โลกของเทคโนโลยีในปัจจุบันเริ่มวัดประสิทธิผลกันที่ความสามารถของการแข่งขันการเข้าถึงและการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แน่นอนว่าศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนหลักของธุรกิจ TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับ พี่พิเชฏฐ เกตุรวม ผู้จัดการภูมิภาคอินโดจีน เวอร์ทีฟ ซึ่งยืนยันว่า 10 ปีนี้จะเป็นช่วงปีทองของดาต้าเซ็นเตอร์ที่น่าตื่นเต้น และเชื่อว่าการเติบโตจะเพิ่มมากขึ้นอีก 200% ในทุกปี
โดยเทรนด์ในการเกิดขึ้นของดาต้าเซ็นเตอร์ที่น่าสนใจ พี่พิเชฏฐ ระบุว่าเกิดจากความต้องการการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเข้าสู่ดิจทัลเป็นหลัก ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในภาวะการเกิดโรคระบาดในขณะนี้ ขณะที่พฤติกรรมของการใช้งานและความจำเป็นของการเก็บข้อมูลสภาวะแวดล้อมเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายของดาต้าเซ็นเตอร์จะยังอยู่ในกลุ่ม OTT (Over The Top) ยักษ์ใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ด้วยชัยภูมิที่ตั้งและปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี OTT เหล่านี้มีปริมาณการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์คิดเป็นกว่า 50% ของปริมาณดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ในประเทศไทย ด้วยความต้องการที่เกิดขึ้นเฉพาะฝั่งของเอกชนที่คาดว่าจะมีอยู่ราว 100 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน อาจจะเพิ่มขึ้นอีก 2-4 เท่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า การขยายตัวของภาครัฐที่เริ่มมีให้เห็นในโครงการใหญ่ ๆ ทั้งในส่วนของพื้นที่ EEC และการสร้างระบบสมาร์ทซิตี้ก็ล้วนต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์แทบทั้งสิ้น
ขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่สำคัญในการสร้างและขยายความต้องการในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกลุ่มนี้มีเครือข่ายของตนเอง การขยายจุดเชื่อมต่อแบบไร้สาย ภายใต้เทคโนโลยีสามารถทำได้ง่ายดาย ส่งผลให้การบริการของโอเปอเรเตอร์ขยับขึ้นเป็นการให้บริการคลาวด์ และการบริการโคโร หรือจุดวางเซิร์ฟเวอร์เพื่อเชื่อมต่อมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ได้เปรียบในการให้บริการ เนื่องจากมีเน็ตเวิร์กการสื่อสารเป็นของตนเอง ช่วยให้ประหยัดต้นทุนในการจัดการในส่วนของการเชื่อมต่อได้มาก แต่ก็ต้องแลกมากด้วยการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนของอุปกรณ์มีความฉลาดมากขึ้นนั่นเอง
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ Gartner ที่คาดว่าการใช้จ่ายบนคลาวด์จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกโดยคาดว่าการใช้จ่ายด้านคลาวด์สาธารณะในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 26.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 31.7% จากปี 2563 และคาดว่าปี 2565 จะเติบโตเป็น 28.2% หรือประมาณ 34.4 พันล้านบาท
โดยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เช่น Virtualization และ Edge computing กำลังจะกลายมาเป็นกระแสหลักและผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายบนคลาวด์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของแอปพลิเคชันบนคลาวด์และบริการดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมารองรับอย่างทันท่วงที อาทิเช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อที่จะผลักดันให้ธุรกิจโตต่อไปได้
ความสำคัญของการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์
การจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเป็นหัวใจของการบริหารจัดการข้อมูลในปัจจุบัน โดยวันนี้เรามีเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เรียกว่า High-Density ซึ่งมีส่วนช่วยให้การจัดการด้านพลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน การจัดการเส้นทางการใช้พลังงานให้เกิดการสูญเสียระหว่างทางน้อยที่สุด จึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนในคราวเดียวกันได้อย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เทคโนโลยี High-Density ก็อาจจะไม่จำเป็นในบางกิจการ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการใช้งาน เพราะหากความต้องการของกิจการ เกิดขึ้นเพียงการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็กในพื้นที่และการขาดการติดต่อของการสื่อสารไม่ใช่ปัญหาหลักของการดำเนินธุรกิจ อย่างกลุ่ม OTT หรือกลุ่มผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์เป็นหลัก กลุ่มเหล่านี้ก็สามารถเลือกใช้ไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ในการสร้าง Edge Data Center ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์แบบไหน ล้วนแล้วแต่ต้องการการจัดการด้านพลังงานเป็นสำคัญ โดยเทรนด์เทคโนโลยีของการจัดการความร้อนที่เกิดขึ้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาระบบระบายความร้อนภายในไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ของเหลวในการระบายความร้อน