กว่า 34 ปีที่ เดลต้า ประเทศไต้หวัน เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาส พูดคุยกับ คุณแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร เดลต้า ประเทศไทย ในงานฉลองครบรอบ 50 ปี ถึงมุมมองการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทย แม้ว่าจะเพิ่มเข้ารับตำแหน่งมาได้เพียงไม่กี่ปี แต่ประสบการณ์ของการบริหารงานในกลุ่มประเทศยุโรปของประธานจาง นั้นก็นับว่าเป็นต้นแบบทางด้านพลังงานไฟฟ้าที่ดี ให้ไทยสามารถเดินตามรอยได้เป็นอย่างดี
นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร เดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนเข้ามาที่ประเทศไทย ผมได้มีโอกาสบริหารงานในกลุ่มประเทศยุโรปอยู่หลายปี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศยุโรปมีการพัฒนาทางด้านพลังงานไฟฟ้าไปอย่างมาก มีการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสร้างการควบคุมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้คนก็การรับรู้และตระหนักถึงพลังงานที่มีวันหมดไปอย่างน้ำมัน และให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
การเข้ามาในประเทศไทย เป็นโอกาสอันดีที่นอกจากผู้คนที่ยิ้มแย้มและอาหารที่มากมายแล้ว ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางของการเดินทางหรือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาธรกิจที่ดี ด้วยความพร้อมทางกายภาพ ที่มีทั้งท่าเรือเชื่อมต่อออกสู่ทะเล การเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรับรู้เรื่องเทคโนโลยีของผู้คน รวมทั้งระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตที่นับว่ามีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
เดลต้าเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการควบคุมการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความสะดวกของการเดินทางรวมทั้งความพร้อมของนโยบายการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจที่มั่นคง ดังจะเห็นได้จากเราเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทย พรัอมๆกับการเปิดบริษัทในหลายๆทวีป โดยตลอดระยะเวลากว่า 34 ปีที่เข้ามาในประเทศไทย เรามีส่วนช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 31.4 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปี พ.ศ. 2562 และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 16 ล้านตัน และมุ่งมั่นที่จะลดความเข้มของคาร์บอนลงถึง 56% ภายในปี 2568
การพัฒนาโซลูชั่นการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ความท้าทายของเราในอนาคต คือการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเราได้พัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จไฟให้กับ รถยนต์ไฟฟ้า ที่นอกจากจะใช้ได้กับรถแล้ว ยังสามารถจ่ายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบของบ้านได้ใช้ประโยชน์ได้ หรือแม้กระทั่งการตั้งเวลาการชาร์จในช่วงที่มีการใช้งานไฟฟ้าน้อยที่สุด เพื่อลดโอกาสการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไปจนส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าตก และเกิดความเสียหายขึ้นกับผู้ใช้ได้
โดยระบบดังกล่าวได้มีความร่วมมือผูู้จำหน่ายไฟฟ้าและการไฟฟ้าของประเทศไทย ในการติดตั้งอุปกรณ์สถานีชาร์จที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเริ่มติดตั้งไปแล้ว 2-3 สถานีในรูปแบบต่างๆของแพลตฟอร์มการชำระเงินนั้นๆ ตามห้างสรรพสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยระยะเวลาในการชาร์จ 0-100% ก็ยังต้องใช้ระยะเวลาราว 5-8 ชั่วโมง ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นของรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้มุมมองส่วนตัวมองการพัฒนาในประเทศนอร์เวย์ที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50% แล้วนั้น ต้องยอมรับว่า ผู้คนในประเทศนอร์เวย์ มีความตระหนักรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก คนนอร์เวย์เข้าใจดีถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าประเทศจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เพียงพอ แต่คนก็ยอมจ่ายค่ารถยนต์ไฟฟ้าที่แพงกว่ารถสันดาปอยู่พอสมควร เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง
รวมไปถึงมีมาตรการสิทธิพิเศษที่มากมายให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน ทั้งในเรื่องของภาษีส่วนบุคคล ภาษีการนำเข้า การให้ส่วนลดพิเศษเพื่อผ่านแดนขับรถเข้าเมือง ตลอดจนการส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบแทนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในฐานะของการช่วยรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างมีนัยยะสำคัญ
ท้ายที่สุดความสำคัญของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศไทย ด้วยความคาดหวังที่อยากให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนั้น อาจจะต้องอาศัยการสร้างทิศนคติที่ดีของการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกให้เกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การบังคับให้รักษ์ แต่ต้องเป็นความเต็มใจและภูมิใจที่จะทำ เมื่อสามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดของประชากรส่วนใหญ่ได้แล้ว TheReporterAsia ก็เชื่อแน่ว่า ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกการใช้พลังงานรูปแบบไหนในการเดินทางหรือการใช้ชีวิตประจำวันก็แล้วแต่ ย่อมสะท้อนออกมาเป็นความรักษ์โลกที่จริงแท้อย่างแน่นอน