bitkub บริษัทเล็ก ๆ ทางด้านการเงินดิจิทัลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการก่อตั้งของเด็กหนุ่มเซอร์ ๆ ที่ชื่อว่า ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าด้วยเวลาไม่นานจะกลายมาเป็นกลุ่มบริษัทด้านการเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง และมีอิทพลต่อโลกการเงินสมัยใหม่เป็นอย่างมาก อีกทั้งตัวผู้ก่อตั้งเองยังเป็นต้นแบบของนักธุรกิจด้านการเงินสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จติด 1 ใ น 5 บริษัทที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม The World Economic forum 2022 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ความสำเร็จเช่นนี้ต้องฟันฝ่าโจทย์หลายอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดคนจากโลกการเงินเก่าสู่โลกการเงินดิจิทัลใหม่ ซึ่ง TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับ พี่ลิน ชัญญา วิเศษศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและมวลชนสัมพันธ์ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างแบรนด์บิทคับให้ผสานกับตัวตนของ “ท็อป จิรายุส” ได้อย่างประสบความสำเร็จ
- – เจาะลึกเทรนด์ NFT กระแสโลกมาแรง ต่อยอดสู่การตลาดยุคใหม่
- – BNK48 ลุยออก ICO เป็นทางการครั้งแรก ดีเดย์ 6 พ.ค.นี้
เปลี่ยน “ท็อป จิรายุส” ให้สื่อสารเรื่องยาก เป็นเรื่องง่าย
พี่ลิน ชัญญา วิเศษศิริ เล่าว่า เรื่องของบล็อกเชน คริปโต หรือเรื่องของสตาร์ทอัพ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากในสมัยนั้น และด้วยความที่ “ท็อป จิรายุส” มีความเป็นนักเรียนนอกที่ใช้คำภาษาไทยและอังกฤษปนกัน คนก็ยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีก แต่ด้วยความที่เรามีพื้นฐานของการทำอีเว้นท์มาเก็ตติ้งกับตลาด FMCG (ตลาดสินค้าที่จำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ) มาก่อน ทำให้เราได้โร้ดโชว์ไปทั่วประเทศ และเห็นว่าอะไรที่มันเข้าใจง่ายจะทำให้การสื่อสารสำเร็จ เพราะเรื่องนี้นอกจากจะต้องแปลอังกฤษเป็นไทยแล้วยังไม่พอ เราจะต้องแปลไทยเป็นไทยอีกครั้งเพื่อย่อยให้เข้าใจง่ายที่สุด
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า “ท็อป จิรายุส” มีของที่พร้อมจะปล่อยอยู่แล้ว โดยเป็นคนที่ทำเรื่องการเงินมาอยู่แล้ว จบจากอ๊อกซ์ฟอร์ด เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเงิน แล้วก็มีประสบการณ์ในการทำเรื่องคริปโตเคอเรนซี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และเมื่อมาทำ บิทคับ ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งตัวพี่เองก็เคยมีประสบการณ์ในการทำพีอาร์เรื่องของคริปโตและบล็อกเชนจากเพื่อน ๆ ที่สิงคโปร์ ดังนั้นทำให้เรามองเห็นช่องว่างของความรู้เรื่องการเงินดิจิทัลของคนไทย ว่าเรายังห่างไกลกับเรื่องของการเงิน ยังห่างไกลจากเรื่องของเทคโนโลยีการเงิน เวลามีงานใหญ่ทางด้านการเงิน ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้เข้าถึง ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้มา
