สุภิญญา ฟันธงการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทรู – ดีแทค สุดท้ายจะจบลงที่ศาลปกครองจี้ กสทช. ทำหน้าที่ อย่าทำให้สังคมผิดหวัง ขณะที่ตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนค้านสุดลิ่ม หวั่นทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพ
- – ผู้ถือหุ้นทรู-ดีแทค อนุมัติ ควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค
- – บอร์ดดีแทค อนุมัติการควบรวมกับทรู คาดเสร็จสิ้นภายในปี 65
ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.2 : “Public Policy & Telecom Mergers: Ramifications on Competition and Consumers Protection : นโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม” เพื่อชวนผู้บริโภคมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในประเด็นการควบรวมกิจการ ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการค่ายมือถือในประเทศไทย จาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย และจะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยถึงร้อยละ 52 ถือเป็นการผูกขาดหรือไม่ และผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
โดยมีสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล พิชัย นริพทะพันธุ์ พรรคเพื่อไทย และ นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ ร่วมเสวนาถึงผลกระทบต่อประเทศและนโยบายพรรคการเมืองต่อปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม
เริ่มต้นจาก สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้มุมมองจากประสบการณ์กรณีที่ DTAC (ดีแทค) ออกมาประกาศการควบรวมกิจการโทรคมนาคมกับ TRUE (ทรู) สุดท้ายเชื่อว่า เรื่องนี้จะจบลงที่ศาลปกครองและกินเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟ้องใคร ฉะนั้น จึงขอให้กำลังใจ กสทช. ชุดใหม่ทำงานอย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ โปร่งใส และตรงไปตรงมา
“กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ควรทำให้สังคมผิดหวัง เพราะสังคมลงทุนสร้าง กสทช. ให้มีอิสระ มีงบประมาณ มีสวัสดิการดี หากคุณยืนธงไม่มีอำนาจ จึงเป็นเรื่องรับไม่ได้ ” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค อ้างถึงกรณีที่ กสทช.ชุดที่แล้ว อ้างว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการของสองบริษัทโทรคมนาคม
ขณะที่สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมทรู – ดีแทคนั้น ขัดกับกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎหมาย กสทช. กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฉะนั้น สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะขับเคลื่อนต่อไป คือ การไปให้ความคิดเห็นในเวที กสทช. อีกรอบหนึ่ง และหวังว่า กสทช. จะใช้ข้อมูลทั้งหมดตัดสินใจอย่างรอบคอบ
ในความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อมูลถึงกรณีการควบรวม ทรู – ดีแทค จะทำให้ดัชนีการกระจุกตัว (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน คือ 2,500 และส่งผลให้การแข่งขันลดลงจริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า ค่าดัชนี HHI ปัจจุบันอยู่ที่ 3,575 ซึ่งเกินค่ามาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น เห็นว่า ดีลครั้งนี้จะไม่ทำให้การแข่งขันลดลง ทางกลับกันจะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา ผลประโยชน์ตกกับผู้บริโภค คุณภาพสัญญาณดีขึ้น มีศูนย์บริการเพิ่มขึ้น
“การควบรวมทรู – ดีแทค จะทำให้มีผู้ประกอบการมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน มีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม กสทช.ก็ต้องเร่งออกระเบียบให้ผู้ประกอบการทุกราย ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) และ ธุรกิจที่ใช้ความสามารถของแอปพลิเคชันผนวกเข้ากับการใช้ช่องทางการสื่อสารในธุรกิจโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมกระจายเสียงแพร่ภาพ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก (OTT) ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เสียภาษีเหมือนกัน ไม่ปล่อยให้มีการขนรายได้จำนวนมากกลับประเทศของตน โดยไม่เสียภาษีให้รัฐบาลไทยดังปัจจุบัน”ดร.สามารถ แสดงความเห็นยืนยันชัดที่สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติโดยรวม
ขณะที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พิชัย นริพทะพันธุ์ กล่าวว่า มติพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ด้วยมองว่า จะสร้างปัญหาให้กับประเทศในหลาย ๆ เรื่อง เพราะการเหลือผู้เล่นในตลาดน้อยราย จะทำให้ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้นและผู้บริโภคได้รับผลกระทบแน่นอน อย่างไรก็ตาม พรรคไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดในทุกธุรกิจ การมีผู้ประกอบการมากรายเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์มากกว่า การมีอิทธิพลมากเกินไปจะไปกีดกันผู้ประกอบการใหม่ ๆ ไม่ให้เติบโต
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของ กสทช. ชุดที่แล้วที่เปลี่ยนกฎจากการมาขออนุญาตควบรวมกิจการ เป็นแจ้งให้ทราบว่าแปลกประหลาด เนื่องจาก กสทช. ไม่มีสิทธิไปห้ามการควบรวมหรือไม่ควบรวมกิจการ ถือเป็นการลดอำนาจตัวเอง จึงตั้งคำถามว่า รับใบสั่งมาหรือไม่ถึงออกประกาศมาแบบนี้
“ผมเชื่อว่ารัฐบาลสามารถหยุดยั้งดีลเรื่องนี้ได้ ขอให้ทำจริงจังไม่ต้องเกรงใจเจ้าสัว เรายังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น รัฐอาจเปิดเสรีให้ผู้ให้บริการค่ายมือถือที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามา หรืออาจให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เข้ามาซื้อกิจการ โดยร่วมกับผู้ให้บริการค่ายมือถือที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญก็ได้” พิชัย ระบุ
ในส่วนของพรรคก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวถึงจุดยืนที่คัดค้านไม่อยากให้ดีลควบรวมกิจการนี้เกิดขึ้นโดยเชื่อว่า ตลาดที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้เอง ดังนั้น ผู้กำกับดูแลต้องคิดถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก การควบรวมนี้จะเกิดการกระจุกตัว เหลือผู้ให้บริการค่ายมือถือเพียง 2 เจ้า ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษา พบว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย กลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน
ทั้งนี้ ศิริกัญญา ได้ตั้งข้อสังเกตุกรณีการควบรวมทรู – ดีแทค ว่า กสทช. ได้ตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นมา เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนโยบายสาธารณะและการแข่งขันทางการค้าเลย ดังนั้น จึงต้องการฝากผีฝากไข้ไว้กับ กสทช. ชุดใหม่ ขณะเดียวกันการบ้านที่ต้องทำต่อจากนี้ คือ การแก้ไขกฎระเบียบ แก้ไขกฎหมาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค การควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ผู้บริโภคกลับมีการตื่นตัวต่อประเด็นนี้น้อยมาก
สุดท้าย นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ แสดงความเห็นด้วยกับการส่งเสริมการค้าเสรีที่เป็นธรรมพร้อมยืนยันว่า ปลาเล็กต้องไม่กินปลาใหญ่ ปลาทุกตัวต้องอยู่ร่วมกันในบ่อน้ำของประเทศไทยได้ ซึ่งข้อดีของการควบรวมทรู – ดีแทค แม้จะทำให้ธุรกิจนี้มีต้นทุนต่ำลง มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำธุรกิจสู้กับต่างชาติได้ แต่โจทย์ คือ ราคาค่าบริการจะถูกลงหรือไม่ ขณะที่ข้อเสียของการควบรวมดังกล่าวมีสัญญาณอันตรายจะเกิดการผูกขาด การแข่งขันจะไม่เสรี การแข่งขันน้อยลง และเป็นอุปสรรคต่อลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย
“หลักการเรื่องนี้เราเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่องการควบรวม รัฐต้องกำกับดูแลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ผมไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมกิจการครั้งนี้ เร็ว ๆ นี้ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True และ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง มีมติจะส่งข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีขอให้มีการชะลอ อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ พร้อมขอให้มีการศึกษาและพิจารณาข้อดี-ข้อเสียให้รอบคอบ รอบด้านก่อน พร้อมกันนี้เราคาดหวังกสทช.ชุดใหม่ด้วยว่า การพิจารณาดีลฯ นี้จะไม่จบลงแบบมวยล้มต้มคนดู” นพ.ระวี ระบุ