน หรือทำอันตรายแต่อย่างใดต่ออวัยวะมนุษย์ แต่การเข้าสู่ร่างกายจะทำให้กลไกของร่างกาย เปิดระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อทำการปกป้องไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง

การเปิดระบบภูมิต้านทานเช่นนี้ ด้วยความที่ร่างกายไม่เคยรู้จักเชื้อชนิดนี้มาก่อน ระบบก็จะสั่งการทำลายด้วยขั้นตอนของร่างกายที่จะสามารถทำได้ ซึ่งก็เกิดขึ้นตามความแข็งแรงของร่างกายด้วย โดยมีพระเอกหลักอยู่ที่ แอนติบอดี้ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ถูกปล่อยออกมาจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากเม็ดเลือดขาว โดยกระบวนการสร้างนั้นก็จะเริ่มขึ้นราว 7-10 วันหลังจากร่างกายรับเชื้อเข้าไป แต่แอนติบอดี้ ไม่ได้ทำลายล้างเพียงแค่เชื้อเท่ายังส่วนที่อวัยวะที่อยู่ใกล้และบอบบางก็จะถูกทำลายลงด้วย ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำไมปอดถึงถูกทำลายเมื่อพบการติดเชื้อ

ในขั้นตอนนี้ สำหรับผู้ที่ไม่แข็งแรงก็จะมีภูมิต้านทานต่ำ ทั้งความเร็วและปริมาณของแอนติบอดี้ จึงไม่เพียงพอที่จะหยุดเชื้อไวรัสโคโรน่าด้วยตัวเองได้ ขณะที่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและโรคมะเร็ง ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำเป็นทุนเดิม ทั้งที่เกิดจากโรคและจากการทานยากดภูมิเอาไว้นั่นเอง

ขณะที่กลุ่มเด็ก แม้ว่าจะมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะออกอาการไม่รุนแรง เนื่องจากระบบภูมต้านทานยังมีประสิทธิภาพที่ดี และมีความต่อต้านของร่างกายที่ต่ำ ทำให้อาการที่แสดงไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้กลุ่มคนหนุ่มสาวก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน แต่ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงกว่าทำให้มีโอกาสแสดงอาการได้น้อยเช่นเดียวกับกลุ่มเด็ก

โควิด-19

พฤติการณ์ของเชื้อโคโรน่าไวรัส

การทำงานของเชื้อโคโรน่าไวรัสที่เป็นต้นเหตุไปสู่การเป็นโรคโควิด-19 นั้น ในภาพรวมเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ จะมีระยะเวลาในการวนเวียนอยู่ในช่องปากอยู่ราวๆ 48 ชั่วโมง ดังนั้นเราจะเห็นว่า มีน้ำยาป้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อบางชนิด ขายดิบขายดีในท้องตลาด เนื่องจากมีการนำมาใช้บ้วนปากทุกวัน ซึ่งไม่ได้บอกว่ามีผลในการยับยั้งเชื้อได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดจำนวนเชื้อที่จะไหลเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจและลงไปสู่ปอดในขั้นตอนต่อไป

และหลังจากเชื้อเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและปอด เชื้อจะทำการขยายตัวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามความอ่อนแอของร่างกาย โดยมีระยะฟักตัวนับตั้งแต่เชื้อเข้าสู่ร่างกายราว 1-14 วัน ซึ่งข้อมูลของ WHO ระบุว่าค่าเฉลี่ยของการฟักเชื้ออยู่ที่ราว 5-6 วัน และกว่า 97% ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการภายใน 14 วัน โดยกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจะถูกส่งเข้ารับการรักษาและใช้เวลาราว 6 สัปดาห์ ขณะที่กลุ่มที่แข็งแรงจะสามารถต้านทานเชื้อได้เองและหายป่วยราว 2 สัปดาห์

