ชื่นชมชีคแห่ง UAE ผุดรางวัลผลักดันวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ชื่นชมชีคแห่ง UAE ผุดรางวัลผลักดันวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

 

UAE

ความท้าทายของการฟื้นคืนธรรมชาติให้ถูกทำลายน้อยลง หรืออย่างน้อยก็ต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจ และครั้งนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ The UAE Water Aid Foundation (Suqia UAE) ฯพณฯซาอิด อัล ทาเยร์ ผ่านอีเมล์ ทำให้เราได้รู้มุมมองที่สำคัญของการผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านน้ำอย่างมีประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือของมูลนิธิทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนายกรัฐมนตรีของ UAE และครองตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครดูไบ ด้วยการมอบรางวัลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกเป็นเงินกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านมูลนิธิที่ท่านจัดตั้งขึ้น

โดยรางวัล The Mohammed bin Rashid Al Maktoum Global Water Award มีการริเริ่มและเปิดตัวโดย พณฯ His Highness Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum, ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธาน และนายกรัฐมนตรีของ UAE และครองตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครดูไบ (Ruler of Dubai) เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ นั่นคือ การขาดแคลนน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของมูลนิธิ The Mohammed Bin Rashid Al Maktoum Global Initiatives Foundation

ขณะที่ทางมูลนิธิ The UAE Water Aid Foundation (Suqia UAE) ได้มอบเงินทุนเป็นรางวัลจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันวิจัย, บุคคล, และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทั่วโลกเพื่อพัฒนา และนำผลงานมานำเสนอ เป็นการโชว์เคสโซลูชั่นการแก้ปัญหาสำคัญนี้ที่คุ้มค่าการลงทุน, เป็นโซลูชั่นที่ควรต้องใช้แหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นนวัตกรรมอันน่าทึ่ง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นทางแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนทั้งชานเมืองและชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดสำหรับบริโภคและใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยการมอบรางวัลในสองครั้งที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีผู้เข้ารับรางวัลมากถึง 20 รายด้วยกัน ซึ่งแต่ละท่านนั้นได้นำเสนอโมเดลรูปแบบที่มีความเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตน้ำสะอาดได้ และสำหรับรอบที่ 3 ในครั้งนี้ เราได้ขยายขอบเขตของการพิจารณารางวัลให้ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ผลิต แจกจ่าย กักเก็บ เฝ้าระวัง ตลอดจนกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำและทำให้น้ำบริสุทธิ์ โดยใช้พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้เรายังได้มีการเปิดตัวรางวัลขึ้นอีกสาขา ได้แก่ รางวัลสำหรับนวัตกรรมการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำ The ‘Innovative Crisis Solutions Award’ รางวัลในสาขานี้จะเป็นการยกย่อง นวัตกรรม ที่สามารถจัดหาโซลูชั่นเพื่อการบรรเทาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะ ให้สามารถผ่อนคลายสถานการณ์ลงได้ภายใน 48 ชั่วโมงแรก ซึ่งช่วงเวลา 48 ชั่วโมงแรกถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งหลังการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับนานาชาติขึ้น เนื่องจากการหาแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค การดื่มกินที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตในช่วงเกิดวิกฤตและเกิดความหายนะทางธรรมชาตินั่นเอง

ทั้งนี้น้ำจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์จะต้องสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามมากกว่า 40% ของประชากรโลกไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัยได้ และตัวเลขนี้ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น ความรุนแรงของวิกฤตน้ำจำเป็นต้องใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกันไป และต้องเป็นการเข้าไปแก้ปัญหามากกว่าการแจกจ่ายน้ำ จึงจำเป็นต้องมีโซลูชั่นที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อม ตลอดจนมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

UAE
ฯพณฯซาอิด อัล ทาเยร์ ประธานคณะกรรมการ มูลนิธิ The UAE Water Aid Foundation (Suqia UAE)

ฯพณฯซาอิด อัล ทาเยร์ ระบุว่า ด้วยรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก The Mohammed bin Rashid Al Maktoum Global Water Award นี้ เราเชื่อว่าจะเป็นการเปิดประตูต้อนรับนวัตกรรมและวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ให้แก่วิกฤตการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก

รางวัลทุก 2 ปีนี้ได้ถูกมอบให้แก่บุคคล องค์กรที่มีความบุกเบิก และศูนย์การวิจัยด้านแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอรูปแบบความคิดริเริ่ม และนวัตกรรมที่สามารถบรรเทาสาธารณะภัยให้แก่ชุมชน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและปลอดภัยได้อย่างปกติ โดยรางวัลนี้ได้สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถผลิต แจกจ่าย กักเก็บ เฝ้าติดตามผล ตลอดจนกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำและทำให้น้ำบริสุทธิ์ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

เราขอยกย่องผู้ที่มีความสามารถ ชาญฉลาดจากทั่วโลกที่ได้บุกเบิกนวัตกรรมด้านน้ำ และโซลูชั่นที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กดดันชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งต้องเผชิญกับความยากจนและหายนะทางธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ

การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการจัดการระบบสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ขาดประสิทธิภาพนั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนของน้ำ โดยเรื่องนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค อาทิ อหิวาตกโรค ท้องร่วง โรคบิด ตับอักเสบเอและไทฟอยด์ เป็นต้น เป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ทางน้ำที่ปนเปื้อนและความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย ครอบครัวที่ด้อยโอกาสหลายล้านครอบครัวทั่วโลกไม่ได้ดื่มน้ำ ประกอบอาหาร หรือชำระล้างร่างกายด้วยน้ำสะอาด ซึ่งเป็นทรัพยากรตามธรรมชาติขั้นพื้นฐานที่เราหลายๆ คนต่างถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นความสามารถในการเข้าถึงน้ำที่สะอาดและปลอดภัยนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำลายวงจรชีวิตที่อยู่บนความยากจนของชุมชน

ความพยายามของเราในการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำของโลกนั้น สามารถทำได้ด้วยโปรแกรมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิ The UAE Water Aid Foundation ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือผู้คนไปแล้วมากกว่า 13 ล้านคนใน 36 ประเทศ เพื่อช่วยให้ชุมชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด และเราต้องการที่จะขยายความช่วยเหลือไปยังเหล่าเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนน้ำสะอาดและปลอดภัย

นวัตกรรมเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ด้วยพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ น่าจะเป็นทางออกที่มีสนนราคาค่าใช้จ่ายในเกณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้สูงในการรับมือกับวิกฤตการณ์ของน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก และจากการพิจารณาการเสนอเรื่องราวของผู้เข้าชิงรางวัลนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความก้าวหน้าและยั่งยืนของเทคโนโลยีหลายอย่าง ที่คาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยผู้ที่ชนะรางวัลหลายท่านในรอบก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงโซลูชั่นการแก้ปัญหาที่เรียบง่ายแต่ล้ำสมัย ซึ่งมีทั้งฟังก์ชั่นช่วยผลิต ทำให้น้ำบริศุทธิ์ และกรรมวิธีแจกจ่ายน้ำสะอาดไปยังชุมชนต่างๆ ที่มีความต้องการ

โดยในการพิจารณารางวัลครั้งที่ 1 นั้น บริษัท Elemental Water Makers จากประเทศฮอลแลนด์ ได้ชนะรางวัลที่ 1 ในสาขาโครงการที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยม ‘Innovative Projects Award’ โดยได้นำเสนอโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ (Reverse Osmosis) ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลิตน้ำสะอาดไว้ใช้ดื่มกิน ซึ่งมีการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานอยู่บนเนินเขา ช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานที่ต้องใช้ในการจัดการโรงงานลงได้ถึง 63% เมื่อเทียบกับระบบอาร์โอแบบเดิม ด้วยกำลังการผลิตน้ำสะอาดต่อวันได้ถึง 12,500 ลิตร และสามารถเปิดเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นปริมาณช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 25 ตันต่อปีอีกด้วย

UAE

ขณะที่การพิจารณารางวัลครั้งที่ 2 เราได้รับรู้โซลูชั่นที่น่าสนใจมากจากชาวเยอรมัน ยาน เรเดล (Jan Rädel) ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมยอดเยี่ยมประเภทบุคคลไปครอง ‘Innovative Individual Award’ โดยคุณยาน เรเดล นี้มีความใฝ่ฝันแต่เยาว์วัยที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกใบนี้ เขาได้เดินทางไปยังแทนซาเนีย เพื่อลงมือสร้างโรงงานผลิตน้ำจากพลังแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคแจกจ่ายไปยังโรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ โดยกระบวนการเริ่มต้นจากโรงงานได้กักเก็บน้ำฝนไว้ในถังเก็บ และใช้แรงโน้มถ่วงเพื่อช่วยใรกรองน้ำแบบความละเอียดปานกลาง แล้วเริ่มกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ด้วยการใช้ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในการดูดน้ำขึ้นไปบนถังเก็บน้ำซึ่งอยู่สูง 5-6 เมตรเพื่อช่วยให้เกิดแรงดันน้ำที่มากพอเข้าสู่กระบวนการกรองบริสุทธิ์อีกครั้ง ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ถังล้างย้อนและปั๊ม โดยหันไปใช้การทำงานเคียงข้างกันของแผ่นกรองที่ขับเคลื่อนด้วยแรงโน้มถ่วง 2 แผ่น โดยโรงงานน้ำแห่งนี้ยังได้มีถังเก็บน้ำที่มีความจุระหว่าง 100,000 ถึง 150,000 ลิตร เพื่อยืนยันได้ว่าน้ำดื่มจะมีเพียงพอตลอดฤดูกาลหน้าแล้งที่เกิดขึ้น

