การแถลงข่าวครั้งล่าสุดของผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหาร ไทยวา ได้เผยให้เห็นถึงแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางรักษ์โลก ด้วยการพัฒนาพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ล่าสุดที่ช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างมาก ตั้งเป้าเริ่มต้นผลิตภายในปี 2565 ให้ได้ 3,000 ตัน
โดย TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับคุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจพิเศษและการพัฒนาองค์กร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ระบุว่า หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของบริษัทในการมุ่งสู่ความยั่งยืนที่ไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมชั่วคราวเท่านั้น คือการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า ROSECO ด้วยการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพแท้ (Bioplastic) สำหรับนำไปผลิตสินค้าที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4-6 เดือนเท่านั้น
ซึ่งการพัฒนาพลาสติกชีวภาพขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ Roseco เริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ แล้วมีบริษัทเริ่มนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้ เมื่อหมดสภาพบางส่วนจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการหมักเพื่อย่อยสลายกลายเป็นเชื่อเพลิงแล้วผลิตออกมาเป็นไฟฟ้า ขณะที่บางส่วนจะถูกทิ้งรวมกับดินแล้วเกิดการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืชหรือต้นมันสำปะหลังและเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังนั้นมาเข้าสู่กระบวนการผลิตแป้งอีกครั้ง
เป้าหมายของไทยวาในการส่งต่อให้เกิดระบบหมุนเวียนของพลาสติกชีวภาพเช่นนี้จะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่กำหนดขึ้นร่วมกันจากองค์การสหประชาชาติ ที่ส่งเสริมให้ทุกกิจกรรมบนโลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในขั้นตอนการผลิตนั้น ไทยวาได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนการเปลี่ยนจากแป้งสู่เม็ดพลาสติกเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
โดยพลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ทั้งแบบ Polymer และ Bio-Compound ที่สามารถย่อยสลายได้อย่างหมดจด ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 3-4.5เท่าในขั้นตอนการผลิต สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์ พลาสติกคลุมดิน ฯลฯ
ซึ่งตัวโรงงานจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มผลิตสินค้าได้ราวไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ โดยตั้งเป้าที่จะผลิตราว 3,000 ตันในปี 2565 โดยจากการสำรวจก็พบว่าตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าการพัฒนาเม็ดพลาสติดชีวภาพในครั้งนี้จะไม่ส่งผลให้ราคาของแป้งมันขยับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะโดยปกติราคาแป้งมันจะถูกกำหนดโดยประเทศผู้ส่งออกใหญ่ของโลกซึ่งก็คือประเทศไทยและเวียตนาม และที่ผ่านมามีการขยับราคาขึ้นลงตามภาวะตลาดเท่านั้น และยังไม่เคยมีการขยับราคาอย่างไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ไทยวาจะมีการผลิตแป้งมันต่อปีอยู่ที่ราว 3 แสนตัน แต่การผลิตพลาสติกชีวภาพจะมีเป้าหมายอยู่ที่ราว 3,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของการนำแป้งมันมาใช้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมันสัมปะหลังทั่วประเทศไทยจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าในปี 2563 มีพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศรวมกันกว่า 9 ล้านไร่ รวมผลผลิตมากกว่า 28 ล้านตัน เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่กว่า 3 ตัน