ความท้าทายของการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่ในวงเพียงแค่ภาครัฐอีกต่อไป เมื่อเอไอเอส หนึ่งในบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทย กระโดดเข้ามาสร้างพันธกิจ AIS ACADEMY FOR THAIS เมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนวันนี้ได้จุดประกายภารกิจใหม่ต่อยอดจากพันธกิจ ด้วยการหลอมรวมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันการพัฒนาประเทศไทย กลายเป็นพันธกิจ “JUMP THAILAND ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย” อีกครั้ง
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวชัดเจนว่า JUMP THAILAND ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในการนำทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันมาผสานเข้าด้วยกันเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
โดยเราจะเห็นว่าดิจิทัลเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก ขณะที่โอกาสที่แตกต่างกันในการเข้าถึงองค์ความรู้ของเยาวชนเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในทันทีนั้นก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน สิ่งที่เราทำได้คือการขยับตัวระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐที่จะเข้ามาร่วมมือกันในการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงองค์ความรู้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยเอไอเอสในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านดิจิทัลที่ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเวลาพอสมควร จนนำมาสู่องค์ความรู้ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า AIS ACADEMY FOR THAIS
ด้วยความท้าทายของการพัฒนายกระดับขีดความสามารถของคนนั้น สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของคนนั้น จำเป็นต้องมาพร้อมจริยธรรมควบคู่กันไป ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา AIS ACADEMY FOR THAIS ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การพัฒนาในด้านเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมตลอดจนการสร้างคนให้มีความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมผ่านระบบดิจิทัล มากกว่า 1.5 หมื่นคน
และการเปิดภารกิจใหม่ในวันนี้ “JUMP THAILAND ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย” ซึ่งมีความสอดคล้องกับการพัฒนาคนให้ได้ทั้งองค์ความรู้และจริยธรรม ผ่าน 3 แกนหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1. Jump Over Challenge การสร้างและพัฒนาอาชีพ 2. Jump with Edtech การขยายการเรียนรู้โดยเฉพาะ ผ่านระบบดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอน และสุดท้าย 3. Jump Innovation ซึ่งจะเป็นการทำงานด้านนวัตกรรม โดยทั้งหมดจะผสานจุดแข็งของความร่วมมือทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ในการทำงานให้เกิดศักยภาพและผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นการจุดประกายในการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมแห่งการคิด และสังคมแห่งการเอื้อมมือเข้าหากัน ที่ไม่ยึดถือเฉพาะกฎแห่งผลประโยชน์ของแต่ละองค์กรตนเองเท่านั้น
วันนี้นอกจากเอไอเอส จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ แล้ว ยังมีพันธมิตรเพิ่มเข้ามาทั้งในแง่ของช่องทางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ ตลอดจนสถานทูตแคนาดาเองก็ก้าวเข้ามาในเรื่องของการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ศูนย์นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการจุดประกายไฟเล็กๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าทุกคน ทุกองค์กรเปรียบตัวเองเป็นไม้ขีดไฟและให้ประกายไฟสว่างไสวสืบต่อกันไปอย่างยั่งยืน
ด้านพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของประเทศไทยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ที่ต้องรับผิดชอบ นั่นก็คือเรื่องของการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพของคน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคเป็นเรื่องหลัก รวมถึงแผนแม่บทของการพัฒนาคนตลอดช่วงวัย ซึ่งภารกิจหลักในการขับเคลื่อนและวิสัยทัศน์ของกระทรวงฯ ที่วางไว้ ตรงกับของเอไอเอสอย่างยิ่ง ด้วยความพยายามสร้างโอกาสให้กับคนกลุ่มที่ขาดโอกาสในสังคมไทย และกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคำว่าเปราะบางคือกลุ่มที่อาจจะขาดโอกาสมากกว่าปกติทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงแม่เลี้ยงเดี่ยว และอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่ามีความยากลำบากอีกกลุ่มก็คือกลุ่มคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน หรือแม้แต่ขอทานอันนี้คือเป็นพื้นที่ขาดโอกาสอย่างแน่นอนในการจะเข้าถึงบริการของรัฐต่างๆ
เราไม่สามารถดูแลกลุ่มคนจำนวนมากทั้งหมดได้ภายใต้กระทรวงฯ เดียว จำเป็นต้องมีภาคีเครือข่าย และเมื่อท่านรัฐมนตรีเห็นว่าโครงการ Jump Thailand เป็นโครงการที่ดีมาก จึงทำให้เกิดความร่วมมือดังกล่าว เพราะตรงกับวัตถุประสงค์ของกระทรวงฯ ที่ต้องการสร้างคนดีให้มากขึ้น และสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาส โครงการนี้จึงตรงเป้าหมายของเราเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่กระทรวงฯ ที่ให้โอกาส แต่ต้องบอกว่า เอไอเอสให้โอกาสกับกระทรวงฯ มากกว่า เพราะเอไอเอสทำโครงการได้ดีอยู่แล้วและกระทรวงฯ เข้ามาเชื่อมต่อ และขยายการทำงานร่วมกันเท่านั้น
โดยในปีที่ผ่านมา มีการสร้างอาชีพให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหาเรื่องของโควิดได้มีอาชีพ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสที่จะมีอาชีพจากความถนัดของเขาเอง ซึ่งจะมีคนที่มีความถนัดในเรื่องเหล่านั้นมาเป็นคนมาสอนทำให้ไม่ต้องคิดเองทำเองอีกต่อไป อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องโอกาสของเด็กและเยาวชนที่อยู่ห่างไกลและยากจน ได้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงเรื่องการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันกว่า 2,000 หลักสูตร
สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่า 2 ปีแล้วที่ผ่านมาเราได้ประสบกับสิ่งต่างๆ ทั้งคนไทยเองและทั่วโลก ในแง่ของการดำเนินชีวิตหรือในแง่ของเศรษฐกิจเองก็ได้รับผลกระทบ ช้อปปี้ก็ได้เห็นความจำเป็นในการที่เราจะก้าวเข้ามาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ค้าผ่านการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ซื้อและผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง วันนี้ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการภารกิจที่จะส่งเสริมให้ร้านค้าหรือว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถที่จะกลับมายืนหยัดในสังคมไทยแล้วก็พัฒนาเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ช้อปปี้ นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยผ่านเทคโนโลยีด้วย
โดยในภารกิจ Jump Thailand ช้อปปี้จะเข้ามาเสริมทัพในส่วนของ อุ่นใจอาสา ซึ่งเราเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถ เป็นคนเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็มีความเป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะยังขาดอยู่นั่นก็คือโอกาส ซึ่งในโลกอีคอมเมิร์ซเปรียบเสมือนกับการการเพิ่มโอกาสให้ แต่การเริ่มต้นธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งช้อปปี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในการพัฒนาทักษะจุดนี้ และต่อจิ๊กซอว์ของระบบนิเวศในแง่ต่างๆ เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มของช้อปปี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการชำระเงินและพันธมิตรการขนส่งที่ครบวงจร
อีกทั้งยังจะช่วยสร้างความชำนาญในการจัดเปิดร้านขาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ร่วมโครงการ นอกเหนือจากการซื้อ-ขาย ช้อปปี้ยังมองว่าการเจริญเติบโตหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมีองค์ความรู้เป็นอาวุธที่สำคัญ จึงได้มีความร่วมมือในการให้ความรู้ในแง่ของการลงขายของออนไลน์ ในแง่ของการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการที่จะขายออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดทำชั้นเรียนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสสร้างย่านนวัตกรรมอารีย์ ซึ่งเป็นย่านนวัตกรรมที่เน้นทางด้าน Deep Tech ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับทางด้านการแพทย์ และเทคโนโลยี ที่นับว่าเป็นย่านนวัตกรรมที่ 2 ที่เราได้ทำในบริบทของเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยเป็นความร่วมมือกับเอไอเอสและภาคเอกชน เพื่อทำให้ย่านนี้กลายเป็นเมืองฉลาดรู้ และส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน ซึ่งเรามีเป้าหมายที่จะทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่นวัตกรสามารถเข้าไปทดสอบเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน Deep Tech และ โลกของความจริงเสมือน (Metaverse) ได้ในอนาคต
ด้าน นิจวรรณ ศรีวิบูลย์ กรรมาธิการการค้า สถานเอกอัครราชทูตแคนนาดา กล่าวว่า ความแตกต่างของประเทศแคนนาดาด้านการศึกษานั้น จะมีความเฉพาะตัวอยู่สูง โดยจะไม่มีกระทรวงศึกษาจากส่วนกลาง แต่จะใช้การกระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่ในการบริหารจัดการกันเอง แต่จะมุ่งเน้นที่การศึกษาตลอดชีวิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณจะมีสัดส่วนสูงกว่าประเทศทั่วไปในกลุ่มประเทศ OLCD
นอกจากนี้การพัฒนาครู จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูผู้สอนมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงค่าเฉลี่ยของการศึกษาของคนแคนนาดานั้นจะมีอยู่ในระดับที่สูง โดยจะมีความเป็นหนอนหนังสืออยู่ในคนแคนนาดาสูงมาก ทำให้ศักยภาพด้านการศึกษาของแคนนาดามีประสิทธิภาพที่สูง และติด 1 ใน 10 ของการศึกษาระดับโลก
ทั้งนี้สถานทูตแคนนาดาจะเข้ามาช่วยเสริมในการเข้าถึงคอนเทนต์ด้านการศึกษา โดยจะเป็นความร่วมมือกับสถาบันในประเทศแคนนาดากับแพลตฟอร์ม LearnDi For Thais ที่จะเข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ ในรูปแบบโมดูล เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยเรียนแล้วนำไปเรียนต่อในประเทศแคนาดาได้หากต้องการที่จะรับปริญญาในประเทศแคนนาดาต่อไปในอนาคต ทั้งนี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มนักเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงผู้ที่สนใจและต้องการเรียนรู้เพื่อเติมเต็มความชอบและต่อยอดสู่อาชีพได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งคาดว่าโปรแกรมนี้จะสามารถเริ่มใช้งานได้ในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป
โดยความร่วมมือในการดึงจุดแข็งของประเทศแคนนาดาเข้ามาในครั้งนี้ จะนำการเรียนผ่านระบบดิจิทัลที่สามารถไปต่อยอดได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มากขึ้น รวมทั้งความร่วมมือในการศึกษาหลักสูตรมหาวิทยาลัยของประเทศแคนนาดาเองที่ไม่ต้องไปเรียนทั้งหมดที่แคนนาดา แต่สามารถเรียนออนไลน์แล้วไปเรียนในประเทศแคนาดาต่อด้วยระยะเวลาที่น้อยลง ซึ่งก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
“เมื่อตอนที่เราทำเพียงลำพังนั้นเราก็ทำได้ตามกำลังที่เราสามารถทำได้ ต่อเมื่อได้รวมพลังจากพันธมิตรต่างๆ แล้ว มาสู่พันธกิจ “JUMP THAILAND ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย” จึงทำให้เกิดการทำงานที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องวางผลประโยชน์ส่วนตนลง แล้วมองที่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศเป็นหลัก เมื่อนั้นองค์กรของเราก็จะสามารถแข็งแรงได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วยเช่นกัน” กานติมา เลอเลิศยุติธรรม กล่าวปิดท้าย