แม้ว่าคนทุกคนจะมีมุมมองและเป้าหมายของการประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าล้วนต่างก็เคยผ่านจุดยืนของความสำเร็จที่ทำให้ตนเองภาคภูมิใจมาบ้างไม่มากก็น้อย วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับ น้องฟ้าใส แห่ง CI Talks และอาจารย์โอ๋ แห่งนิเทศน์ศาสตร์จุฬาฯ ถึงต้นแบบของความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาเทคนิคการนำเสนอ แรงบันดาลใจ บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ทุกคนล้วนมีความสำเร็จของตนเองที่สามารถส่งต่อเป็น แรงบันดาลใจ ให้กับผู้อื่นได้เสมอ ด้วยเทคนิค Cinematic ที่จะดึงความสมจริงของการส่งต่อเรื่องราวให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมได้อย่างลึกซึ้ง และกระตุ้นจิตใจให้ลุกขึ้นสู้กับช่วงเวลาวิกฤตของชีวิตได้อีกครั้ง
- – เอ็นไอเอ เผยโฉม 100 นักสร้างสรรค์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ
- – ดีแทค ผนึกกำลัง Salmon Books เดินหน้าสุดแรง หยุดไซเบอร์บูลลี่
อาจารย์โอ๋ ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอย่างจริงจังว่า มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์ที่ว่าด้วย Feature Leader และ นิเทศนวัตกร ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยที่มองการเป็นนวัตกรกับผู้สร้างนวัตกรรม เพื่อต่อยอดไปสู่ผู้สร้างแห่งอนาคตอันจะมาถึง ดังนั้นความร่วมมือของโครงการต่างๆ ที่เราร่วมกันทำกับ CI Talks ก็จะเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพตรงนี้ได้
สิ่งที่เรามองเห็นตรงกันกับทาง CI Talks สำหรับการตั้งเป้าที่จะเป็น Leader ได้คือเราจะต้องเป็นนักสื่อสารที่เก่ง แล้ว CI Talks ก็จะเข้ามาช่วยเราดึงศักยภาพตรงนี้ออกมา ทำให้เราได้เห็นรูปแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่ทอล์คโชว์ แต่เป็นการถ่ายทอดแบบสมจริงที่ออกมาจากทั้งตัวและหัวใจ พร้อมจิตวิญญาณที่จะส่งพลังออกมา ซึ่งหากมาดูคลิปตัวอย่างในแพลตฟอร์ม CI Talks มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนักพูดมาก่อน ขอแค่ให้คุณมีอะไรบางอย่างในชีวิตที่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวคุณจริง ๆ แล้วอยากบอกเล่า อยากส่งต่อคนอื่นว่า “ทำเถอะ” ในความแตกต่าง ในความเหนื่อยและอะไรต่าง ๆ ที่คุณจะต้องผ่านมันไป แต่สุดท้ายแล้วเมื่อคุณตั้งใจทำมัน มันจะออกมาดีและสำเร็จในที่สุด
จากการสังเกตเราเห็นประเด็นสำคัญที่ได้จากคลิปที่นำเสนอในแพลตฟอร์ม CI Talks แล้วก็ให้นิสิตลองทำคลิปออกมากันคนละ 3 นาที โดยที่สมมุติว่าตัวเองในความเป็นนิสิต คุณมีเรื่องอะไรที่อยากจะเล่า บางคนพูดว่าอยากเป็นนักข่าว แล้วนักข่าวที่เขาทำงานอยู่ เขาก็จะต้องมีหลักการที่จะบอกว่าเมื่ออยากเป็นอย่างเขาแล้วคุณจะต้องทำอะไรบ้าง 3ก 5ก อาทิเช่น มีกล้า มีกังขา มีเกื้อหนุน แล้วนิสิตก็จะคิดคำมาจากการดู CI Talks แล้วก็ดึงแนวทางที่สำคัญออกมาถ่ายทอดต่ออีกที
สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่มีแล้วคิดว่าตรงนี้จะเป็นจุดร่วมมือที่ดีมาก ๆ นั่นก็คือ ตัววิธีการเล่าเรื่อง (Story Narrative) มันจะมีแนวทางอะไรได้อีกบ้าง ซึ่งเรารู้ว่า CI Talks มีความโดดเด่นด้าน Cinematic ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าออกมาเป็นหนังสั้น เพราะปกติเวลาเราดูทอล์คทั่วไปก็เหมือนแค่สัมภาษณ์ หรือเล่าเรื่องราวธรรมดา ตัวอย่างอันที่เป็นระดับโลกก็คือ TED Talk พูดแล้วก็มีการถ่ายทำ แล้วก็อาจจะมีรูปนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ของคนคนนั้นเท่านั้น
แต่วิธีการเล่าเรื่องของ CI Talks มันมีการคิดสตอรี่ที่ซ้อนไปบนสตอรี่อีกทีแล้วการถ่ายทำออกมาเหมือนไม่ได้ปรุงแต่ง ซึ่งก็สามารถทำให้คนดูรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมตามไปด้วย โอ๋ดูของคุณวรรณสิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) เขาก็จะพูดเรื่องการทำสารคดี ซึ่งเขาไม่ใช่แค่พูด แต่เป็นการดำเนินเรื่องด้วยภาพของสารคดีที่เขาเคยทำ ซึ่งตอนที่เขาพูดภาพมันจะเหมือนเขาไม่ได้ถูกสัมภาษณ์ แต่เหมือนเราดูหนังสั้นเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตคน มันจึงเป็นความซ้อนที่มันทำให้เราติดตามเค้าโดยธรรมชาติ ซึ่งมีความเป็นจริงที่เข้ากับรูปแบบชีวิตของผู้คนสมัยนี้
เหมือนเวลาเราฟังเรื่องราวดี ๆ เราก็มีความสุขแล้ว แต่พอเรื่องราวนั้นมันถูกวางด้วยรูปแบบของภาพยนตร์อีกทีที่ไม่ต้องไปปรับเรื่องเขา แต่เตรียมมุมมองการถ่ายทำให้เข้ากับเรื่องของเขาโดยเฉพาะ มันเลยทำให้เราเพลินที่จะได้ดู
ตามข้อมูลด้านจิตวิทยา คนจะมีสมาธิสั้นลงเรื่อย ๆ ใน TED Talk ตอนนี้เขาอาจจะใช้เวลาการพูด 13-15 นาทีเท่านั้น แต่พอเป็น CI Talks ที่คุณจะได้สาระสำคัญของพลังชีวิตแบบเน้น ๆ ด้วยเวลาไม่เกิน 8 นาทีหรืออาจจะบวกลบไม่เกิน 10 นาที ซึ่งมันเพียงพอสำหรับหนึ่งก้อนความคิดที่เราจะรับได้แบบเต็มอิ่ม แล้วบางทีเราอาจจะดูต่อกัน 10 ทอล์ค มันก็เหมือนเราได้เรื่องราวของหนังสั้น 10 เรื่องมารวมกัน
ความโดดเด่นของการเล่าเรื่องที่ถ่ายทอดมาจาก CI Talks
อาจารย์โอ๋ เล่าต่อว่า อยากใช้คำพูดยูวาล ผู้ที่เขียนหนังสือเรื่องเซเปียนส์ ซึ่งเขาบอกว่าในโลกนี้ “เรื่องเล่ามีเยอะแล้ว แต่วิธีเล่าต่างหากที่คุณจะทำอย่างไร ให้เรื่องที่มันมีอยู่นั้นโดนใจคน” นั่นคือการออกแบบ แล้ว CI Talks ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ หาวิธีการออกแบบที่แตกต่างในเรื่องเล่านั้นได้อย่างลงตัว
พอเราพูดถึง Inspiration หรือแรงบันดาลใจ เราอาจจะนึกถึง “คนที่เคยล้มเหลวแล้วก็มาสำเร็จ” ว่าเขามีเรื่องเล่าอย่างไร แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนั้นมันทำแล้วมันสัมผัสได้ รู้สึก จับต้องได้ นี่แหละคือกระบวนการที่ CI Talks มีความแตกต่างแล้วเราคิดว่าเราจะได้เรียนรู้ไปร่วมกัน
เพราะในคณะนี้ก็จะมีวาทวิทยาแล้วก็มีอาจารย์ทางด้านการแสดง อาจารย์ภาพยนตร์ทางด้าน Cinematic ที่จะมาร่วมกันเพื่อสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นนิสิตเราก็จะได้มีส่วนเข้ามาในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็จะตอบโจทย์คำว่า “นิเทศนวัตกรผู้นำแห่งอนาคต” ในเชิงที่เป็นการสื่อสารที่เรามักพูดอยู่เสมอว่า เมื่อผู้ที่จะพูดซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราว มีความมั่นใจ มีความสุข มีความสนุก มีความศรัทธาในสิ่งที่จะพูด มันก็จะส่งต่อไปถึงคนฟังที่อยู่ข้างหน้าได้อย่างมีพลังนั่นเอง
ซึ่งเบื้องต้นความร่วมมือในครั้งนี้จะเริ่มจากการทำวิจัย เพื่อดูแนวโน้มว่าต้องการอะไร แล้วโครงการต่อมาซึ่งมีวิชาที่เกี่ยวข้อง เราก็อาจจะให้เป็นภาพกว้างทั้งวิชาก่อน แล้วเราก็ค่อยดึงคนที่สนใจเข้ามาร่วม นอกจากนั้นแล้วก็จะมีการไปทำความร่วมมือกับคณะอื่น ซึ่งเราเห็นคนที่เก่งมากในแต่ละด้านของแต่ละคณะ และเราก็จะมีโครงการหนึ่งที่เราจะเชิญคนที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจได้ของจุฬาฯ ที่ไม่ใช่แค่คณะนิเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็พอเห็นคนเหล่านั้นอยู่บ้างแล้วเพื่อเชิญมาเข้าร่วมโครงการ อันนั้นจะไปไกลได้มากกว่าแค่นิเทศเพียงอย่างเดียว
“ตำนานนางรอง” สู่ผู้สร้างแพลตฟอร์มแห่ง แรงบันดาลใจ
น้องฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ผู้ร่วมก่อตั้ง CI Talks กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมี CI Talks ว่า ฟ้าใสได้มีโอกาสเข้ามาในคณะนิเทศครั้งแรกก่อนที่จะประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ในปี 2019 มีโอกาสเข้ามาเจอกับอาจารย์หลายท่าน ตอนนั้นคือการที่เราจะเข้าไปสู่เส้นทางการเป็นนางงามนั้น ความคิด วิธีการตอบคำถาม วิธีการพูด ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เราต้องนำเสนอตัวเองอย่างไร ตอบอย่างไร ให้มีอิมแพคอย่างไร แล้วที่สำคัญคือเราก็จะต้องรู้จักตัวตนของเราด้วย ว่าเราจะพรีเซนต์ตัวเราเองอย่างไรให้มันเหมาะกับเวทีนั้น ๆ
ก่อนหน้านั้นต้องยอมรับว่าการที่เราเป็น “ตำนานนางรอง” คือสิ่งที่เราโดนล้อมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนก็ถามเราว่าจะกลับมาทำไม ในเมื่อเราก็เป็นแค่ “นางรอง” เราไปไม่ถึงฝั่งฝันหรอก หรือการชอบถามเราว่าข้อดีของน้องคืออะไร มันเหมือนเราก็ล้มเหลวไปด้วยคำพูดเหล่านี้ ตอนนั้นเราคิดว่า “ไม่ว่าเราจะไปใกล้แค่ไหน เราก็ยังรู้สึกว่ามันยังไกลอยู่ดี”
เมื่อฟ้าใสเข้ามาอยู่ที่นี่ แล้วก็ได้มีโอกาส ค้นพบตัวเองใหม่ (Rediscover) เพราะว่าก่อนที่ฟ้าใสจะก้าวมาสู่วงการนี้ ตั้งแต่ปี 2013 ฟ้าใสก็รู้สึกว่า เออ..เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้สวยที่สุดนะ แต่เราเก๋ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วเราก็จะรู้ข้อดีของเรา แต่พอเริ่มเข้ามาในวงการนี้เยอะขึ้น มันกลายเป็นว่าเราเริ่มรู้สึกท้อ เริ่มรู้สึกแบบว่าไม่ได้มั่นใจในตัวเองขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว รู้สึกว่ามีคนอื่นที่เก่งเยอะมาก คนอื่นเขาก็พูดภาษาได้ คนอื่นเขาก็สูง เขาก็มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ คนอื่นเขาก็มีความเป็นมิตรภาพที่ดี แล้วเราละ เรามีเอกลักษณ์อะไรที่จะไปชนะคนอื่น
ตอนนั้นพอมาอยู่ที่นี่เราก็ได้พลังบวก จากการที่มีโค้ชเข้ามาช่วยค้นหาตัวตนของฟ้าใส ช่วยหาเหตุผลว่าฟ้าใสจะเหมาะกับมิสยูนิเวิร์สอย่างไร ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ว่าทางคุณครูจะมาบอกว่าเราเหมาะกับแบบนั้นแบบนี้ แต่มันเป็นการที่คุณครูเข้ามาถามเราก่อน โดยให้เราเล่าเรื่องของเราที่เจอมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราก็เคยผ่านแบบนี้มานี่ แต่ว่าเราไม่เคยมองว่ามันเป็นเรื่องที่มีความหมาย ไม่เคยมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าคุณครูเขามองเห็น แล้วช่วยชี้นำให้เราเห็นว่า ฟ้าใสทำไมไม่เป็นคนแบบนี้ล่ะ
ตอนนั้นจำได้ว่าฟ้าใสเป็นคนใจดี เป็นคนที่มีความเป็น Leader คือจะคิดออกมาเป็นรายการเลย แต่เราไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นแบบนั้น มันก็เลยเหมือนกับว่าเป็นการเปิดมุมมองตัวของเราเอง ให้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ไม่ใช่กับแค่ตัวของเอง แต่มันเป็นต้นแบบของความคิดที่ว่า “การที่เราทำตามความฝันด้วยความมั่นใจและมีความหมายตามความคิดของเราเอง มันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้เลย”
จุดเปลี่ยนของปฏิกิริยาชีวิต CI Talks (Catalytic Inspiration Talks)
CI Talks ในความหมายแล้วมันคือทอล์ค หรือคลิปวิดีโอที่จะสามารถเล่าเรื่องราวที่เราผ่านมา เส้นทางของการผ่านอุปสรรคขวากหนามก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องผ่านอุปสรรคและอะไรมาเยอะมาก แต่ในหลายครั้งคนเราอาจจะท้อ แล้วก็จะยอมแพ้ออกจากเส้นทางของความสำเร็จไปเลย แต่สำหรับคนที่ยังไปต่อก็จะเจอกับประสบการณ์อื่นๆ ออกมาเรื่อย ๆ แต่ว่าก็จะไปต่อจนประสบความสำเร็จ เขาก็จะมาแชร์เรื่องราวของเขา ซึ่งในหลายครั้งมันก็จะเป็นเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับคนที่ดูอยู่ แล้วคิดว่าฉันก็เคยผ่านเรื่องราวแบบนี้มา หรือเคยผ่านแบบนี้มาแต่ว่ายอมแพ้ออกจากเส้นทางไปแล้ว หรือว่าเราใกล้เส้นชัยแล้วแต่เราไม่รู้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำต่อ ซึ่งช่วงจังหวะชีวิตแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกอาชีพ
โดยหัวใจสำคัญของการทำ CI Talks อยู่ที่การร้อยเรียงเรื่องราวแบบ Cinematic ที่จะดึงแรงบันดาลใจให้ถูกถ่ายทอดออกมาได้โดนใจมากที่สุด จากจุดเริ่มของแนวคิดที่จะทำอย่างไรให้เราแตกต่าง แต่ในความแตกต่างมันจะต้องเชื่อมโยงเข้ากับสมัยใหม่ ซึ่งคนสมัยใหม่จะมีสมาธิที่ค่อนข้างจะสั้นลง ซึ่งเมื่อฟ้าใสจะดูคลิป 10 นาที ก็รู้สึกว่าแค่ 5 วินาทีแรก ถ้ามันไม่น่าสนใจหรือว่าประโยคแรกมันไม่โดน เราก็จะไม่สนใจเลย ดังนั้น CI Talks จึงต้องเป็นอะไรที่คลิ้กได้เลยตั้งแต่วินาทีแรก ต้องทำอย่างไรให้อยากดูต่อ อยากดูต่อไปเรื่อย ๆ และทำอย่างไรให้อยากดูต่อจนจบ
ดังนั้นมันก็เลยมีเรื่องของ Cinematic เข้ามา เพราะเรารู้สึกว่าการที่เราพูดอยู่อย่างเดียว ถ้ามีเวลาเขาก็อาจจะฟังไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับยุคสมัยใหม่ เด็กยุคใหม่ เขาก็อยากจะดูอะไรที่น่าสนใจ มีภาพตัดต่อแล้วมันเป็นการเล่าเรื่องราวเหมือนเป็นการดูหนังสั้น ทำให้ Cinematic ถูกเพิ่มเข้ามาในด้านนี้
ตอนนี้เราเริ่มต้นโครงการจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อน เพราะมันเป็นที่ที่ฟ้าใสรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังที่สองของฟ้าใสตอนที่ประกวด แล้วถ้ามีโอกาสก็จะขยายโครงการนี้ออกไป ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นต้นแบบออกไปในต่างประเทศ เพราะว่าตอนนี้ CI Talks เองก็ได้เริ่มติดต่อกับที่เลบานอนและที่อินโดนีเซีย ซึ่งก็คาดว่าจะสามารถขยายแนวคิดนี้ออกไปได้อีกในอนาคต เพราะไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราวางเป้าหมายของ CI Talks ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่าง CI Talks กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 4 โครงการสำคัญ ได้แก่
1. สร้าง growth mindset แก่หนุ่มสาวเจนเนอเรชั่นใหม่ โดยเน้นไปที่การศึกษาในหัวข้อและคุณลักษณะต่าง ๆ ของกระบวนการเล่าเรื่องและการบรรยาย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง growth mindset ต่อไป
2. การจัดการประกวดคอนเทนต์ ซึ่งนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้นำเสนอผลงานในรูปแบบของคลิปวีดีโอภายใต้คอนเซปต์ที่ CI Talks ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะการนำเสนอและการพูดในที่สาธารณะ
3. เพื่อสร้างการเข้าถึงคลังวิทยากร ซึ่ง CI Talks จะเปิดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงคลังวิทยากรตลอดระยะเวลาการ MOU เพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญ บุคคลมีชื่อเสียง ที่มีความโดดเด่นบน CI Talks มาร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ให้กับนิสิตในรูปแบบของชั่วโมงเรียนพิเศษหรือตอนพิเศษ
4. เพื่อสร้างแพลตฟอร์มของ CI Talks ที่แขกรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้รับเชิญมาร่วมแชร์องค์ความรู้และประสบการณ์ ในฐานะแขกรับเชิญพิเศษหรือโค้ชบน CI Talks
ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้ง CI Talkขึ้นมาในปี 2564 จากความตั้งใจของ เฟร็ด โมอาว็าด ประธาน และ ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ผู้ร่วมก่อตั้ง CI Talks ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติพันธกิจในการนำเอาพลังแห่งการบอกเล่าเรื่องราว มาใช้สร้างแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาวเจนเนอเรชั่นใหม่ ในการลุกขึ้นมาลงมือกระทำสิ่งใด ๆ ที่จะเป็นการจุดประกายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มอบพลังบวกให้กับสังคมและผู้คนรอบข้าง
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในครั้งนี้ นำโดย ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดี พร้อมด้วย ผศ.ดร. ปภัสสรา ชัยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง เป็นตัวแทนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ผู้ร่วมก่อตั้ง CI Talks ในฐานะตัวแทนจาก CI Talks