ความพยายามผลักดันในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ใช้งานอย่างแพร่หลายของทุกภาคส่วน นับเป็นความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถสันดาปอย่างในปัจจุบัน แม้ว่าต้นทางกรรมวิธีการสร้างไฟฟ้าจะยังคงเดิมก็ตาม แต่กระนั้นความพยายามในการสร้าง สถานีชาร์จ ของค่ายรถกลับถูกตั้งแง่ให้กับผู้ใช้ด้วยวาระซ่อนเร้นที่จำกัดอยู่เพียงแค่ค่ายรถของตนเอง แม้ว่าสถานีชาร์จแห่งนั้นจะตั้งอยู่ในสถานบริการนอกค่ายรถยนต์นั้นๆเองก็ตาม
ปัจจุบันประเทศไทยมี สถานีชาร์จ หลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้น ทั้งของภาครัฐและเอกชนเองที่เริ่มทำออกมารองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 7- 11 kWh หรือจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ลงเครื่องชาร์จเร็วที่มีแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50kWh ขึ้นไปทั้งของค่ายรถเอง เอกชนรายใหญ่และผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมเล่นด้วย แต่เอาเข้าจริง สถานีชาร์จที่มีการลงเครื่องชาร์จเร็วมากกว่าครึ่งกลับเป็๋นของค่ายรถที่จำกัดการใช้สำหรับลูกค้าแบรนด์ตนเองเท่านั้น หากมองในมุมของผู้ประกอบการก็คงไม่แปลก แต่มองในมุมผู้บริโภคผมเชื่อว่าคงรู้สึกแปลกเป็นอย่างมาก เพราะการเข้าสถานีชาร์จไฟก็เหมือนเข้าเติมน้ำมันในปั๊มสำหรับรถยนต์สันดาป เมื่อเห็นว่ามีปั๊มอยู่ที่ไหน เราก็ควรจะเข้าได้ทุกค่ายทุกแบรนด์เพื่อชาร์จไฟฟ้าได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้
ยิ่งเห็นการให้สัมภาษย์ของผู้บริหารค่ายต่างในแต่ละครั้ง ที่มักบอกเสมอว่าการขยายสถานีชาร์จจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกใช้งานมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย แต่เมื่อสถานีชาร์จถูกสร้างกลับถูกจำกัดการใช้จากทุกค่ายให้สำหรับรถยนต์ยี่ห้อตนเองเท่านั้น แล้ววันวานที่พูดสวยหรูที่ผ่านมาคืออะไร ทำให้เราต้องมองย้อนกลับมาดูว่า สิ่งที่ค่ายรถยนต์เหล่านี้พูดก่อนหน้าจะหาความจริงใจอย่างไรได้บ้าง
ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร สะท้อนธรรมมาภิบาลธุรกิจ
การออกมาพูดว่าจะสร้างระบบนิเวศน์รถยนต์ไฟฟ้าในไทย แต่กลับตั้งแง่ในการเข้าใช้สถานีชาร์จที่เป็นของตนเอง นับเป็นหายนะขั้นร้ายแรงที่ปูทางไปสู่การใช้ทรัพยากรไฟฟ้าและสถานที่ที่ไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นหากมองที่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ก็นับว่าเป็นการโกหกคำโตที่บอกว่าตั้งใจจะสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดขึ้น เพราะการตั้งสถานีชาร์จให้แค่รถตัวเองก็ไม่ต่างจากการสร้างระบบชาร์จไว้ที่บ้าน เพราะใครก็ไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ระบบนิเวศน์ส่วนรวมเกิดขึ้นแต่อย่างใด
