สมศ. ทรานส์ฟอร์มจากผู้คุมสู่ที่ปรึกษาการศึกษายุคดิจิทัล

สมศ. ทรานส์ฟอร์มจากผู้คุมสู่ที่ปรึกษาการศึกษายุคดิจิทัล
สมศ.
การประเมินคุณภาพทางการศึกษาแบบออนไลน์

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เร่งปรับเปลี่ยนการประเมินใหม่รองรับการทำงานยุคโควิด-19 โดยดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสื่อสารแทนการเข้าเยี่ยมชมแบบเดิม พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่จากเดิมที่เน้นประเมินเพื่อตัดสินสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการศึกษา ลดภาระการประเมินของทางโรงเรียนและช่วยดึงศักยภาพของโรงเรียนออกมาให้โดดเด่นด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมาตรฐานการตรวจสอบอย่างแท้จริง

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า แนวทางการประเมินการศึกษาของ สมศ เรามีความตั้งใจให้กลายเป็นกัลยาณมิตรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการประเมินโรงเรียนมักจะเป็นการชี้ถูกผิด เพื่อให้โรงเรียนแก้ไขเองตามลำพัง วันนี้ สมศ. จะเปลี่ยนเป็นแนวทางการเป็นผู้ให้คำปรึกษา เพื่อชี้แนะแนวทางให้โรงเรียนสามารถพัฒนาขึ้นจากจุดแข็งที่ตนเองมี ให้มีความชัดเจนและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งแนวทางเช่นนี้จะเป็นรูปแบบของการประเมินต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงโควิดเท่านั้น

แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม การลงพื้นที่เพื่อระเมินเหือนเช่นเดิมไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการส่งเอกสาร และการประเมิน โดยรูปแบบใหม่ แบ่งระยะการทำงานที่สำคัญออกเป็น 2 ระยะที่ชัดเจน โดยแบ่งเป็นระยะแรก การทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self – Assessment Report : SAR) ของทางโรงเรียน เพื่อส่งให้กับ สมศ ผ่านระบบออนไลน์ที่เตรียมไว้ แล้ว สมศ จะทำการประเมินและศึกษาความสามารถของทางโรงเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงที่เกี่ยวข้อง เพื่อต้องการดึงจุดเด่นของโรงเรียนให้ได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างตรงจุด

และในระยะที่ 2 จะมีการประสานกับทางโรงเรียนภายในสังกัดที่มีอยู่กว่า 1.6 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อแจ้งจุดเด่นที่ต้องการเห็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่โรงเรียนนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งจะมีการแจ้งหัวข้อที่ต้องการประเมินให้รับทราบก่อนล่วงหน้า แต่จะไม่แจ้งคำถามก่อนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ สมศ สามารถรับรู้รายละเอียดของการดำเนินกิจกรรม เพื่อช่วยผลักดันให้ทางโรงเรียนสามารถพัฒนาได้อย่างตรงจุดได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ในการแสดงตัวอย่างของการประเมินนั้น สมศ ได้เลือกตัวอย่างโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ซึ่งได้ยื่นความพร้อมในการเข้ารับการประเมินคุณภาพทางการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยการประเมินในระยะที่ 2 นั้นได้มีการพูดคุยกับผู้สอนในขั้นตอนแรกผ่านการวิดีโอคอล เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันหลังจาก สมศ ศึกษาจากเอกสาร SAR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ทางโรงเรียนทำการไลฟ์สด พาชมการเรียนการสอนตลอดจนกิจกรรมที่ต้องการเห็นรายละเอียด ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทั้งโรงเรียนและสมศ ได้เป็นอย่างดี

ประเมินคุณภาพการศึกษา
ซิสเตอร์ ดร.บุษบา ชูวิรัช อธิการิณีโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ (ซ้าย) และ ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.

ด้านซิสเตอร์ ดร.บุษบา ชูวิรัช อธิการิณีโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กล่าวว่า โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เป็นโรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนประมาณกว่า 2,100 คน สำหรับการจัดการเรียนการสอนช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการสอนออนไลน์ให้กับครูผู้สอนแต่ละรายวิชานับตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เมื่อประกาศให้ทำการเรียนการสอนออนไลน์ก็ทำให้เราสามารถเลือกรายวิชาขึ้นมาปรับสอนได้ทันที

เพื่อให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในรายวิชาที่สามารถทำได้ ส่วนวิชาใดที่จำเป็นจะต้องเรียนในห้องเรียนหรือรายวิชาการปฏิบัติ จะเก็บไว้ก่อน เพราะการเรียนออนไลน์นั้นจากการวิเคราะห์พบว่าเด็กจะมีสมาธิเพียงแค่ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นการเรียนออนไลน์จึงไม่เหมาะจะสอนในวิชาที่ยากและซับซ้อน

โดยเราเลือกวิชาที่เหมาะสมในการสอนออนไลน์ และปรับเวลาให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ขณะที่เครื่องมือออนไลน์เพื่อใช้ในการเรียนยังมีการเลือกใช้สำหรับให้เหมาะสม และเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนตามการแบ่งระยะห่างที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นการแบ่งรอบทานอาหารถึง 4 รอบ อีกทั้งยังมีการปรับความรู้ของเด็กให้เท่าเทียมกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในช่วงโควิด