โรคโควิด19 นี้ โดยหลักการแล้วจะสามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางฝอยละอองจากจมูกหรือปาก ซึ่งขับออกมาเมื่อผู้ป่วย ไอหรือจาม และเราจะรับเชื้อได้จากการหายใจเอาฝอยละอองจากผู้ป่วยเข้าไปสู่ร่างกาย หรือจากการเอามือไปจับพื้นผิวที่มีฝอยละอองเหล่านั้นแล้วมาจับตามใบหน้า จนเชื้อไหลเข้าสู่ร่างกาย

ทั้งนี้ข้อมูลจาก WHO ยังระบุว่าค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในกลุ่มประชากรที่มีความไวต่อการรับเชื้ออยู่ที่ราว 2 และ 4 และเมื่อมีการรับเชื้อต่อมาแล้วจะมีช่วงเวลาในการแสดงอาการในผู้ป่วยรายต่อๆไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 4 และ 5 วัน โดยข้อมูลช่วงเวลา ธันวาคม 2019 – พฤษภาคม 2020 ระบุว่ามีสัดส่วนของผู้ป่วยที่ถึงแก่ชีวิตอัตราคร่าวๆอยู่ที่ราว 7%

ซึ่งในกระบวนการรักษานั้นในระยะสั้นเมื่อเชื้อมีการลดลงอย่างต่อเนื่องจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งสิ่งนี้จะมีนัยสำคัญต่อการควบคุมโรคในสถานพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยบางรายเมื่อได้รับการยินยอมให้กลับบ้านได้ยังต้องกักตัวเองต่อที่บ้านแล้วต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพหรือระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่สร้างจากแอนติบอดี้ที่จะรับประกันความเที่ยงตรงของสิ่งที่เรียกว่า “พาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน” หรือ “ใบรับประกันว่าไม่มีความเสี่ยงโควิด-19” ทุกคนควรตระหนักว่าการปฎิบัติตามคำแนะนำทางสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

โควิด-19 กับประสิทธิภาพของวัคซีน

หมอเดียร์ ระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อนำไปใช้จริง ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าข้อมูลจากการศึกษาในการวิจัย ทั้งนี้เพราะการใช้ในภาคสนามมีตัวแปรอื่นๆอีกมากมาย เราจะเห็นได้จากประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าเราดูตามที่บริษัทบอกจะมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ในการใช้จริงจะต่ำกว่าที่เขียนไว้ในฉลากยาอย่างแน่นอน

ในทำนองเดียวกัน การศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนของไวรัสตับอักเสบ-บี ที่ผมทำการศึกษาในอดีต ในการศึกษาวิจัยจะมีประสิทธิภาพสูงมาก สูงถึง 94%-95% แต่เมื่อนำไปใช้จริงในประชากรหมู่มากหรือให้กับทารกทุกคน ประสิทธิภาพโดยรวมจะลดลงประมาณ 10% เหลือประมาณ 80% ต้นๆ

ทำนองเดียวกัน ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการศึกษากันมากมีสูงสุดถึง 95% แต่เมื่อนำมาใช้จริงประสิทธิภาพก็จะน้อยกว่าในการศึกษาวิจัย เนื่องจากการใช้จริงภาคสนามยังมีตัวแปรอื่นๆที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงได้ ในขณะนี้คงต้องรอดูประสิทธิภาพวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ให้กับคนหมู่มากในประเทศอิสราเอลเพราะให้ไปแล้วมากกว่า 30% ของประชากร และในทำนองเดียวกันคงต้องรอดูประสิทธิภาพของวัคซีนจีน Sinopharm ที่ให้ในประชากรประเทศ UAE ที่ให้ไปมากกว่า 20% แล้ว คงจะเห็นผลประสิทธิภาพในชีวิตจริง และจะมีรายงานออกมาในเร็วๆนี้

ดังนั้นเราจึงไม่ควรที่จะรอความหวังจากวัคซีนเพียงอย่างเดียวถึงแม้จะมีการให้วัคซีนแล้ว มาตรการอย่างอื่นในการควบคุมโรคก็ยังจะต้องเป็นเหมือนเดิมในปีนี้ ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ ตลอดจนการกำหนดระยะห่างของบุคคลที่เราจะต้องดำเนินการต่อไปเช่นเดิม

Related Posts