และทุกครั้งที่มีการประชุมใหญ่ทางด้านการเงินก็จะมีแค่คนที่มีความเข้าใจด้านการเงินเหมือนกันมาเจอกันเท่านั้น คนเหล่านี้ก็จะมองว่าการคุยเรื่องการเงินกับชาวบ้านทั่วไปนั้นเขาจะไม่รู้เรื่อง เลยอยากคุยกันเองมากกว่า ซึ่งความคิดนี้ก็ทำให้วงของความเข้าใจด้านการเงินมันก็ไม่ได้ถูกขยายวงกว้างออกไป
จริง ๆ แล้วเราทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องการเงินได้ หากเรามองย้อนกลับไป ก่อนที่คนเหล่านี้จะรู้เรื่องการเงินดิจิทัลสมัยใหม่ ในวันแรก ๆ นั้นเราก็ไม่รู้เหมือนคนอื่นเลย แต่ทำไมภายในเวลาไม่กี่เดือนเราถึงรู้เรื่องได้ นั่นเพราะเราได้เรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ ที่มี แล้วหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น ในเวลานั้นต้องยอมรับว่า บล็อกเชนหรือคริปโต เป็นเรื่องยากที่ไม่มีเอกสารภาษาไทยให้อ่านมากนัก ซึ่งก็เป็นช่องว่างที่เราเห็น แล้วเริ่มนำมาแปลเป็นภาษาไทยที่สื่อสารโดย บิทคับ ซึ่งตัวแทนของการสื่อสารนั้นก็คือ “ท็อป จิรายุส” นั่นเอง

ตอนนั้นก่อนที่จะเริ่มเข้ามาช่วยทำบิทคับ ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยทำโร้ดโชว์ของคุณท็อปกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ก่อน ทำให้เราได้ไปต่างจังหวัดและเห็นความเป็นจริงที่ว่า “สิ่งที่คนสตาร์ทอัพในกรุงเทพฯ คิดกันไว้ แล้วคิดว่าคนในต่างจังหวัดจะไม่เข้าใจนั้น เป็นเรื่องที่ผิดมหันต์” เพราะเมื่อเราประกาศการจัดงานไป มีคนจองเข้าร่วมกันอย่างล้นหลาม ซึ่งคนที่เข้ามาก็ไม่ได้คิดว่าบิตคอยน์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นเพราะว่าเขาก็ดูยูทูปของหลาย ๆ คนที่ออกมาพูดเรื่องการเงินดิจิทัลเหมือนกัน แต่ยังมีความรู้ที่น้อยเลยทำให้อยากมาฟังคุณท็อปโดยตรง เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
พอเราเข้ามาทำงานกับคุณท็อป ทำให้เราต้องปรับภาษาในการสื่อสารของคุณท็อปมีความเข้าใจที่ง่ายขึ้น แต่เดิมนั้นจะมีภาษาอังกฤษเกินครึ่งและภาษาไทยอยู่นิดหน่อย เราก็ปรับให้เหลืออย่างละครึ่ง แล้วก็ค่อย ๆ ปรับให้เหลือน้อยลง เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น จนวันนี้คำที่จำเป็นจริง ๆ ถึงมีการใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงแรกของคุณท็อป เพื่อให้การส่งสารด้านการเงินดิจิทัลเข้าใจ “ง่าย” ยิ่งขึ้น
สร้างภาพจำให้ “ท็อป จิรายุส” จากตัวตนที่แท้จริง
ภาพจำแรกคือการเน้นที่ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Identity) ซึ่งคนที่เข้ามาสนใจ “ท็อป จิรายุส” ไม่ใช่เพราะว่าหล่อ ไม่ใช่เพราะแต่งตัวแพง หรือว่ารวยจากคริปโตแล้วจะขับรถหรู นาฬิกาแพง อยู่บ้านใหญ่โต หรือใช้แบรนด์เนม ไม่ใช่แบบนั้น แต่คนเข้ามาสนใจเพราะว่าสิ่งที่อยู่ในหัวของเขาและสิ่งที่เขาพูดให้ฟัง ดังนั้นหน้าที่ของเราในการสร้าง Personal Branding ไม่ใช่การมาเปลี่ยนตัวตน แต่เป็นการขยายตัวตนให้คนอื่นได้รับรู้ตัวตนที่แท้จริงในวงกว้างมากขึ้น
เราจะเห็นซีอีโอหลายคน ต้องเข้าไปเรียนคอร์สการปรับแบรนด์ดิ้ง ซึ่งก็จะส่งต่อไปให้ซีอีโอเหล่านั้นต้องไปปรับบุคลิกภาพใหม่ สร้างตัวตนใหม่ บางคนเริ่มทำสตาร์ทอัพก็ต้องปรับการแต่งตัวใหม่ ใส่เสื้อยืดข้างในแล้วใส่สูททับ แล้วก็ใส่กางเกงยีนส์ เพื่อให้ดูเป็นเทคสตาร์ทอัพแบบซิลิคอนวัลเลย์ แต่บางคนหน้าตาไม่ได้สมัยใหม่ มันก็จะขัด ๆ กันกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยน ซึ่งคนทั่วไปก็จะดูออกว่าเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนให้กลายเป็นคนอื่น แทนที่จะเป็นตัวตนของซีอีโอนั้น ๆ ที่แท้จริง
ในการแต่งตัวของคุณท็อป เราจะเห็นการแต่งตัวแบบนี้มาตั้งแต่เมืองนอกแล้ว เขาจะใส่เสื้อเชิ้ตขาวอยู่ข้างในแล้วก็ใส่แจ็คเก็ตสูททับ กางเกงก็เป็นแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ ส่วนรองเท้าหนังก็ใส่มาตั้งแต่เรียนที่อ๊อกซ์ฟอร์ด เขาก็ใส่อย่างนี้มาตลอด แล้วเราก็พาเขาไปถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายทำคลิป ในสไตล์การแต่งตัวแบบนั้น ซึ่งก็กลายเป็นภาพจำ ที่คนจำเขาได้ ผมเผ้าก็จะยุ่ง ๆ หน่อย เราก็จะไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เขาเป็น แต่หากต้องไปเจอกับผู้ใหญ่ของประเทศ เขาก็จะเล็มผมนิดหน่อยเพื่อให้เข้าทรง ซึ่งการทำภาพจำแบบนี้ เราก็จะคุยกันว่าเขาสบายใจที่จะทำแบบนี้ไหม คิดแบบนี้ไหม แล้วเมื่อเห็นด้วยที่จะทำ เราก็ทำต่อ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยเราก็ไม่บังคับให้เขาทำ หรือเรื่องไหนที่เขาไม่เข้าใจ เราก็จะไม่ทำแคมเปญนั้น
อย่างที่ผ่านมาแคมเปญ LGBTQ Pride Month เราก็เข้าไปถามเขาว่า คิดอย่างไรกับกลุ่มคน LGBTQ ซึ่งคำตอบก็คือ “ไม่ได้คิดอะไรครับ เพราะเขาก็คนเหมือนกัน ซึ่งถ้าเราตัดสินคนจากเพศสภาพ เราก็อาจจะเสียคนที่เก่งที่สุดไปก็ได้นะคุณลิน” แล้วเขาก็ยกตัวอย่างของคนในบริษัทที่เป็น LGBTQ ขึ้นมา “น้องเป็น LGBTQ ก็จริงแต่ก็เป็น Customer Support ที่มีศักยภาพสูงที่สุดคนหนึ่งเลย ถ้าเราตัดสินเขาก่อน เราก็อาจจะไม่ได้ทีมงานที่เก่งเช่นนี้ก็ได้” นั่นทำให้เรารู้ว่าแนวคิดแบบนี้เราสามารถทำออกมาเป็นแคมเปญ ออกมาเป็นนโยบาย หรือออกมาเป็นกิจกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดแล้วการทำภาพจำให้กับผู้บริหารจึงไม่ใช่การเอาเขาไปเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แต่ต้องหาตัวตนเขาให้เจอว่าเขาเป็นใคร แล้วขยายภาพให้คนรู้จักเขามากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็จะทำให้ตัวตนของเขาสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เราวางภาพจำของคุณท็อปแบบนี้ ทำให้เมื่อเราฟังที่คุณท็อปพูด จะสังเกตเห็นว่า 1.เรื่องที่พูดมันยากก็จริงแต่มันเป็นการพูดที่ดูเป็นธรรมชาติ 2.เวลาคนที่เจอคุณท็อป “เขาจะรู้สึกดี รู้สึกไม่มีพิษมีภัย” เพราะเขาแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ไม่มีการพยายามปิดบังตัวตนของตัวเองแต่อย่างใด ทั้งหมดจึงสะท้อน ความใสซื่อ ความฉลาดแล้วก็เก่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติออกมา
พลิกบทบาทจากคนโนเนม สู่กูรูทางการเงินดิจิทัล
เราเห็นคนในวงการคริปโตนี้ มีแต่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันอยู่แล้วจากการจัดงานคริปโตหรือการเงินดิจิทัลที่สิงคโปร์ พอกลับมาเมืองไทย เมื่อเราอยากจัดงานแบบนั้นบ้าง ก็จะมีการแนะนำให้เราต้องดึงคนใหญ่คนโตระดับประเทศให้มาเปิดงานให้ ซึ่งเราก็กลับมาคิดว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ที่มีความเข้าใจดีเรื่องของคริปโตไม่เป็นคนกล่าวเปิดงานเอง เพราะเป็นกลุ่มคนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด แต่เขาก็กลัวว่าเขาจะเด็กเกินไป อายุแค่ยี่สิบกว่าจะดูไม่น่าเชื่อถือ
แต่บทบาทของเราคือการต้องเปลี่ยนความคิดของคนใหม่ ว่าคริปโตไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ไม่ใช่การพนัน และไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาเล่นแล้วจะทำให้รวยในชั่วข้ามคืน มันเป็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนความคิดของคนให้ได้ ว่าที่จริงแล้วมันคือ “เทคโนโลยีทางการเงินแห่งอนาคต” เริ่มจากการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทก่อนเลย
เราเริ่มต้นด้วยการส่งแมสเซสออกไปว่า เราคือบริษัทอะไร เราทำอะไร ซึ่งตอนเริ่มต้นบอกเลยว่าเรามีทีมเพียงแค่ 80 คนเท่านั้น เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า “นึกถึงบิทคอยน์ นึกถึงบิทคับ” หลังจากนั้นคนก็จะไปค้นหา “บิทคับ” ซึ่งเราก็จัดงานแถลงข่าวครั้งแรกเพื่อบอกต่อสาธารณะว่า “อนาคตเริ่มต้นขึ้นแล้ว ใครคือบิทคับ และบิทคับเกิดมาเพื่ออะไร” เราเกิดมาเพื่อให้โอกาสคน ให้โอกาสจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ให้โอกาสในการเข้าถึงการลงทุนผ่านคริปโตเคอเรนซี่ ให้โอกาสจากการเข้าถึงความรู้ ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้เปิดตัว Bitkub Academy เพื่อให้ความรู้เรื่องคริปโตออกสู่สาธารณะ
หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มออกรายการ “อายุน้อยร้อยล้าน” ซึ่งจังหวะของเวลาช่วงนั้นเป็นช่วงขาขึ้นของคริปโต พอกลับไปที่เรื่องของ “นึกถึงบิตคอยน์ นึกถึงบิทคับ” ซึ่งบิตคอยน์อยู่ในช่วงขาขึ้นพอดี เมื่อคนกลับไปค้นหาก็จะเจอบิทคับ เราก็ทำ SEO ออกไปในมุมของ “จะซื้อบิตคอยน์ก็มาซื้อที่บิทคับซิ” คนก็เลยพุ่งมาซื้อที่บิทคับ แต่ก่อนที่คนจะซื้อ เขาจะต้องมีความเชื่อมั่นก่อนเพราะมันเป็นเรื่องเงิน ก่อนหน้านี้ทุกคนบอกว่าบิตคอยน์มันเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ อยู่ในอากาศมองไม่เห็น หรือบริษัทที่ขายก็ไม่มีตัวตนอยู่ที่ไหนของโลกก็ไม่รู้ แม้ว่าเราจะได้ใบอนุญาตของการเปิดกระดานเทรดคริปโตแล้วก็ตาม นั่นก็ทำให้คนไม่เชื่อมั่น
โชคดีที่เมื่อคนเข้าไปค้นหาจากกูเกิล เขาก็เข้าไปเจอคลิปของรายการอายุน้อยร้อนล้าน ซึ่งมีซีอีโอ ก็คือคุณท็อป พาเดินทัวร์ออฟฟิศที่มีกว่าหลายร้อยตารางเมตร ใจกลางเมือง มีพนักงานทำงาน มีระบบ มีความเป็นสตาร์ทอัพยุคใหม่ มีการแนะนำที่สร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อคนดูคลิปคนก็เลยเชื่อถือมากขึ้น ประจวบกับการเป็นขาขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนเป็น 1 ล้านบัญชีในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน คนทะลักเข้ามาสมัครเปิดบัญชีเกินกว่า 3-4 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนับตั้งแต่การแถลงข่าวเมื่อปลายปี 2563 เราใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น
กลยุทธ์การทำพีอาร์ของเราต้องบอกว่ามันเป็นความรู้ที่ใหม่มาก ไม่มีใครที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เราก็เป็นบริษัทเล็ก ๆ งบประมาณการประชาสัมพันธ์ไม่ได้มีมาก จึงเริ่มต้นด้วยการเขียนข่าว เขียนบทความแลกการได้ออกเผยแพร่ เพื่อทำให้กระจายเรื่องราวของคริปโตออกสู่สายตาสาธารณะชนให้มากที่สุด ซึ่งเราก็ดึงทีมผู้บริหารและทีมงานในออฟฟิศมาช่วยกันเขียนเพื่อทำให้มันมีคอนเทนต์มากพอ

แล้วพอบริษัทเริ่มโตขึ้น ขยายขึ้น เราก็เริ่มมีการจัดสรรงบประมาณในการทำประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นเดือนเมษายน 2564 ผู้ใช้ของเราก็แตะ 1 ล้านบัญชี แล้วระบบก็ล่ม กลต.ก็สั่งปิดเราเพื่อปรับปรุงระบบ 5 วัน แล้วเราก็แก้ไขปัญหาได้ทัน วันนั้นเราเริ่มรู้ว่าเราต้องไปเรียนรู้การทำพีอาร์จากบริษัทใหญ่ เพื่อให้สามารถรับมือหากเกิดวิกฤตใหญ่ได้ ซึ่งเขาก็จะมีเหมือนคัมภีร์ด้านการรับมือวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้รองรับเลย
แต่ ณ วันนั้นมืออาชีพด้านการพีอาร์ ไม่มีใครกล้ามาทำงานกับเรานะ เพราะเนื่องจากความเข้าใจของคนยังรับรู้อยู่ว่า คริปโต ไม่ใช่สิ่งที่ขาวสะอาด แต่เราเชื่อว่าสิ่งทีเราทำเป็นสิ่งที่ขาวสะอาด มันก็ทำให้เราเริ่มแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แก้วิกฤติที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองมาตลอด ทั้งการอัพเดต หรือแม้กระทั่งสื่อหลักกับสื่อคริปโตมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งเราก็จะต้องทำงานกับทุกคนเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า “คริปโตคือเทคโนโลยีทางการเงินแห่งอนาคต”
พอเราผ่านจุดวิกฤตตรงนั้นมาได้ กลางปี 2564 พนักงานของบิทคับก็มาแตะที่ 1,000 คน จากลูกค้าที่มีคนสมัครเข้ามา 1 ล้านคน ก็ขยับขึ้นมาเป็น 2 ล้านคน และเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีผู้สมัครเข้ามาแล้วเกือบจะถึง 3 ล้านคนแล้ว ซึ่งก็จะอยู่ในขั้นตอนของการยืนยันตัวตน (KYC) ก่อนที่จะเริ่มเทรดได้ เพราะฉะนั้นบัญชีที่เทรดก็จะต่ำกว่ายอดที่สมัครเข้ามา
ยกระดับสู่การดูแลภาพลักษณ์ทั้ง บิทคับ กรุ้ป ราว 8 บริษัท
ตอนนี้ลิน ขยับขึ้นมาดูทั้งกรุ้ปซึ่งมีอยู่ 8 บริษัทในเครือ การทำงานก็จะยากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กรอบของกระดานซื้อ–ขายบิทคับเท่านั้น มันมีความยากคือการต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ระบบเราก็ยังไม่ใหญ่มากพอ ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ทุกนาที ซึ่งต้องบอกเลยว่าตอนนั้นเมื่อเกิดปัญหาคนจะด่าเข้ามาทันที เราก็ต้องแก้ไขวันต่อวัน เนื่องจากเรื่องเงินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับทุกอย่าง เบิกเงินแล้วระบบค้างทำให้เงินออกมาไม่ทันจะต้องใช้เงินด่วน ซึ่งบางคนอินบ็อกซ์เข้ามาบัญชีส่วนตัวเลย เพื่อบอกเราว่าให้ตามเงินให้หน่อย