การใช้อากาศซึ่งเป็นของฟรีเข้ามาช่วยในการระบายความร้อนออก หรือแม้กระทั่งในบางประเทศที่มีอากาศหนาวจัด ก็มีการพัฒนาระบบระบายความร้อนด้วยอากาศเย็นจากธรรมชาติ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีในการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์นั้น ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยความต้องการของกิจการนั้น ๆ เป็นหลัก พี่พิเชฏฐ ได้ยกตัวอย่างของการที่ เวอร์ทีฟ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาระบบไมโครดาต้าเซ็นเตอร์แบบ Edge Computing ให้กับฟาร์มปลาแซลมอนแห่งหนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากความต้องการการประมวลผลที่รวดเร็วและใช้งานในพื้นที่ปิดของระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งกระบวนการวิเคราะห์มีความซับซ้อนเนื่องจากต้องใช้เงื่อนไขในการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อเลี้ยงปลาแบบอัตโนมัติ ภายใต้การจำลองสภาพแวดล้อมในแบบที่ดีต่อปลามากที่สุด จนนำไปสู่ผลผลิตที่มีมูลค่าที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง
ความต้องการดังกล่าว จึงจบลงที่การสร้างระบบ Edge Computing เพื่อช่วยให้เกิดการประมวลผลที่รวดเร็วของการวิเคราะห์สภาพความเป็นจริง และสั่งการเพื่อให้อุปกรณ์สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังสามารถรายงานผลเข้าสู่ระบบควบคุม เพื่อให้ผู้บริหารสามารถติดตามและสั่งการได้ผ่านเน็ตเวิร์กจากทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย
ความตื่นเต้นของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
พี่พิเชฏฐ กล่าวว่าความต้องการใช้เทคโนโลยีมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการเข้าใช้งานของผู้คน การบริการรูปแบบใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในเรื่องของการเรียน ที่วันนี้เราเริ่มมีความเคยชินกับระบบออนไลน์มากขึ้น การประชุมที่กลายเป็นข้อบังคับของการทำงานที่บ้านไปโดยปริยาย การสื่อสารที่นอกจากจะใช้งานด้านเสียงแล้วการวิดีโอคอลแบบเห็นหน้าก็เริ่มถูกใช้งานกันเป็นประจำมากขึ้น ความบันเทิงที่วันนี้หน้าจอของสมาร์ทดีไวซ์กลายเป็นหน้าจอโทรทัศน์ที่สามารถสตรีมมิ่งภาพยนต์ได้ทุกเมื่อที่เราต้องการ
ซึ่งยังไม่นับรวมการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้ง กลุ่มอุปกรณ์สวมใส่ ความสามารถของรถยนต์ที่จะเกิดการสื่อสารกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น และจะเริ่มกลายเป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นกับรถยนต์ในอนาคต การพัฒนาระบบของอุปกรณ์ IoT ที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนเครื่องจักรให้มีความฉลาดมากขึ้น สามารถตรวจสอบตัวเองและแจ้งเตือนเมื่อถึงคราวต้องได้รับการซ่อมบำรุง และกลุ่มการเกษตรที่เริ่มจะปรับปรุงไปสู่การเกษตรอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับฟาร์มปลาแซลมอนในนิวซีแลนด์
ความสามารถเหล่านี้ล้วนเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น การจัดการศูนย์ข้อมูลที่ดีจึงมีส่วนช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดและต้นทุนที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง เรื่องนี้เป็นส่วนที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าในช่วง 10 ปีนี้ เราจะเห็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200% ในทุกปีต่อเนื่องไป
นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยยังมีชัยภูมิที่ดี ที่จะเชื่อมต่อท่อเน็ตเวิร์กเพื่อใช้ในการรับส่งข้อมูลในราคาต้นทุนที่ต่ำ และเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งช่วยให้เกิดความมั่นใจในการจัดการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ที่สำคัญ แม้ว่าจะมีความอ่อนไหวบ้างในทางการเมืองก็ยังถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งต่อประสิทธิภาพไม่มากเท่าประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากการเข้ามาสร้างระบบดาต้าเซ็นเตอร์ของกลุ่มผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ทางด้าน OTT หลายราย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาสร้างโครงสร้างด้านฮาร์ดแวร์ของตนเอง แต่ก็เข้ามาเช่าส่วนของผู้ประกอบการไทยในการวางระบบเครือข่ายข้อมูล ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาด้านดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มมากขึ้น
การเข้ามาของกลุ่มผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำมาตรฐานของดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับเดียวกับทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยให้ทัดเทียมทั่วโลก และกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาคได้อย่างไม่ยากนัก เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้ว่าจะมีมาตรฐานระดับโลกเป็นทุนเดิมแล้ว ยังจะมีมาตรฐานที่สร้างขึ้นเองของบริษัทเหล่านี้ที่ต้องการอยู่เหนือมาตรฐานทั่วโลกอีกด้วย นับเป็นอีกเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้มากกว่ามาตรฐานโลกทั่วๆ ไปนั่นเอง