การอนุมัติดีลใหญ่ควบรวมกิจการโทรคมนาคมในมาเลเซีย Celcom Digi ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่สำคัญ ดูเหมือนจะกลายเป็นตัวอย่างของการอ้างถึงรูปแบบการควบรวมไปในอีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แต่กระนั้นหากดูจากเนื้อข่าวที่่มีการอ้างถึงดีลใหญ่ครั้งนี้ กลับไม่เห็นรายละเอียดของเงื่อนไขที่ชัดเจน และบางครั้งก็ถูกซ่อนเอาไว้เป็นไฮเปอร์ลิงก์ที่ส่งไปยังต้นฉบับ ซึ่งก็คือคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย ( MCMC) นั่นเอง เพื่อให้คลายสงสัยถึงปัจจัยแวดล้อมและเงื่อนไขที่เป็นจุดสำคัญของการอนุมัติดีลครั้งนี้ TheReporterAsia จึงขอนำเรื่องราวของการอนุมัติดีลแบบครบถ้วนกระบวนความมาให้ได้อ่านกันนะครับ
- – เทเลนอร์ จับมือ AWS เร่งพัฒนาโลกโทรคมนาคมยุคใหม่
- – รมว.ดีอีเอส ประกาศควบรวม TOT-CAT เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ
สภาพการแข่งขันด้านโทรคมนาคมในมาเลเซีย
มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตหลากหลายราย ทั้งรูปแบบมีเครือข่ายของตนเองและไม่มีเครือข่าย (MVNO) ซึ่งมีกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่มีผู้ให้บริการอยู่มากที่สุด เรียกว่ากลุ่ม บิ้กโฟ หรือ 4 ผู้ให้บริการใหญ่ ประกอบด้วย 1.Digi ซึ่งเป็นของเทเลนอร์ ที่มีผู้ใช้บริการราว 10.24 ล้านคน 2.Celcom ซึ่งเป็นของ Axiata ที่มีผู้ใช้บริการอยู่ราว 9.58 ล้านคน 3. Maxis ที่มีผู้ใช้บริการอยู่ราว 9.5 ล้านคน และ 4. U mobile ที่มีผู้ใช้บริการราว 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีรายเล็กอย่าง Telekom Malaysia และ YTL Communication รวมอยู่นอกบิ้กโฟด้วย
รูปแบบการให้บริการในบางพื้นที่ มีการเอื้อสิทธิ์ข้อตกลงพิเศษแบบเฉพาะราย เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากเป็นพื้นที่ประชากรหนาแน่นน้อย ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศที่มีพื้นทีไม่สมดุลกับผู้ใช้ ทำให้การขยายเครือข่ายเป็นไปได้ยาก การส่งเสริมให้เอกชนขยายบริการให้ครอบคลุมจึงต้องใช้หลักการผูกขาดการบริการ เพื่อเทรายได้ไปยังเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่าที่จะเข้าไปลงทุน
ขณะที่การพัฒนาโครงข่าย 5G นั้น ภาครัฐดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า Digital Nasional Berhad (DNB) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดวางโครงข่าย 5G แล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของบริหารงานร่วมกัน เพื่อป้องกันการผูกขาดธุรกิจ และลดปัญหาการไม่คุ้มค่าของเอกชนในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่ประชากรไม่หนาแน่นอีกเช่นเคย
อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามต่อรองการเข้าถือหุ้นของโครงข่าย 5G และรูปแบบการดำเนินของรัฐจากกลุ่ม บิ้กโฟ อยู่บ่อยครั้งทั้งเรื่องนโยบายการถือหุ้นที่ไม่ได้ต้องการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้น 70% แล้วนำมาหารเอกชนเท่ากันหมด แต่ต้องการถือ 51% เฉพาะบิ้กโฟเท่านั้น และระดับราคาขายส่งที่สูงเกินไปถึง 30 sen ต่อกิกะไบต์ จนทำให้มีเพียงรายเล็ก 2 รายอย่าง Telekom Malaysia และ YTL Communications ที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับโครงข่าย 5G ของรัฐ ภายใต้ DNB และคาดว่าจะเปิดรับการร่วมหุ้นอีกรอบในเร็ววันนี้
ด้านการประกาศแผนขายส่งและการพัฒนาเครือข่าย 5G ของรัฐก็ถุกประกาศอย่างชัดเจนด้วยเป้าหมายการขยายเครือข่าย 5G จากปัจจุบันที่ครอบคลุมพื้นที่เพียง 15% ว่าจะต้องสามารถเข้าถึงได้ 40% ในพื้นที่ประชากรหนาแน่น ให้ได้ภายในสิ้นปี 2565 และเข้าถึง 80% ให้ได้ภายในปี 2567
จะเห็นได้ว่า การครอบครองเครือข่ายในอนาคตของภาคเอกชนมาเลเซีย จะไม่มีผู้เล่นรายใดได้เป็นเจ้าของเครือข่ายอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้การแข่งขันตัดปัญหาของการกีดกันด้านโครงข่ายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดีลใหญ่ควบรวม Celcom Digi ภายใต้เงื่อนไข
ย้อนกลับมาที่ดีลการควบรวมของ Celcom ที่ถือหุ้นโดย Axiata และ Digi ที่ถือหุ้นโดย Telenor นั้น เคยมีความพยายามที่จะควบรวมกันมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 แต่ก็มีอันต้องยกเลิกไปก่อนด้วยเหตุของความซับซ้อนบางอย่าง ที่ไม่ได้มีใครออกมาอธิบายความจริงแต่อย่างใด
ความพยายามของการควบรวมได้กลับมาอีกครั้งในราวเมษายน พ.ศ. 2564 จวบจนปัจจุบันที่ คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย ( MCMC) ได้อนุมัติการควบรวมไปในช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังจะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งมาเลเซีย และการยินยอมของผู้ถือหุ้นกันอีกครั้ง
โดยข้อมูลจาก Telecoms.com ระบุว่าสัดส่วนของการครอบครองในบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Celcom Digi ทั้งเทเลนอร์ (Telenor ASA) และ เอเซียต้า (Axiata) จะถือครองในสัดส่วนที่เท่ากัน 33.1% โดยจำนวนหุ้นของเทเลนอร์ราว 33.1% จะถูกจ่ายเป็นเงินสด 2 พันล้านริงกิต หรือราว 480 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 1.7 พันล้านจาก Digi เองที่ตั้งเป็นยอดหนี้ใหม่ และ 300 ล้านริงกิตจาก เทเลนอร์ และส่วนของ เอเซียต้า ที่จะชำระด้วยเงินสด 2 พันล้านริงกิต นอกนั้นจะเป็นการถือโดยนักลงทุนและกลุ่มสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่จะยังเป็นคนมาเลเซียอยู่ และจะยังคงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งมาเลเซียต่อไป
ขณะที่การควบรวม MCMC ยังมีเงื่อนไขบางอย่างที่ Celcom Digi ต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการควบรวม นั่นคือ การต้องส่งคืนคลื่นความถี่ 70MHz ให้กับ MCMCใน 3 ช่วงความถี่ได้แก่ 1800 MHz ภายในระยเวลา 2 ปีหลังการควบรวมสำเร็จ และย่าน 2.1 GHzกับ 2.6 GHz ต้องคืนภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อลดความได้เปรียบในการแข่งขัน
นอกจากนั้นแล้ว ยังกำหนดด้วยว่า แบรนด์ใหม่อย่าง Celcom Digi จะสามารถเข้าทำตลาดได้อย่างเป็นทางการได้หลัง 2 ปีนับจากวันควบรวม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้บริการได้อย่างที่ต้องการและไม่เป็นการบีบบังคับให้จำยอมใช้บริการแต่อย่างใด
แล้วยังจะต้องขายแบรนด์ Yoodo (ผู้ค้าปลีกมือถือของ Celcom ที่แข็งแกร่งด้วยรูปแบบมือถือระบบเติมเงินต้นทุนต่ำ) ออกจากกลุ่มกิจการใหม่ แม้จะอธิบายว่าเป็นเพียงแค่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ก็ตาม ซึ่งการประกาศขายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 18 เดือน หรือหากไม่สำเร็จในระยะเวลาก็จะต้องยุติการดำเนินกิจการภายในระยะเวลา 3 เดือนนับจากนั้น
ขณะที่กิจการค้าส่งเครือข่าย MVNO ที่มีผู้ให้บริการรายเล็กใช้อยู่ จะต้องแยกตัวออกมาอิสระจากการควบคุมของ Celcom Digi ภายในระยะเวลา 6 เดือน และจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่า การขายส่งให้กับ MVNOs ในปัจจุบัน จะยังคงได้รับสิทธิ์การใช้งานเพื่อบริการกลุ่มลูกค้าของตนดังเช่นข้อสัญญาในปัจจุบัน รวมถึงการยกเลิกข้อตกลงพิเศษสำหรับการกระจายสินค้าในบางรัฐอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การอนุมติของ MCMC ต่อดีลการควบรวมค่อนข้างมีความรัดกุมในการที่อาจจะเกิด “ภาวะอำนาจเหนือตลาด” แม้ว่ามาเลเซีย จะมีผู้ให้บริการรายใหญ่ถึง 4 ราย และ MVNO อีก 2 ราย รวมทั้งการปลดล็อกให้โครงข่าย 5G เป็นของรัฐแล้วก็ตาม
เป้าหมายของการควบรวมให้สำเร็จภายในครึ่งปีหลัง 2565 หากทำได้จะทำให้ Celcom Digi กลายเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ด้วยการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยความสามารถในการทำกำไรจากฐานสมาชิกผู้ใช้บริการที่รวมกันมากถึง 19 ล้านราย กว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลให้ Digi.com มีมูลค่าบริษัทขยับสูงขึ้นไปถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ด้านนายเยอเก้น โรสทริป, EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “เราได้บรรลุขั้นตอนสำคัญในเชิงบวกด้านกฎระเบียบสำหรับการควบรวมกิจการในมาเลเซีย เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยนำบริษัททั้งสองนี้มารวมกันเพื่อศักยภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นการสร้างผู้ให้บริการดิจิทัลที่แข็งแกร่งในเชิงพาณิชย์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยแผนการควบรวมกิจการทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียนี้ ทำให้เทเลนอร์มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างบริษัทที่พร้อมก้าวสู่อนาคตที่สามารถรองรับการใช้งานดิจิทัลระดับประเทศได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำเสนอบริการล้ำหน้าใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคในภูมิภาคได้”
โดยบริษัทที่ควบรวมนี้ยังได้เสนอแผนการลงทุนมูลค่าสูงถึง 250 ล้านริงกิต (ประมาณ 55 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 550 ล้านโครนนอร์เวย์) ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมระดับโลกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งจะผลักดันให้มาเลเซียเข้ามาอยู่ในระดับแนวหน้าของวิวัฒนาการด้านดิจิทัลทั่วโลก โดยศูนย์นวัตกรรมนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G, AI และ IOT ตลอดจนสนับสนุนสตาร์ทอัปด้านดิจิทัลในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม