นับเป็นครั้งแรกของการเปิดตัวสมาร์ทวอทช์ภายใต้แบรนด์หัวเว่ย กับรุ่น Huawei Watch 3 Active Edition ที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Harmony OS ของหัวเว่ย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ทำออกมาได้ครบเครื่องจริงจริง ทั้งการรองรับ eSIM เพื่อแยกการทำงานออกเป็น 1 อุปกรณ์สมาร์ท แถมยังมาพร้อมฟีเจอร์ที่สำคัญในยุคการระบาดของโรคร้ายได้เป็นอย่างดี แต่จะใช้งานได้ตอบสนองอย่างไร อ่านได้ที่รายละเอียดด้านล่าง
สเปค Huawei Watch 3 Active Edition
จอภาพ : AMOLED ขนาด 1.43 นิ้ว, ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล, PPI 326
หน่วยความจำ :
– RAM 2 GB
– ROM 16 GB
การเชื่อมต่อ :
– eSIM (UMTS, LTE)
– Wi-Fi รองรับเฉพาะ 2.4 GHz
– Bluetooth BT5.2 และ BR + BLE
– GPS, GLONASS, BeiDou, Galileo
– NFC
ระบบตรวจจับ :
– เซ็นเซอร์อัตราเร่ง
– เซ็นเซอร์ไจโร
– เซ็นเซอร์ภูมิศาสตร์
– เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบออปติคัล
– เซ็นเซอร์วัดแสง
– เซ็นเซอร์ความดันบรรยากาศ
– เซ็นเซอร์อุณหภูมิ
แบตเตอรี่ : ราว 2-3วัน โหมดประหยัดพลังงานราว 14 วัน
ระบบปฏิบัติการ : Harmony OS
วัสดุตัวเรือน : สแตนเลส + เซรามิก
ขนาดตัวเรือน : 46.2 มม. x 46.2 มม. x 12.15 มม.
วัสดุสาย : ฟลูออโรอีลาสโตเมอร์
น้ำหนัก : ประมาณ 54 กรัม (ไม่รวมสายรัดข้อมือ)
กันน้ำ : กันน้ำที่ระดับ 5 ATM
ลำโพง : มีในตัว
ไมโครโฟน : มีในตัว
การชาร์จ : ชาร์จไร้สาย แรงดันไฟ 5V2A
อุปกรณ์ภายในกล่อง
– ตัวเรือนนาฬิกา x 1
– เครื่องชาร์จ (รวมสายชาร์จ) x 1
– คู่มือผู้ใช้ และใบรับประกัน x 1
การออกแบบ
การออกแบบตัวเรือนนั้นถือว่าทำออกมาได้หรูหราเพิ่มเติมจากรุ่นก่อนหน้า ทั้งเรื่องของการออกแบบบปุ่มเม็ดมะยมที่ขนาดกำลังพอเหมาะสีเข้ากับตัวเรือน แถมตัวเรือนยังเป็น สแตนเลสที่เป็นขอบหลักของตัวเรือนแต่ผสมเซรามิกเป็นส่วนที่สัมผัสกับผิวหนังซึ่งนอกจากได้ความหรูหราแล้วยังได้การระบายอากาศของภายในตัวเครื่องได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
การออกแบบที่ส่งเสริมด้านความหรูหราอีกอย่างคงหนีไม่พ้นเรื่องของความโค้งมนของกระจกหน้าจอแบบ 3D ทำให้เมื่อมองหลังมือแล้วให้ความรู้สึกนูนขึ้นมาอย่างสวยงาม แน่นอนว่าเมื่อกระจกนูนขึ้นก็อาจจะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงของการกระแทกที่จะเกิดขึ้น การสวมใส่ก็อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน
ในส่วนของการออกแบบข้อต่อระหว่างตัวเรือนและสายนั้นมีช่องว่างให้เห็นอยู่พอสมควร มองในแง่นึงก็ทำให้เห็นร่องระหว่างตัวเรือนและสายที่กว้างเกินไป แต่หากมองอีกมุมก็ช่วยทำให้การเปลี่ยนสายเองทำได้ง่ายขึ้น ไม่ฟิตพอดีเหมือนที่ผ่านๆมา แถมยังช่วยระบายอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของสายนั้นเนื่องจากเป็นรุ่น Active ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะต้องมีเหงื่อเป็นอย่างมาก ทำให้เลือกใช้วัสดุ ฟลูออโรอีลาสโตเมอร์ สีดำด้านซึ่งจะมีความทนทานต่อกรดและด่าง และมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้าอยู่พอสมควร แถมให้ความยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี มีการเจาะช่องของการล็อคสายไว้เป็นแนวยาวของทั้งสองฝั่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยในการรัดสายแล้ว ยังช่วยในเง่ของการระบายอากาศให้ข้อมือได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายในส่วนของการออกแบบตัวรัดเข็มขัดนั้น แม้ว่าจะเป็นส่วนเล็กๆที่อยู่ใต้ข้อมือ แต่ก็ได้รับความเอาใจใส่ ด้วยการออกแบบให้มีความเงางาม พร้อมสลักโลโก้ HUAWEI ที่พอดีกับรอบของเข็มกลัดที่แทงทะลุสายขึ้นมา เมื่อหงายมือก็มองเห็นวามเงางามของการออกแบบได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรุ่นนี้ก็ไม่ได้ออกแบบมาตอบสนองความหรูหราซะทีเดียว แต่ออกแบบมาให้ทนทานตามสเปกของรุ่น Active ครับ
ฟีเจอร์การใช้งาน
ความพิเศษของสมาร์ทวอทช์ Huawei Watch 3 Active Edition นอกเหนือจากการใช้ระบบ Harmony OS 2.0 เป็นครั้งแรกแล้ว ยังมีความสามารถของการใช้งาน eSIM ที่ทำให้เมื่อเราเปิดระบบเบอร์เดียวหลายเครื่อง ก็จะสามารถใช้งานสมาร์ทวอทช์เครื่องนี้โดยที่เราไม่ต้องพกโทรศัพท์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป ทำให้ทุกอย่างมาอยู่ที่ข้อมือได้อย่างสะดวก
แต่กระนั้น แนะให้ต่อเข้ากับหูฟังบลูทูธนะครับ ไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อเรารับสาย ผู้คนรอบข้างจะรับรู้การสนมทนาของเราทั้งหมด เนื่องจาก Huawei Watch 3 Active Edition มีทั้งไมโครโฟนและลำโพงในตัว ซึ่งก็พร้อมแล้วที่จะสนทนา แต่ผมเชื่อว่าหลายคนไม่พร้อมที่จะให้คนรอบข้างรับรู้การสนทนาทั้งหมดของเราแน่นอน
ฟีเจอร์ที่สำคัญอีกอย่างนั่นคือการเชื่อมต่อกับหัวเว่ยไอดี ทำให้เมื่อเราล็อกอินแอปก็เพียงแค่ยืนยันตัวตนผ่านการกดเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ซึ่งด้วยหน้าจอที่เล็กก็เพิ่มความสะดวกในการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยก็ตาม
ฟีเจอร์ที่ขาดไม่ได้ในช่วงนี้คือการวัดปริมาณออกซิเจนของการหายใจ ซึ่งช่วยให้เรารับรู้ได้ว่าการทำงานของปอดเรายังคงเป็นปกติดีอยู่หรือไม่ ในภาวะที่โรคโควิดยังระบาดอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ที่จะมีเชื้อร้ายเข้าไปทำลายปอดของเรา แม้ว่าจะยังไม่ได้การรับรองว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าที่ได้จึงไม่สามารถอ้างอิงทางการแพทย์ใดๆได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราสังเกตอาการผิดปกติของเราเองแบบส่วนตัวได้นะครับ
การวัดความเครียด น่าจะเป็นอีกส่วนที่เมื่อเรารู้สึกว่า มีความกดดันจิตใจมากเกินไป เราสามารถวัดค่าผ่าน Huawei Watch 3 Active Edition ได้ ทำให้เรารู้ระดับความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่ามากเกินไป ก็สามารถฝึกการผ่อนลมหายใจในฟีเจอร์การหายใจ หรือเปลี่ยนเรื่องคิด เพื่อลดระดับให้ความเครียดต่ำลงได้อย่างทันท่วงที ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อช่วยรักษาสุขภาพของตนเองให้ยืนยาวมากขึ้นนั่นเอง
การวัดอุณหภูมิบริเวณผิวหนัง ฟีเจอร์อีกอย่างที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เราเพิ่งจะได้เห็นนั่นคือความสามารถในการวัดอุณหภูมิบริเวณผิวหนัง ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถบอกอาการของร่างกายได้ในมุมของอาการไข้ แต่การรู้อุณหภูมิของผิวหนังก็อาจจะช่วยทำให้เรารู้ความสามารถในการระบายความร้อนของร่างกายว่าเป็นอย่างไร และการระบายความร้อนมากเกินไปก็หมายถึงการสูญเสียเหงื่อที่มากขึ้นเช่นกัน
การวัดประสิทธิภาพการนอน ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี HUAWEI TruSleep™ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นแห่งยุคที่ช่วยทำให้เรารับรู้ประสิทธิภาพของการนอนของเราได้เป็นอย่างดี เพราะท้ายที่สุดแล้วร่างกายต้องการการพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพ แต่การวัดค่านั้นจากเดิมที่เราจะต้องไปนอนที่โรงพยาบาลเฉพาะเพื่อวัดค่าการนอนหลับ เวลานี้เราเพียงแค่ใส่นาฬิกานี้ไว้ทั้งคืน เช้ามาเราก็รู้ได้เลยว่า การนอนของเรามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ทำให้เราแก้ไขการนอนของเราได้ทันการณ์นั่นเอง
การวัดความสูงและความกดอากาศ เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ต้องบอกเลยว่าเหมาะกับการเป็นสมาร์ทวอทช์ที่เป็น Active Edition มากๆ เพราะเมื่อเราต้องออกไปข้างนอก ทำให้เรารับรู้สภาพการณ์ที่เหมาะกับเรา เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนที่มีขนาดออกซิเจนในเลือดค่อนข้างเล็ก การขึ้นที่สูงที่มีอากาศเบาบาง จะทำให้ผมหายใจได้ลำบากและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ การมีฟีเจอร์นี้จะช่วยเตือนให้ผมรับรู้ถึงข้อจำกัดตนเองมากยิ่งขึ้น
ฟีเจอร์ SOS ด้วยความสามารถของเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับการกระแทกได้ ทำให้เกิดฟีเจอร์การตรวจสอบการล้มจากระบบที่ประมวลผลร่วมกันของการกระแทก ระดับการหายใจ และการเคลื่อนไหวหลังจากนั้น ซึ่งเมื่อตรวจพบ ระบบจะทำการโทรไปตามสายด่วนที่ตั้งค่าไว้ หรือจะให้โทรไปที่สาย 191 ทันที่ยังได้ และหากเรายังมีสติ ไม่ได้ล้มกระแทก แต่ต้องการความช่วยเหลือด่วน สามารถกดปุ่มเม็ดมะยมต่อเนื่อง 5 ครั้ง ก็จะเป็นการโทรไปที่สายด่วนที่ตั้งค่าไว้ได้ทันที
และอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผมชื่นชอบนั่นคือความสามารถในการบันทึกเสียงได้ บางครั้งเราอาจจะคิดอะไรออก แต่ไม่พร้อมที่จะจดบันทึกไว้ การได้บันทึกเสียงของตัวเองเอาไว้ แล้วเอามาเขียนเป็นบันทึกอีกครั้ง จึงเป็นอีกเครื่องบันทึกที่อยู่ติดตัวเราได้เสมอ นอกเหนือจากโทรศัพท์ที่บางครั้งต้องบอกเลยว่า ห่างตัวผมออกไปมากๆ หากต้องการออกทำงานด้านการเกษตรในบางเวลา
การทดลองใช้งาน
ในมุมของการเชื่อมต่อนั้น ต้องบอกเลยว่า ผมใช้เครื่องสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยอยู่แล้วในรุ่น Huawei Mate 20X ซึ่งก็ถือว่านานแล้ว แต่การเชื่อมต่อเมื่อเปิดแอป Huawei Health ก็สามารถทำตามขั้นตอนกันได้อย่างสบายๆ มีการเชื่อมต่อที่สะดวก และรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ยังต้องกรอกโค้ดยืนยันเครื่องอยู่นะครับ ซึ่งก็เป็นขั้นตอนด้านความปลอดภัย
ด้วยความสามารถของเม็ดมะยมที่กลายเป็นปุ่มมัลติฟังก์ชั่น ทั้งการหมุนได้ เพื่อเลื่อนหรือย่อขยาย และกดเพื่อเลือก ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใช้งานเมนูต่างๆที่สะดวกมากขึ้น ขนาดของเม็ดมะยมนั้นถือได้ว่าออกแบบมาได้ขนาดกำลังพอดี ใช้งานได้สะดวกทั้งมุมของการหมุนและการกด ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปุ่มที่เก๋ไก๋ไปอีกแบบ
ขณะที่ปุ่มด้านล่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานเมนูลัด ตามการตั้งค่าที่ต้องการได้อย่างสะดวก ส่วนตัวผมนั้นตั้งไว้ให้เป็นปุ่มเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Huawei Music เมื่อต้องการฟังเพลงก็เพียงแค่กดปุ่มแล้วเลือกเพลงหรือรายชื่อที่เราเลือกได้ทันที ซึ่งก็มีเพลงให้เลือกมากมาย จากความร่วมมือที่หัวเว่ยได้ร่วมกับแกรมมี่ก่อนหน้านี้
การใช้งานแต่ละฟีเจอร์นั้นถือว่าสะดวก เพราะสามารถตั้งค่าให้วัดเองเรื่อย ๆ แบบอัตโนมัติ ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อฟีเจอร์ทั้งหมดทำงานเอง เราก็ไม่ต้องคอยมาเปิดหรือมาวัดให้ยุ่งยาก เมื่อท้ายของวันก็เพียงดูยอดสรุปและอ่านคำแนะนำในการปรับตัว เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุด