หากเอ่ยถึง Digital ID (ดิจิทัล ไอดี) คำนี้สำหรับใครหลายๆ คน อาจจะให้ความรู้สึกทั้งคุ้นเคยและไม่คุ้นชิน ซึ่ง Digital ID คือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ว่าฉันเป็นใครหรือบุคคลนั้นๆ คือใคร โดยหลายประเทศเริ่มใช้กันอย่างกว้างขวางแล้ว ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งการใช้บัตรประจำตัวประชาชนรูปแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องมีการถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็นปึกๆ เพื่อติดต่อทำธุรกรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน หรือการใช้ข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) ประกอบด้วย การสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint Recognition) สแกนใบหน้า (Face Recognition) สแกนม่านตา (Iris Recognition) หรือสแกนลายเส้นเลือด (Vascular Recognition) เพื่อใช้ระบุและยืนยันตัวตน รวมถึงการสร้างแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันตัวตนและเข้าถึงบริการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน
โดยวันนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อการขับเคลื่อนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ด้วยการเสนอ Digital ID Framework ของไทย การเสนอมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางเพื่อการเชื่อมโยงระบบบริการทั้งจากบริการภาครัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ข้อมูลถึงความสำคัญของ Digital Identity หรือ ดิจิทัล ไอดี ผ่านแคมเปญใหญ่ที่เรียกว่า MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” ต่อภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล รวมถึงผู้ให้บริการทั้งหมด จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Digital ID ให้มากขึ้น ผ่านการหยิบเรื่องราวจาก 5 ประเทศที่ใช้ ดิจิทัล ไอดี เข้ามาเป็นกุญแจสำคัญในการเขย่าโครงสร้างประเทศสู่การพัฒนาชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และประเทศ ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างไร นอกเหนือจากประโยชน์ของ Digital ID ที่ไม่ใช่มีเพียงเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนเท่านั้น
เอสโตเนีย บุกเบิกใช้ Digital ID เลือกตั้งออนไลน์ เซฟเวลา-ลดมันนี่ที่แท้ทรู
เอสโตเนีย (Estonia) ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่บุกเบิกระบบการเลือกตั้งออนไลน์ (I-VOTING) มาตั้งแต่ปี 2548 และทำสำเร็จจนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามองเป็นประเทศต้นแบบ โดยประชาชนชาวเอสโตเนียไม่ว่าจะอยู่ที่ใดทั่วโลก สามารถล็อคอินเข้าระบบเลือกตั้งโดยใช้เลขบัตรประจำประชาชนสมาร์ทการ์ด (e-ID Card) หรือหมายเลขโทรศัพท์ (Mobile ID) เพื่อยืนยันตัวตนและกดโหวตได้ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนผลการโหวตได้ก่อนวันเลือกตั้ง โดยระบบจะอัปเดตข้อมูลใหม่ให้อัตโนมัติ ซึ่งผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการส่งผลโหวตกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงด้วยว่า ได้รับข้อมูลครบถ้วนหรือไม่เพื่อความแม่นยำและโปร่งใส โดยการนำ Blockchain เข้ามาช่วยเพื่อรักษาความปลอดภัย แม้ในปีแรกที่เปิดระบบเลือกตั้งออนไลน์ ชาวเอสโตเนียได้มีการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์เพียง 2% แต่ในปี 2562 กลับเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยประโยชน์สำคัญที่ได้จะมีทั้งในมุมของการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการลดค่าใช้จ่าย และประหยัดในมิติต่างๆ เช่น ค่าเดินทางกลับบ้านเกิด การช่วยลดเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ชาวเอสโตเนีย ยังสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนเมื่อต้องติดต่อทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐและเอกชนได้แล้วถึง 99% ตามนโยบายการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Renovation) ที่ทางรัฐบาลเอสโตเนียได้ประกาศมาตั้งแต่ช่วงทศวรรศที่ 90 โดยวางเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ใช้รองรับการย้ายทะเบียนบ้าน เปลี่ยนชื่อ คำนำหน้าแสดงสถานะการสมรส จดทะเบียนนิติบุคคล การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์และประวัติการรักษาพยาบาล รวมถึงใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในการเดินทางภายในสหภาพยุโรป ยกเว้นบางกรณี เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลเอสโตเนีย ยังสร้างระบบการเข้าถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government Portal เสริมเป็นช่องทางให้บริการแก่ประชาชน โดยประชาชน ผู้ประกอบ และข้าราชการ สามารถล็อคอินด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดเพื่อใช้บริการต่างๆ ของรัฐได้
อินเดีย สร้าง Digital ID แก้ปัญหาประชากรนับพับล้าน เข้าถึงระบบสาธารณูปโภค
จากปัญหาประชากรในประเทศอินเดีย (India) ที่มีมากกว่า 1.3 พันล้านคน และมากกว่าครึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีข้อมูลในระบบของภาครัฐ ไม่มีเอกสารที่ใช้ระบุตัวตน ส่งผลให้ประชากรนับพันๆ ล้าน โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ของรัฐบาล จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ อินเดีย ต้องริเริ่มการพัฒนาระบบ Digital ID โดยในปี 2551 ได้มีการริเริ่มโครงการ Unique Identification Authority of India (UIDAI) โดยมีหน่วยงานกลางอย่าง Aadhaar ที่เปิดให้คนอินเดียมาสมัครรับบริการ เพื่อใช้สำหรับการสร้างระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลให้กับผู้อยู่อาศัยในประเทศกว่า 1.32 พันล้านคน และตั้งชื่อแพลตฟอร์มนี้ว่า “AADHAAR (อาดฮาร์)” โดยระบบจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อจริง ที่อยู่ เพศ อีเมล เบอร์โทร และรูปถ่ายใบหน้า ร่วมด้วยข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า สแกนม่านตา เพื่อสร้างการยืนยันตัวตนพร้อมให้ AADHAAR ID หมายเลขประจำตัว 12 หลักแก่บุคคลนั้นๆ ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 ปีกว่า ก็สามารถดึงคนอินเดียเข้าระบบได้สำเร็จถึง 1 พันล้านคน แซงหน้าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแพลตฟอร์มไปแบบขาดลอย
โดยคนอินเดีย สามารถใช้หมายเลข AADHAAR ID จำนวน 12 หลัก ไปเปิดบัญชีธนาคาร และทำธุรกรรมทางการเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐได้ใช้ระบบ AADHAAR ให้บริการความช่วยเหลือชาวอินเดียในด้านสาธารณูปโภค โดยรัฐส่งเงินสนับสนุนช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีราคาสูงเข้าบัญชีธนาคารที่สมัครโดย AADHAAR ID ให้แก่ประชากรกลุ่มยากจน รวมถึงประชากรอินเดีย ยังสามารถนำหมายเลขดังกล่าวไปยืนยันตัวตนเพื่อรับบริการด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการรัฐ ด้านสาธารณสุข โดยไม่ต้องใช้เอกสารและรอตรวจสอบยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน หลายชั่วโมงเช่นเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังร่วมมือกับบริษัทเอกชน และนักลงทุนในท้องถิ่น เดินหน้าพัฒนาระบบเพื่อขยายบริการด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงในปี 2564 ยังมีรายงานว่า จะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ออสเตรเลีย สร้างแอปฯ ยืนยันตัวทางดิจิทัล “ติดต่อราชการ-ดีลธุรกิจ” เลือกได้ตามใจ
ด้านประเทศออสเตรเลีย (Australia) หนึ่งในประเทศที่รวมคนหลากหลายเชื้อชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่อง Digital ID เช่นกัน โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้เสนอสัญญาต่อประชากรว่า Digital ID เป็นวิธีที่ปลอดภัย และสะดวกในการพิสูจน์ว่าคุณเป็นใครในโลกออนไลน์ทุกครั้งที่คุณเข้าถึงบริการของรัฐบาล พร้อมหลีกเลี่ยงการเสียเวลาในการระบุตัวตนซ้ำๆ หลายรอบ ขณะเดียวกันออสเตรเลียได้มีการวางกรอบและแผนนโยบายในการคิดนวัตกรรมที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในประเทศ จึงสร้างแอปพลิเคชัน 2 แอปฯ เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยแบ่งการใช้งานสำหรับติดต่อภาครัฐและภาคเอกชนอย่างชัดเจน ดังนี้ 1. MY GOV ID ทำหน้าที่คล้ายบัตรประจำตัวประชาชนแทนเอกสารยืนตน เวลาไปติดต่อราชการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาล และ 2. AUSTRALIA POST ID ทำหน้าที่คล้ายเอกสารยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อกับทางภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ที่มีรูปแบบการทำงานคล้ายๆ กับบัตร Rabbit ของไทย
สิงคโปร์ ขยายบริการ Digital ID สู่แอปฯ SingPass Mobile เข้าถึงทุกบริการรัฐ-เอกชน
กว่า 20 ปี ประเทศสิงคโปร์ (Singapore) ได้วางรากฐานการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยสร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ในนาม Singapore Personal Access หรือ SingPass เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐบาลได้อย่างสะดวก โดยให้ประชาชนยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วยการใช้ Username ร่วมกับ Password และ OTP(One-time password) จากนั้นในปี 2561 รัฐบาลได้ต่อยอดการเข้าถึงบริการ ผ่านการสร้างแอปพลิเคชัน “SingPass Mobile” ให้บริการภายใต้ระบบ National Digital Identity (NDI) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านดิจิทัลของประเทศ โดยประชาชนสามารถเข้าแอปฯ เพียงให้ข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) เช่น ลายนิ้วมือ หรือกรอกรหัส 6 หลัก ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็สามารถใช้ SingPass Mobile ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแทนบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ รวมถึงรับข่าวสารจากรัฐบาลได้ผ่านแอปฯ
ล่าสุดเดือนตุลาคม ปี 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงก้าวสำคัญความเป็น Smart Nation ว่า หน่วยงานของรัฐทุกแห่งจะยอมรับบัตรประจำตัวประชาชนในแอปฯ SingPass Mobile แทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยในแอปฯ จะมีหน้าจอแสดงข้อมูลพื้นฐานเฉพาะของบุคคลนั้นๆ ได้แก่ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน รูปถ่าย เพศ สัญชาติ วันเกิด ที่อยู่ หรือกรณีชาวต่างชาติ ผู้ถือใบอนุญาตทำงานและพำนักอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ในแอปฯ ก็จะมีข้อมูลระบุตัวตน เช่น เป็นคนประเทศใด ทำงานบริษัทใด มีชื่อข้อมูลนายจ้างกำกับ สำหรับตรวจสอบข้อมูลระบุตัวตน ซึ่งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวไปยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมทางออนไลน์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ทำธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ของรัฐบาล คลินิก และห้องสมุดสาธารณะ ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามย้ายการบริการออฟไลน์ต่างๆ เข้ามาไว้ในระบบออนไลน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นในบางกรณีที่มีประเด็นความละเอียดอ่อนของข้อมูล ที่อาจจะยังต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงอยู่ นอกจากนี้ตัวหน้าจอแอปฯ มีการทำโลโก้แบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการจับภาพหน้าจอไปปลอมแปลงอีกด้วย
ประเทศไทย กับเส้นทางผลักดัน Digital ID ในประเทศ สู่การยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร
เมื่อหลายวันก่อน หลายคนคงได้รับข่าวสารการประกาศจาก กรมการปกครอง เรื่องยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็นและต้องการใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แท้จริงไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น ในไทยเองได้เริ่มผลักดันในเรื่องนี้มาร่วม 16 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้บัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ในรูปแบบสมาร์ทการ์ด ต่อมารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเรื่อง National Digital ID Platform (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่างๆ ในยุคดิจิทัลมีความรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จากนั้นปี 2560 ได้มีการแผนพัฒนาระบบ Digital ID และในปี 2562 มีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรกคือการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดยเพิ่มเรื่องธรรมาภิบาล และอีกฉบับคือ พ.ร.บ.การบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ให้หน่วยงานของรัฐมีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและอนุมัติในหลักการการพัฒนาระบบรองรับ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาการใช้งานจริง เช่น มีบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด แต่เวลาใช้งานจริงยังต้องถ่ายเอกสารสำเนา ทำให้เสียทรัพยากรและเวลามาก หรือประชากรบางกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือใช้โทรศัพท์ที่ไม่รองรับก็ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านแอปฯ ได้ เช่น แอปฯ เป๋าตัง รวมถึงการเปลี่ยนชื่อ การย้ายทะเบียนบ้านก็ต้องใช้เอกสารสำเนายืนยันตัวตนหลายขั้นตอน แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนการใช้งาน Digital ID มากขึ้น เช่น กรมการปกครองยกเลิกเรียกสำเนาเอกสาร ในสถานพยาบาลก็มีโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เปิดให้คนที่เข้ามารักษาตรวจสุขภาพใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดยืนยันตัวตนแทนเอกสาร สำหรับฝั่งการเงินมีหลายธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีการให้บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (NDID) ผ่านแอป SCB EASY, K Plus และ KMA-Krungsri mobile app ตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาพรวม Digital ID ในประเทศไทย สำหรับการดำเนินงานในปี 2565 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1. นโยบาย Top-Down ร่วมผลักดันนำวิสัยทัศน์ จากมติ ครม. ถึงแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) สู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดบริการกับหน่วยงานรัฐและเอกชน 2. ละลายระบบ SILO ภาครัฐและภาคเอกชนทำงานเชื่อมต่อข้อมูลแบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน 3. ส่งเสริมบริการภาครัฐที่มีประสิทธิผลสูง ปัจจุบันเลือก 12 บริการเตรียมทดลองนำร่องเรียบร้อย และ 4. สร้างความชัดเจนด้านกฎหมายและนโยบายกำกับดูแล ปัจจุบัน ETDA ร่างกรอบแนวทางการพัฒนาบริการ Digital ID หรือ Digital ID Framework ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน Digital ID เกิดขึ้นได้จริง
สามารถติดตามข่าวสารน่าสนใจของ ETDA ได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand) รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ETDA Thailand ทุกช่องทาง รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับ Digital ID โดยเฉพาะ ผ่านแคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี (https://www.facebook.com/meid.thailand)