ตอนนั้นจำได้ว่าเราก็ใช้บัญชีโซเชียลส่วนตัวที่เขาส่งมาหา เพื่อเข้าไปช่วยตอบตามกรุ้ปเลย พอเราแก้ปัญหาได้หมด ลูกค้าก็มีประสบการณ์ที่ดีรับรู้ได้ว่าเราช่วยเหลือเขาได้ เพราะฉะนั้นลูกค้าก็จะทักมาคุยกับเราตลอด ซึ่งผู้บริหารหลายท่านก็จะเอาบัญชีส่วนตัวเข้าไปช่วยตอบกันแบบนี้ เราช่วยแก้ไขปัญหาลูกค้าตลอด มันเลยทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการรู้สึกว่าเขาได้คุยกับผู้บริหาร เขาไม่ได้คุยกับแค่บอท แต่เราก็ไม่ได้ทำทางลัดเพื่อช่วยเขานะ เราก็ทำตามขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาปกติ เพียงแต่ช่วยแนะนำให้เขาเข้าใช้ได้อย่างถูกวิธีให้ตอบกลับตามขั้นตอน
ซึ่งตอนนี้แม้ว่าคนจะเริ่มรู้จักเราเยอะแล้ว แต่เราอยากให้คนรู้จักเราและรักเรามากกว่านี้ เราอยากให้คนทั้งประเทศเข้าใจเราอย่างถูกต้องก่อน แล้วก็ค่อยขยายออกไประดับภูมิภาค แล้วค่อยเติบโตไปทั่วโลก เพราะยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจในโลกของเทคโนโลยีการเงินที่มากพอ ทำให้มองเราเป็นอีกอย่าง ซึ่งคนที่ไม่เชื่อก็จะยกตัวอย่างของบุคคลยิ่งใหญ่ที่ไม่เชื่อในเรื่องของเทคโนโลยีทางการเงินแบบเดียวกันขึ้นมา เพื่ออ้างอิงว่าจะไม่เชื่อตาม เราอยากที่จะทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงความคิดให้กลับมารักเรา เชื่อเรา แล้วเขาก็จะกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับเราด้วยเหตุและผลที่เขารับรู้
เมื่อแบรนด์ใหญ่ขึ้น สิ่งที่เราต้องสื่อสารออกไปจะไม่ใช่เพียงแค่การบอกว่าบริษัทของเราเป็นอะไรแล้ว มันจะเป็นภาพของ “วันบิทคับ” หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งกรุ้ปว่ากรุ้ปบิทคับคืออะไร แล้วสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไปก็จะต้องลงไปในระดับคอมมูนิตี้ทั้งของแบรนด์หรือของชุมชนลูกค้าโดยตรง ซึ่งจริง ๆ แล้วในแวดวงคริปโต เราก็ใช้วิธีการสื่อสารโดยตรงไปยังกลุ่มคนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราจะสื่อสารด้วยการบอกกันเองเพราะเมื่อก่อนไม่ได้มีสื่อเข้ามาทำความเข้าใจให้เรามากนัก
เมื่อมันขยายวงกว้างขึ้นมาแล้ว เราก็คิดย้อนกลับไปมองว่าเราต้องเอาวิธีการสื่อสารแบบคอมมูนิตี้กลับมาใช้เหมือนเดิม แต่ขยายวงออกไปทั้งจำนวนและความกว้างให้รองรับผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งแทนที่เราจะทำให้ตัวเองเป็นจุดเด่น เราก็ควรที่จะทำให้ตัวเองเป็นของเหลวที่มีความลื่นไหล เพื่อที่เราจะสามารถไหลไปที่ไหนก็ได้ในทุกที่ เหมือนกับน้ำที่ซึมเข้าไปในทรายในดินได้ทุกชนิด
ซึ่งก็ไม่ต่างจาก บล็อกเชน ที่สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องทางการแพทย์และสุขภาพ ศิลปะ การเงิน การกีฬา บันเทิง สาธารณูปโภค หรือแม้กระทั่งเรื่องของคาร์บอนเครดิต ซึ่งบล็อกเชนสามารถเข้าไปในระบบหลังบ้านเพื่อช่วยให้สิ่งเหล่านี้มีพลังขึ้นมาได้ และบิทคับก็อยากให้บล็อกเชนเข้าไปอยู่ในทุกสิ่ง เช่นเดียวกับตัวบิทคับเองที่อยากจะไหลเข้าไปรวมกับทุกสิ่งเช่นกัน