โลกของอาหารมักวิ่งขนานกับโลกของผู้หิวโหยอยู่เสมอ แนวคิดของ วีวี แชร์ เป็นอีกหนึ่งโมเดลของการจัดการทั้งสองโลกให้มาบรรจบกัน ซึ่งเราต่างก็รู้กันดีว่าโลกของอาหารมักจะมีของเหลือที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นทุกวัน และโลกของผู้หิวโหยก็จะมีความต้องการสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน มองเผิน ๆ ดูเหมือนจะง่ายก็แค่เอาทั้งคู่มาบรรจบกันก็น่าจะจบ แต่เรื่องจริงไม่เป็นเหมือนละคร TheReporterAsia ได้มีโอกาสเจอกับพี่หนุ่ย นักธุรกิจใหญ่ที่อุทิศตัวก่อตั้งมูลนิธิวีวี แชร์ โมเดลของการร่วมกันแบ่งปันอาหารให้กับผู้ขาดแคลน ซึ่งบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องแข่งกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่มากพอตัว
คุณศรินทร เมธีวัชรานนท์ หรือพี่หนุ่ย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ วีวี แชร์ ได้เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของมูลนิธิ วีวีแชร์ ที่กว่าจะมาเป็นองค์กร ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร และมีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นการจับคู่ระหว่าง “ผู้มีอาหารเหลือเฟือกับผู้ขาดแคลนอาหาร” พร้อมทั้งเป็นตัวกลางให้กับหน่วยงานผู้บริจาคและผู้รับบริจาคมาพบกัน เพื่อใช้ประโยชน์ของอาหารที่เหลือจากวงจรธุรกิจอาหารส่งต่อให้กับองค์กรที่จัดอาหารสำหรับผู้ยากไร้ พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นในการลดปริมาณขยะอาหาร และเพิ่มโอกาสทางโภชนาการ ให้กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากพันธสัญญาใจที่เก็บงำมากว่า 9ปี
ลึกๆ ในใจของการอุทิศตัวเข้ามาทำงานนี้ คือความรักในเพื่อนมนุษย์และความรักในสิ่งแวดล้อม และการตั้งมูลนิธินี้สำเร็จก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ซึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มีนักบวชหญิงที่โรงเรียนมาแตร์ บอกเล่าถึงสถานะของคนรวยและคนจนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และคิดว่าทำอย่างไรที่เราจะช่วยเกลี่ยความไม่สมดุลตรงนี้ให้กับสังคมได้ จนเริ่มก่อตั้งซุปคิทเช่น (Soup Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์ให้อาหาร แก่พี่น้องคนไทยที่ต้องการอาหารเพื่อยังชีพในเวลาต่อมา

ช่วงเวลาของสารตั้งต้นแห่งศรัทรา เปร่งแสงแห่งความหวัง
นับตั้งแต่ปี 2556 หลังจากที่พี่หนุ่ยได้รวบรวมเงินก้อนหนึ่ง เพื่อส่งมอบให้ซิสเตอร์ แมรี่ วอลเตอร์ แซนเตอร์ (Sr. Mary Walter Santer) นักบวช หญิง คณะอุร์สุลิน ประจำโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนของพี่หนุ่ย ผู้ซึ่งรักพี่หนุ่ยมาก เพื่อไปสร้างระบบน้ำประปาให้แก่หมู่บ้านที่ยากจนมากแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา แล้วเราก็ได้คุยกันถึงความไม่เท่าเทียมกันในชีวิตมนุษย์
เราคุยกันถึงคติพจน์ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กับคำว่า “เซอร์เวียม” (Serviam) ซึ่งมี ความหมายว่า “ข้าฯ จะรับใช้” และท้ายที่สุดเราก็สรุปกันว่า เราจะก่อตั้งซุปคิชเช่น (Soup Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์ให้อาหารแก่พี่น้องคนไทยที่ต้องการอาหารเพื่อยังชีพ ซึ่งเราก็วางแผนการทำงานกันอย่างดี แต่น่าเสียดายที่มาแมร์ล้มป่วยนานกว่า 9 เดือนแล้วเสียชีวิตลง ทำให้โครงการที่จะเกิดขึ้นไม่มีคนสนใจเข้าร่วม นับตั้งแต่วันนั้นพี่หนุ่ยก็เก็บเอาไว้ลึก ๆ ในใจว่า “ยังติดค้างสัญญากับมาแมร์ว่าจะทำโครงการอาหารไปแจกให้กับผู้ยากไร้อยู่เสมอ”
9 ปีผ่านไป ในวันที่ 26 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก แต่มีเพื่อนในกลุ่มไลน์ ส่งข้อความมาบอกว่า วันนั้นเป็นวันครบ 2 ปีที่ประเทศฝรั่งเศสออกกฎหมายว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตใด มีพื้นที่เท่านี้แล้วทิ้งอาหาร จะถือว่ามีความผิดทางอาญา แล้วเขาก็ลงเล่น ๆ ว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีกฎหมายแบบนี้บ้าง ทำให้พี่หนุ่ยรีบพิมพ์ใส่ลงไปเลยว่า ครั้งหนึ่งพี่หนุ่ยเคยคิดที่จะนำอาหารที่เหลือไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เสียดายจังเลย แล้วเพื่อนก็ตอบกลับมาว่า ถ้าพี่หนุ่ยจะทำตอนนี้พวกเราจะช่วย ซึ่งตอนนั้นพี่หนุ่ยตื่นเต้นมากเลย เพราะ 9 ปีที่เก็บความต้องการนี้อยู่ในใจ แล้วเราก็นัดเจอกันเลย 17 คน
แต่หลังจากนั้นกว่า 1 ปีราวปี 2562ก็เหลือผู้ที่เข้าร่วมประชุมจนมีการจัดตั้งมูลนิธิจริง ๆ อยู่เพียงแค่ 3 คน โดยนอกจากพี่หนุ่ยแล้วก็จะมี ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย และดร.มนตรี หล่อกอบกิจ ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ เราได้คุยกันถึงรูปแบบที่จะทำเป็นแพลตฟอร์มของการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคกับผู้ที่ต้องการรับบริจาคเข้าด้วยกันแล้วจบเลย แต่พี่หนุ่ยคิดว่าเราไม่ได้จะทำแค่นั้น เราอยากให้มี Love & Care มากกว่าการเข้ามาบริจาคแล้วจบ
วันนั้นพี่หนุ่ยก็พากันลงพื้นที่เลย เพื่อไปดูความยากไร้ตามชุมชนต่าง ๆ แล้วก็เลยได้ข้อสรุปว่า งานนี้ถ้าจะทำ สำคัญที่สุด เราต้องมีหัวใจรักเพื่อนมนุษย์ หลังจากที่เราได้ข้อสรุปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาอาหารเข้ามาในระบบ ซึ่งง่ายที่สุดเลยก็คือการไปขออาหารมาจากซุปเปอร์สโตร์ทั้งหลายที่มีการเก็บอาหารออกจากชั้นวางก่อนหมดอายุ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะติดต่อขออาหารโดยลำพัง ซึ่งก็ได้ลูกเขยคนโตช่วยต่อสายเพื่อนสนิทให้ได้อาหารจากซุปเปอร์สโตร์ใหญ่ถึง 2 แบรนด์ แต่เราต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิก่อน
ปลายปี 2562 เราก็เริ่มจัดตั้งมูลนิธิด้วยเงินตั้งต้น 2แสนบาท พี่หนุ่ยรู้ว่าเราจะเอาอาหารจากซุปเปอร์สโตร์ไปส่งให้กับผู้ยากไร้ แต่แล้วยังงัยต่อเพราะเงิน 2 แสนบาทไม่เพียงพอที่จะทำได้ เนื่องจากพี่หนุ่ยเป็นคริสต์เราก็สวดภาวนาขอให้สิ่งที่เราจะทำนั้นสำเร็จ ปรากฎว่าเรื่องของเรารู้เข้าไปถึงบิชอป 2 องค์ ท่านก็นำเรื่องเข้าสภาบิชอปแห่งประเทศไทย เพื่อหาแรงสนับสนุน ซึ่งก็ได้ พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อนุมัติซื้อรถติดตู้เย็นให้เลยราว 9 แสนบาท แล้วก็สร้างห้องเย็นเก็บอาหารให้เลยที่รังสิต นับเป็นจุดเริ่มต้นและทำให้เราได้เริ่มกิจกรรมของมูลนิธิวันแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2563
และนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่มูลนิธิ วีวี แชร์ ได้ดำเนินการ จนถึง 2 มิถุนายน 2565 เราได้แบ่งปันอาหารให้กับศูนย์และชุมชนต่างๆในกทม และจังหวัดใกล้เคียง 54 แห่ง,จังหวัดเชียงใหม่ 12 แห่ง,ศูนย์สงเคราะห์จังหวัดเชียงราย 4 แห่งและชุมชนอีก 31 ชุมชน ,ชุมชนในจังหวัดสกลนคร 4 แห่ง สามารถนำอาหารแบ่งปันได้ทั้งหมด 45,081.61 กิโลกรัมและ 18,328 กล่อง รวมทำอาหารได้ถึง 137,704 มื้อ เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่ยากไร้ และเรามุ่งมั่นที่ขยายความช่วยเหลือออกไปอย่างเต็มที่ เพื่อผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง
พร้อมทั้งมีผู้ได้รับบริจาคเงินจากมูลนิธิฯ 4 ราย ประกอบด้วย 1. เขตศาสนปกครองคาทอลิกเชียงราย 2. วัดคาทอลิกแม่พระแห่งมวลชนนานาชาติ(โครงการหยดน้ำอันชื่นใจ)จังหวัดเชียงราย 3.เขตศาสนปกครองเชียงใหม่ และ 4. มูลนิธิดอกไม้ป่าจังหวัดเชียงใหม่
ยกระดับการพัฒนาสู่โมเดลของการแบ่งปันเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
เมื่อกิจกรรมดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่พี่หนุ่ยเป็นนักธุรกิจ ความโปร่งใส จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริจาคก็ย่อมอยากรู้ว่าสิ่งที่บริจาคจะถึงมือผู้รับไหม ขณะที่การทำงานก็ต้องมีขั้นตอนการจัดการที่รัดกุม เนื่องจากต้องแข่งขันกับเวลาของปริมาณอาหารที่มีวันหมดอายุ ตลอดจนการป้องกันระหว่างการขนส่ง ทำให้เกิดแนวความคิดของการเขียนแอปพลิเคชั่นขึ้นมา เพื่อนำทุกอย่างเข้าสู่ระบบจะได้ง่ายต่อการจัดการและมีความโปร่งใส
แต่ด้วยเงินจำนวนสองแสนบาทจึงไม่เพียงพอในการว่าจ้างนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น ซึ่งก็ได้ลูกชายเข้ามาช่วยพัฒนาให้เอง จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่การนำเข้าอาหารที่บริจาค จนส่งถึงมือผู้รับ ทำให้ง่ายต่อการจัดการ และผู้บริจาคก็สามารถตรวจสอบได้ว่าปลายทางของอาหารที่บริจาคนั้นย้ายไปสู่มือผู้รับบริจาคอย่างไรบ้าง
วันนี้ วีวี แชร์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่เรากำลังจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำโมเดลของการแบ่งปันอาหารนี้ กระจายออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตเมื่อมูลนิธิสามารถเข้าเกณฑ์การหักลดหย่อนรายได้จากการบริจาคให้กับมูลนิธิได้แล้ว เราก็เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมบริจาคเพิ่มมากขึ้น มีพาร์ทเนอร์เข้าร่วมมากขึ้น และเราก็จะขยายขอบเขตการแบ่งปันสู่ผู้ยากไร้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะตอบโจทย์ปณิธานแรกของความตั้งใจที่มีต่อมาแมร์เมื่อกว่า 9 ปีที่แล้ว ในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ตลอดจนการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในส่วนของอาหารได้อย่างมั่นคงต่อไป