ตามที่ได้มีประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนด กำลังมอเตอร์ ไฟฟ้า ที่ใช้ขับเคลื่อนรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560 ไว้แล้วนั้น โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้รถบางประเภทที่มีกำลังพิกัดของมอเตอร์ไฟฟ้าเหมาะสมกับการใช้งาน สามารถนำมาจดทะเบียนได้
และให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ พ.ศ. ๒๕๔๘ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ลงวันที่9 มกราคม พ.ศ. 2560
(๒) ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2562 ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒
ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า” หมายความว่า กำลังพิกัด (Rated Power) หรือกำลังขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วต่อเนื่องสูงสุด 30 นาที (Maximum 30 Minutes Power) ของมอเตอร์ไฟฟ้า
ข้อ ๓ รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ที่ขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมี กำลังมอเตอร์ ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์
ข้อ ๔ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ ต้องสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ข้อ ๕ รถยนต์รับจ้างสามล้อและรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ข้อ ๖ รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมี กำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ข้อ ๗ มอเตอร์ไฟฟ้าของรถตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ต้องสามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (Gross Vehicle Weight) ตามที่ผู้ผลิตกำหนดด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดในประกาศนี้ ได้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที
ข้อ ๘ รถตามข้อ ๓ ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า หรือใช้มอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในหรือแหล่งพลังงานอื่นในการขับเคลื่อนหรือกำเนิดพลังงาน (Hybrid Electric Vehicle และPlug In Hybrid Electric Vehicle) ต้องติดเครื่องหมายตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๑ ท้ายประกาศนี้ ที่บริเวณด้านท้ายของตัวรถซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน
รถตามข้อ ๔ ต้องติดเครื่องหมายตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๒ ท้ายประกาศนี้ที่บริเวณด้านท้ายของตัวรถซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน รถตามวรรคหนึ่งที่มีการกำหนดรหัสหรือรุ่นเป็นการเฉพาะจากผู้ผลิต และได้ติดตัวอักษรตัวเลข หรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้ที่ด้านท้ายของตัวรถอย่างถาวร และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว ให้ได้รับการยกเว้นการติดเครื่องหมายตามแบบที่กำหนดไว้ในภาคผนวก ๑ ท้ายประกาศนี้
ข้อ ๙ รถตามข้อ ๓ ที่จดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีการแจ้งไม่ใช้รถตลอดไปหรือทะเบียนเป็นอันระงับ หากเจ้าของรถนำรถมาจดทะเบียนใหม่ ให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ ที่สามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงต่อไปได้
ข้อ ๑๐ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ภาคผนวก 1
แบบเครื่องหมายรถไฟฟ้า แนบท้ายประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์พ.ศ. 2563
หมายเหตุ
๑. ตัวอักษร “e” สีขาวสะท้อนแสง สูง 50 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร
๒. พื้นเครื่องหมายเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินเข้ม มีขอบสีขาวสะท้อนแสงขนาด 5 มิลลิเมตรอยู่รอบนอก
๓.. ความกว้างของเครื่องหมาย ๑๐๐ มิลลิเมตร ความยาวของเครื่องหมาย ๑๐๐ มิลลิเมตร
๔. เครื่องหมายที่ใช้ติดกับตัวรถต้องมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ไม่หลุดล่อน ไม่ซีดจาง
ภาคผนวก 2
แบบเครื่องหมายรถขนาดเล็ก แนบท้ายประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์พ.ศ. 2563
หมายเหตุ
๑. ตัวอักษร “S” สีขาวสะท้อนแสง สูง 50 มิลลิเมตร หนา ๑๐ มิลลิเมตร
๒. พื้นเครื่องหมายเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินเข้ม มีขอบสีขาวสะท้อนแสงขนาด 5 มิลลิเมตรอยู่รอบนอก
๓. ความกว้างของเครื่องหมาย ๑๐๐ มิลลิเมตร ความยาวของเครื่องหมาย ๑๐๐ มิลลิเมตร
๔. เครื่องหมายที่ใช้ติดกับตัวรถต้องมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ไม่หลุดล่อน ไม่ซีดจาง