และนอกจากจะไม่เกิดระบบนิเวศน์ที่ดีแล้ว การตั้งสถานีชาร์จภายในปั๊มน้ำมันยังเป็นการจำกัดสิทธิ์การใช้ และเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งสถานที่และพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก หากมองให้ดี เมื่อรถที่เข้ามาไม่ใช่ของค่ายนั้นก็จะไม่สามารถชาร์จได้ ทำให้สูญเปล่าในการตั้งสถานี หรือจะต้องให้ตั้งของทุกค่ายให้เต็มปั๊มกันไปเลยเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตมันก็คงเป็นไปไม่ได้
คำพูดของผู้บริหารเหล่านี้หมดความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย คงไม่ต้องบอกว่าค่ายไหนบ้าง แค่ลองดูว่าค่ายไหนมีรถยนต์ไฟฟ้าแล้วตั้งสถานีชาร์จแบรนด์ตนเอง แล้วลองไปหาดูคำพูดผู้บริหารก็จะรู้ว่า คำพูดเหล่านั้นขัดแย้งและจอมปลอมกับสิ่งที่ทำเป็นอย่างมาก
การตั้งสถานีชาร์จแล้วจำกัดการใช้เฉพาะรถยนต์ของค่ายนั้น นับเป็นหายนะเริ่มต้นที่ไม่ต่างจากการใช้มือถือล็อคซิมการ์ดในสมัยก่อน นั่นเพราะค่ายรถยนต์ยังมองว่าเป็นการกุมอำนาจต่อรองในการซื้อรถยนต์ของค่าย แต่เปล่าเลย ปัจจัยการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการสำรวจที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามีการพิจารณาที่นอกเหนือจากเรื่องของสมรรถนะรถแล้ว ยังมีเรื่องทัศนคติของการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับความมีธรรมภิบารของกิจการอีกด้วย
การบั่นทอนระบบนิเวศน์ของค่ายรถยนต์อีวีในปัจจุบัน แม้ว่าจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอย่าง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ออกมาเคลื่อนไหว ในการเสนอตั้งสถานีชาร์จให้ฟรี สำหรับการตั้งสถานีชาร์จที่ทุกค่ายรถยนต์สามารถเข้ามาชาร์จไฟฟ้าได้ แน่นอนว่านี่อาจนับได้ว่าเป็นการตอบโต้ความจอมปลอมของค่ายรถยนต์ ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวของประเทศมองเห็นหายนะที่จะเกิดขึ้น แล้วทำการตอบโต้พฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าในพิธีเปิดสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมันของค่ายหนึ่ง กฟน.จะเข้าร่วมงานเพื่อแสดงความยินดีไปแล้วก็ตาม
สถานีชาร์จในปั๊มน้ำมัน ควรใช้ได้กับทุกยี่ห้อ
การตั้งสถานีชาร์จที่นอกเหนือจากศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ อยากเรียกร้องให้เปิดให้บริการกับทุกยี่ห้อรถสามารถเข้าใช้งานได้ อย่าปล่อยให้การพูดของผู้บริหารเป็นเพียงแค่คำลวงของการสร้างระบบนิเวศน์ที่สวยหรูอีกต่อไป แต่หากค่ายรถยนต์ยังไม่ยอมออกนโยบายในประเด็นนี้อย่างจริงจัง
ผู้กำกับดูแล ควรออกมาลงดาบ เพื่อสร้างมาตรฐานและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้รถยนต์อีวีในประเทศไทยอย่างจริงจัง แน่นอนว่าเรื่องของอุปกรณ์และหัวชาร์จไม่ใช่ปัญหาที่ค่ายรถยนต์จะนำมาเป็นปัจจัยในการให้บริการรถยนต์ค่ายอื่นๆได้ มีเพียงการตั้งแง่ในการใช้บัตรของค่ายในการเปิดใช้งานหัวจ่าย หรือแม้กระทั่งการตั้งค่าซอฟต์แวร์ให้ไม่สามารถใช้งานได้หากไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นรถยนต์ของค่ายเท่านั้นในระบบ
การออกมาตอบโต้ของ กฟน.นับว่าเป็นเรื่องดี แต่หากจะลงทุนให้ฟรีแล้วขยายไปในวงกว้างเชื่อแน่ว่าก็จะไม่ไหว เพราะเท่าที่ดูมีผู้ยื่นคำร้องของติดตั้งฟรีแล้วกว่า 100 ราย แต่กลับมียอดการพิจารณาผ่านเงื่อนไขเพียงแค่ 10 รายเท่านั้น นับว่าน้อยมาก ซึ่งเชื่อว่าเหตุผลลึกๆคือเรื่องของเงินทุนที่ กฟน.จะต้องลงทุนต่อเครื่องราว 2 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนของ กฟน.เช่นนี้คงไม่สามารถทำได้เยอะอย่างแน่นอน
หากมองในมุมของการให้บริการสถานีชาร์จของเอกชนที่ การไฟฟ้า คาดว่าจะขายส่งให้ไปคิดราคาเพิ่มนั้นก็เริ่มที่หน่วยละกว่า 6 บาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าใช้ตามบ้านราว 3-4 เท่าแล้วแต่ค่าไฟฟ้าผันแปร ก็เป็นอีกส่วนที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากต้นทุนไม่สัมพันธ์กับการลงทุน พูดง่ายๆว่าขาดทุนตั้งแต่ในกระดาษ แล้วเช่นนี้ใครจะลงทุนได้
ความขัดแย้งเช่นนี้ ทำให้ค่ายรถยนต์มองเป็นโอกาสในการต่อรอง ในการสร้างสถานีชาร์จของตนเอง เพื่อให้ผู้บริโภคต้องจำใจยอมรับว่าค่ายนั้น ๆ มีสถานีชาร์จที่เยอะมากพอที่จะใช้รถยนต์ได้ทั่วประเทศอย่างมั่นใจว่าจะหาที่ชาร์จไฟได้อย่างแน่นอนเมื่อซื้อมาใช้งานจริง
ไม่ต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ซื้อมือถือ ถูกจำกัดการใช้งานภายในค่ายนั้น ด้วยข้อกฏหมายของการย้ายค่ายเบอร์เดิมไม่ได้ ตัวเครื่องที่ถูกล็อคให้ใช้ได้เฉพาะซิมการ์ดของค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น หรือแม้กระทั่งความยุ่งยากส่วนตัวที่หากย้ายค่ายก็ต้องเปลี่ยนเบอร์ทำให้ต้องแจ้งผู้ติดต่อใหม่ทั้งหมด ทำให้อำนาจการตัดสินใจใช้งานตกเป็นของผู้ให้บริการไปโดยสิ้นเชิง จนในที่สุดก็มีการประกาศเลิกทาสมือถือได้จากความพยายามอยู่หลายปี แล้วทำให้อำนาจในการตัดสินใจใช้งานมือถือกลับมาที่ผู้บริโภคอีกครั้ง
วันนี้เรื่องดังกล่าว เริ่มจะกลับมาวนเวียนเข้ากับค่ายรถยนต์อีกครั้ง การเริ่มต้นเช่นนี้ไม่ดีต่อระบบนิเวศน์รถยนต์อีวีอย่างแน่นอน ก็ได้แต่วอนขอให้ผู้บริหารได้ทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกในความตั้งใจที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย หรือแม้กระทั่งบอร์ดอีวี ที่ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานหลักของอุตสาหกรรมได้ออกกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อควบคุมทิศทางนอกลู่ให้กลับเข้ามาอยู่ในลู่วิ่งที่เป็นธรรมอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกค่ายต่างแย่งชิงอำนาจการต่อรองกัน แต่ขอเถอะครับผู้บริโภคไม่ใช่เหยื่อ การไม่จริงใจต่อกันเช่นนี้ หากผู้บริโภคไม่สนับสนุนค่ายคุณแล้วมันจะตกขบวนได้โดยง่ายเช่นกัน