ไทยเอสซี ทุ่มทุนกว่า 600 ล้าน ดึงซุปเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด HPE Clay EX Supercomputer ตอบโจทย์การประมวลผลด้านการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง รองรับทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยประสิทธิภาพความเร็วกว่า 13 Petaflops ช่วยประหยัดพลังงานจากเดิมลงได้ราว 30-40% ยกระดับให้ประเทศไทยมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้เร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วติด 1 ใน 100 ประเทศของโลก โชว์ผลงานล่าสุดประมวลผลพันธุกรรมของไวรัสเพื่อหาแนวทางป้องกัน และคาดการณ์สถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ได้ล่วงหน้า 3 วัน เตรียมใช้งานได้ปลายปี 2565
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การลงทุนกว่า 600 ล้านบาทเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นบทบาทที่สำคัญในการก้าวขึ้นสู่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของภูมิภาค ด้วยความเร็วในการทำงานซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดของภูมิภาค และยังเร็วติดอันดับ 1 ใน 100 ประเทศ ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด
ด้านนายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) เอชพีอี มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวนขั้นสูงหรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center : ThaiSC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ หรือซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในระดับประเทศ
โดย HPE ได้นำเสนอ ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของ Hewlett Packard Enterprise (HPE) คือ HPE Cray EX supercomputer ที่ประกอบด้วย CPU รุ่นล่าสุดจาก AMD EPYCTM เจนเนอเรชั่น ที่ 3 (Milan) จำนวน 496 CPUs/ 31,744 cores และมี 704 NVIDIA A100 GPU ที่ได้ประสิทธิภาพการประมวลผลในทางทฤษฎี (peak performance) ถึง 13 Petaflops ซึ่งจะเป็นระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจัดอันดับประสิทธิภาพซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดย top500.org
และมีขีดความสามารถการคำนวณที่สูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ สวทช. มีอยู่เดิม (ระบบ TARA) ถึง 30 เท่า อีกทั้งมีการระบายความร้อนด้วยของเหลว (liquid cooling) ที่ให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้า (PUE) ที่ดีที่สุด โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูงอย่าง Cray ClusterStor E1000 ที่มีความจุรวม 12 เพตะไบต์ (petabytes) เชื่อมต่อด้วย HPE Slingshot Interconnect ที่ความเร็ว 200 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ระบบดังกล่าวคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2565
ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) เป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. เพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยฯ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยที่ระบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักวิจัย อันได้แก่
· ปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Artificial Intelligent & Big Data Analytics) ต้องใช้ระบบ HPC ในขั้นตอนการสอน AI โมเดล (training) ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูงโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการพัฒนา
· พันธุวิศวกรรม และ ชีวสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ (Genomics and Bioinformatics for medical research) ที่ต้องจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมปริมาณมหาศาลของคน พืช และสัตว์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยหรือการพัฒนา อาทิ การพัฒนาระบบการแพทย์แม่นยำ และการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระของชาติในปัจจุบัน
· การจำลองอนุภาคในระดับนาโน และอะตอมสำหรับการวิจัยวัสดุขั้นสูง (Nanoscale and atomistic-scale simulations for advanced materials research) เช่น การพัฒนายา วัคซีน อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ แบตเตอรี่ และการพัฒนาวัสดุล้ำยุคต่างๆ
· การทำแบบจำลองทางวิศวกรรม สำหรับการวิจัยทางอุตสาหกรรม (Engineering simulations for industrial research) เช่น การทดสอบประสิทธิภาพของยานยนต์ในด้านความเร็วและความปลอดภัย เพื่อลดการลงทุนสร้างต้นแบบเทคโนโลยี
· บรรยากาศศาสตร์ และการจัดการภัยพิบัติ (Atmospheric science and disaster management) เช่น การคำนวณคาดการณ์สภาพอากาศ การจำลองภัยพิบัติ หรือคาดการณ์ระดับค่ามลพิษของประเทศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน ไทยเอสซี (ThaiSC) ให้บริการการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing: HPC) ภายใต้ระบบคลัสเตอร์ TARA HPC ที่ประกอบด้วย 4,320 cores และ 28 NVIDIA V100 GPU โดยมีพื้นที่เก็บข้อมูล 750 เทระไบต์ (TB) เชื่อมต่อบนระบบเครือข่ายความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) โดยให้บริการกับโครงการวิจัยภายใน สวทช. เป็นหลัก และได้มีการเปิดรับโครงการจากภายนอก สวทช. ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน
“ในช่วงวิกฤต โควิด-19 ทางไทยเอสซี ได้มีโอกาสช่วยสนับสนุนการวิจัยและประมวลผลข้อมูล ทางพันธุกรรมของไวรัส (Genomes) เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 อาทิ การสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการคัดสรรสารออกฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยเทคนิคทางเคมีคำนวณขั้นสูง เพื่อใช้ Supercomputer ในการคัดกรองสารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในยารักษาโรคที่มีการใช้งานอยู่เดิม ว่าสามารถนำมาใช้ในการยับยั้งการทำงานของไวรัส SARS-CoV-2 หรือไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการผลิตยา (ขณะนั้นยังไม่มียารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ)
และได้ให้บริการแก่กลุ่มวิจัย COVID-19 Network Investigations (CONI) ในการใช้ Supercomputer เพื่อการดำเนินโครงการถอดรหัสจีโนมไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV-2 ที่ระบาดในประเทศไทย โดยใช้ Supercomputer ในการประมวลผลยืนยันสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ลดเวลาในการคำนวณจาก 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้สามารถส่งมอบข้อมูลสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่กำลังระบาดให้แก่หน่วยงานทางการแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนรับมือการระบาดของโรคได้ทันการณ์
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ พัฒนาการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง ด้านมลพิษทางอากาศ (WRF-chem) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือพีเอ็ม 2.5 ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า ทำให้กรมควบคุมมลพิษสามารถคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ 9 จังหวัดในภาคเหนือของประเทศ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับมือได้ทันต่อสถานการณ์” ดร. ณรงค์ กล่าว
ด้าน ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวนขั้นสูง (ThaiSC) สวทช. เปิดเผยว่า การพัฒนาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการประมวลผลที่รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่า 30 เท่า พร้อมความสามารถในการประหยัดพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการให้บริการการประมวลผลทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีต้นทุนที่ถูกลง
โดยปกติอายุการใช้งานของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์จะใช้งานได้นานราว 7-8 ปีก็จะทำการเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ จากเดิมที่เราใช้งาน TARA ซึ่งมีประสิทธิภาพและความสามารถที่น้อยกว่า ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งก็คาดว่าในราวปี 2567 ก็อาจจะปลดระวาง เนื่องจากจะไม่คุ้มทุนในการใช้งานเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานไฟฟ้า
ขณะที่การเริ่มต้นใช้งาน HPE Clay EX Supercomputer นี้จะเริ่มเข้ามาใช้งานได้ราวปลายปี 2565 ผ่านระบบเว็บพอร์ทัล ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งคาดว่าผู้ที่จะเข้าใช้งานจะต้องสมัครสมาชิกพร้อมยืนยันตัวตนในการเข้าใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนโร้ดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์การให้บริการทั้งหน่วยงานการศึกษา ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและองกรร์ขนาดใหญ่ ที่ต้องการพลังการประมลผลมีประสิทธิภาพในการทดสอบโซลูชั่นและบริการของตนที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องนำข้อมูลออกไปประมวลผลยังต่างประเทศ นับเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประมวลได้กว่า 2-3 เท่าตัว