Project Maji

และอีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญนั่นคือ ซุ้มพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศกานา ภายใต้โครงการมาจิ (Project Maji) ก็ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลที่ 3 สาขานวัตกรรมการวิจัยและพัฒนายอดเยี่ยม ‘Innovative and Research Development Award’ในการพิจารณารางวัลครั้งที่ 2 โดยซุ้มพลังงานแสงอาทิตย์นี้ สามารถส่งต่อพลังงานให้กับปั๊มน้ำโซล่าร์เซลล์แบบจุ่มทำให้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ในการสำรองไฟฟ้าอีกต่อไป ดังนั้นจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ พร้อมการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น โดยซุ้มพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว สามารถปรับเปลี่ยนขนาดให้เหมาะสมตามความต้องการน้ำได้ระหว่าง5,000 -10,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งตอนที่โครงการมาจิส่งใบสมัครเข้ามานั้น ได้มีการติดตั้งซุ้มนี้แล้วจำนวน 41 ซุ้มในประเทศกานา และอีก 8 ซุ้มที่เคนย่า โดยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนไปได้ถึง 50,000 ชีวิต

Liquinex Group

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ถือว่าเป็นความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมด้านน้ำ จากการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 2 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง Liquinex Group จากประเทศสิงคโปร์ ได้คว้ารางวัลที่ 1 ในประเภท“ นวัตกรรมการวิจัยและการพัฒนา – สถาบันระหว่างประเทศ” สำหรับระบบกรองน้ำขนาดกะทัดรัด (Compact Water Purification System (CWPS)) ที่แข็งแกร่งและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยโซลูชันที่ล้ำสมัยนี้มีขนาดเพียงกระเป๋าเดินทาง แต่ได้รับการออกแบบมาเพื่อผลิตน้ำดื่มคุณภาพสูงตามค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ด้วยปริมาณการผลิต 500 ลิตรต่อชั่วโมง เพื่อช่วยให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนห่างไกลหรือได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้มีน้ำดื่มที่สะอาดไว้ดื่มกิน

โดย Liquinex ได้เริ่มพัฒนา CWPS ขึ้นมาในปี 2559 ด้วยโซลูชั่นขนาดกระเป๋าเดินทาง เพื่อช่วยให้น้ำดื่มสามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ห่างไกลและประสบภัยพิบัติ ซึ่งผู้คนมักจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่อาจเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อโรค ด้วยระบบของ Liquinex ที่ใช้ตัวกรองละเอียดแบบเซรามิกพิเศษที่แข็งแกร่ง พร้อมระบบฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ทำงานด้วยพลังงานต่ำแบบ 12V ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับชุดพลังงานแสงอาทิตย์หรือแบตเตอรี่รถยนต์ ตลอดจนพลังงานลมหรือพลังงานจากการเหยียบ ด้วยคุณสมบัติที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้สามารถรองรับผู้ที่ต้องการน้ำดื่มได้ในสถานที่ที่เข้าถึงยากที่สุดและในช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุด

ด้วยสโลแกน “น้ำสะอาดจากกระเป๋าเดินทาง” โดยเครื่อง Liquinex CWPS นั้นมีน้ำหนักเพียง 30 กก. ในขนาดที่สามารถขนย้านขึ้นบนเครื่องบินแบบกระเป๋าเดินทางทั่วไป หรือติดตั้งบนรถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการขนย้าย สามารถผลิตน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ราว 500 ลิตร / ชม. ซึ่งสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้คนประมาณ 1,700 คนในอัตรา 3 ลิตร / วัน / คน / ต่อกระเป๋าเดินทาง

Liquinex CWPS มีการนำไปใช้ยังพื้นที่ภัยพิบัติในประเทศลาว อินเดียและอินโดนีเซียแล้ว โดยโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลแห่งหนึ่งในรัฐปาดังของประเทศอินโดนีเซีย ได้ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครู นักเรียนและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ในการกรองน้ำจากลำธาร เพื่อใช้ดื่มแทนน้ำดื่มบรรจุขวด

จะเห็นได้ว่ามูลนิธิ Suqia UAE ใส่ใจและให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์การขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับการบริโภคทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน และด้วยแรงสนับสนุนของ The UAE Red Crescent Authority เราได้ดำเนินการโครงการด้านน้ำจำนวน 4 โครงการในประเทศไทยเพื่อจัดหาน้ำดื่มสะอาด และช่วยเหลือผู้คนให้มีน้ำดื่มสะอาดได้ถึง 4,900 คน

นับว่าแนวคิดของการเริ่มต้นมอบรางวัล Mohammed bin Rashid Al Maktoum Global Water Award ทุกสองปี เป็นตัวเร่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้องค์กร หรือนวัตกรด้านน้ำ ให้มีโอกาสได้คิดค้นและต่อยอดผลงานเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามรายงานขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยในปี 2558 ระบุว่ามีทารกแรกเกิดเสียชีวิตทุกนาทีจากการติดเชื้อ ที่เกิดจากการขาดน้ำที่ไม่ปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ในขณะเดียวกันข้อมูลขององค์การสหประชาชาติก็ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลกประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี ซึ่ง 73% อาศัยอยู่ในเอเชียนี่เอง คงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาใส่ใจกับเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม และช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่กันได้แล้วนะครับ

Related Posts