การร้องขอประเมินออนไลน์เป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทย เราเชื่อว่าเรามีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมินอยู่แล้ว ทำให้เราไม่อยากรอ และอยากให้เกิดการประเมินขึ้นเลยเนื่องจากจะได้ไม่ต้องกังวลในการรอการประเมินแบบยืดเวลาต่อไป ซึ่งเราเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยความสุข

การประเมินครั้งนี้ เราคิดว่ามีความแตกต่างจากเดิม ซึ่ง สมศ ไม่ต้องการให้การประเมินเป็นภาระของโรงเรียน การอ่าน SAR ของ สมศ ซึ่งประเมินแล้ว ยังช่วยแนะนำให้โรงเรียนสามารถเน้นที่การเรียนรู้คู่ปัญญาและก้าวล้ำเทคโนโลยี ตลอดจนการสอนที่มีชุดการสอนที่เหมาะสม ทำให้เรามองว่า การประเมินครั้งนี้ไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นการแนะนำให้โรงเรียนสามารถชูจุดแข็งของโรงเรียนออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น

อีกเรื่องที่สำคัญคือการประเมิน ยังไม่เป็นการรบกวนการเรียนการสอน การตรวจเยี่ยมเพียงแค่ครึ่งวันก็สามารถประเมินได้ครบทั้งโรงเรียน ด้วยการทำการบ้านมาอย่างดีของ สมศ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้สังคมอุดมปัญญา เราก็จะพาให้เข้าไปดูได้ตรงจุด

ดร.นันทา กล่าวเสริมว่า การเรียนรู้ด้วยวิธีการที่ชื่นชอบของเด็ก เช่นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากวรรณคดี ซึ่งเด็กก็ชื่นชอบและเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีทักษะ ขณะที่เมื่อเด็กจบออกไปก็จะไปช่วยกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เช่นกัน

ขณะที่ระยะที่ 2 นอกจากการเรียนรู้ของเด็กเองแล้ว ยังมีการสร้างผลงานแล้วนำเสนอออกมาเป็นโครงการ ซึ่งการนำเสนอนั้นเป็นรูปแบบ 2 ภาษา โดยมีผลงานบางส่วนที่ได้รับการสร้างออกมาจริงจากนักคิดของเรา และติดทั่วโรงเรียนด้วยการสนับสนุนของทางโรงเรียนและผู้ปกครอง

หลังจากวันนี้แล้ว คิดว่า โรงเรียนต่างๆจะได้ประโยชน์ และไม่ต้องกังวลการประเมิน ซึ่งก่อนการประเมินจะมีการแนะนำก่อน ทำให้ลดขั้นตอนการประเมิน และประเมินได้อย่างตรงจุด ซึ่งขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การซักถามความรับผิดชอบในขั้นตอนต่างๆ และมีความเป็นพันธมิตรในการช่วยโรงเรียนในการพัฒนา โดยที่โรงเรียนไม่ต้องนับหนึ่งใหม่อีกต่อไป

ดร.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินในระยะสอง จะเป็นการประเมินในลำดับต่อไปหลังจากที่สถานศึกษาทราบผลการประเมินในระยะแรก และยึดถือตามความสมัครใจของสถานศึกษาเท่านั้น โดยหากสถานศึกษาต้องการรับการประเมินสามารถแจ้งความประสงค์มายัง สมศ. ได้ทันที โดย สมศ.จะทำการนัดหมายและแจ้งไปยังสถานศึกษาเพิ่มเติมว่าผู้ประเมินภายนอกจะประเมินในประเด็นใดบ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้รวมถึงการขอข้อมูลหลักฐานบางประการที่ผู้ประเมินสามารถตรวจสอบได้ ก่อนพิจารณาการประเมินในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีของสถานศึกษาเอง ตลอดจนการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ที่ผู้ประเมินต้องการสัมภาษณ์เพิ่มเติม เป็นต้น

“สำหรับการประเมินในระยะที่ 2 นั้น สมศ.ได้เตรียมการตรวจเยี่ยมในรูปแบบออนไลน์ ด้วยระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ผ่าน แอพพลิเคชั่น Google Meet, Line Video Call หรือแอพพลิเคชั่น อื่น ๆ ตามที่สถานศึกษาสะดวกเพื่อไม่เป็นการสร้างภาระเพิ่มเติม โดยจะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง หรือแค่ครึ่งวันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลานาน 3 วันในการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา จากนั้นผู้ประเมินจะรายงานผลมายัง สมศ. เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ สมศ.พิจารณารับรอง ก่อนส่งผลการประเมินไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด”

สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบใหม่ สมศ.ได้วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2564 จะต้องประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาให้ได้อย่างน้อย 17,000 แห่ง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 2 มีนาคม 2564 มีสถานศึกษาส่ง SAR มาแล้วเกินกว่าจำนวนที่ สมศ.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และเบื้องต้น สมศ. ทราบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ส่ง SAR เข้ามานั้น มีการเรียนการสอนที่ปรับไปสู่ช่องทางออนไลน์ และมีความประสงค์ที่จะรับการประเมินผ่านรูปแบบใหม่ เพื่อให้ระบบที่ใช้ในการพัฒนาสถานศึกษา – การเรียนการสอนมีความสอดคล้องกัน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

Related Posts