Google ประกาศจับมือ โรงเรียน ในประเทศไทย เตรียมความพร้อมนักเรียนและครูผู้สอนในการก้าวเข้าสู่ยุคไฮบริด ดำเนินตามวิสัยทัศน์ “Leave no Thai Behind” ที่มุ่งมั่นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ทำให้การเรียนการสอนไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน แต่ยังสามารถเกิดขึ้นนอกห้องเรียนได้อีกด้วย สร้างการตระหนักรู้ถึงศักยภาพการเรียนรู้โดยปราศจากข้อจำกัดด้านสถานที่
- – AIS ผนึกวิศวะ จุฬา ยกสถานีฐาน 5G จริงให้เรียนรู้ครั้งแรกของสถาบันการศึกษา
- – หัวเว่ย จับมือ มจธ. ตั้ง สถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียว แห่งแรก
โดย Google ได้นำเสนอเรื่องราวการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนไทย 4 แห่ง โดยใช้เครื่องมือ Google for Education ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนและนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้อีกด้วย

โรงเรียนแห่งแรกคือโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โดย นางสาวทิพย์ภาภรณ์ สะเดา รองหัวหน้ากลุ่ม สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “โรงเรียนได้บูรณาการภาษาและเทคโนโลยี โดยปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนได้นำ Google for Education มาใช้ ซึ่งทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพการบริหารและจัดการการเรียนการสอนได้อย่างรวดเร็ว และยังมีการจัดห้องเรียนออนไลน์ Google Classroom ควบคู่กับการสอนในชั้นเรียนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดยมี Chromebook ให้ครูและนักเรียนสามารถยืมเพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน”

ดร. สุมนา ธิกุลวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กล่าวว่า “โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยต้องการจะ “ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในห้องเรียน” โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครูผู้สอนเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็มองหาเครื่องมือที่ช่วยให้ครูผู้สอนประหยัดเวลาและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นโรงเรียนจึงริเริ่มโครงการนำร่องโดยเริ่มให้ครูและนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ใช้ Google for Education และ Chromebook เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในห้องเรียน หลังจากวัดผลโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคภายใต้คำแนะนำจากนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราพบว่านักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และ ความคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 50/100 เป็น 68/100 ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนั้น ครูผู้สอนกว่าร้อยละ 85 สังเกตว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการทำงานร่วมกัน และครูผู้สอนกว่าร้อยละ 62 ยังเห็นตรงกันว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนักเรียนยังมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นในการทำกิจกรรม ในห้องเรียนอีกด้วย”

โรงเรียน แห่งที่ 3 คือโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ โดย นางสาวอรวีร์ รัตนเพียร ผู้จัดการโรงเรียน เล่าว่า “โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์เริ่มใช้ Google for Education ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และมีการใช้ Chromebook ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไร ก็ตามเมื่อโรงเรียนปรับเข้าสู่การเรียนการสอนทางไกลในช่วงโรคระบาด จึงต้องการเสริมประสิทธิภาพและพัฒนาประสบการณ์การเรียนการสอนให้กับนักเรียนและครูผู้สอน โรงเรียนใช้ Chrome Education Upgrade ในการพัฒนาศักยภาพและการทำงานให้กับครูผู้สอน โดยมีฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากมายให้พวกเขาใช้งาน อาทิ เครื่องมือขั้นสูงในการทำงานด้านแอดมินและด้านความปลอดภัย นอกจากนั้น นักเรียนยังมีทักษะเพิ่มเติมจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม”

โรงเรียนแห่งสุดท้ายคือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย โดยนักเรียนของทางโรงเรียนสามารถทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันกับนักเรียนญี่ปุ่นจากโรงเรียนในเครือข่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านโปรเจกต์ นายปรัชญากร ฮดมาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า “เครื่องมือ Google for Education เช่น Google Docs ช่วยให้นักเรียนของเราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับนักเรียนจากทั่วโลก ทำให้พวกเขาเรียนรู้ภายใต้ความแตกต่างและเสริมสร้างทัศนะที่กว้างไกล เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบหลักสูตรและบทเรียนร่วมกับคุณครูจากโรงเรียนอื่นในเครือข่ายได้อีกด้วย”
ณ ปัจจุบัน นักการศึกษาและนักเรียนกว่า170 ล้านคนทั่วโลกต่างก็ใช้ Google for Education โดยมี Google Classroom เป็นเครื่องมือหลักที่ครบวงจรให้ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองสามารถจัดการบทเรียนและการบ้านร่วมกัน ในปี 2565 Google Classroom ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเรียนการสอนกับนักเรียน นักการศึกษา และผู้นำโรงเรียนทั่วโลกกว่า 150 ล้านคน นอกจากนั้น Google for Education ยังให้บริการเครื่องมืออื่นๆ อาทิ Google Docs, Google Sheets, Google Slides และ Google Forms เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม อีกทั้งให้นักเรียนและครูผู้สอนจัดการการบ้านและโปรเจกต์ร่วมกัน และยังมีเครื่องมือด้านการสื่อสารอื่นๆ อาทิ Google Meet, Gmail และ Chat ที่ช่วยเชื่อมต่อครูผู้สอนและนักเรียนเข้าด้วยกัน
นางสาวศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ไฮบริดคืออนาคตของการศึกษา นั่นหมายความว่า หากในอนาคตเกิดโรคระบาดหรือสถานการณ์ใดๆ ที่อาจส่งผลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เราจะต้องตั้งรับและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อให้การเรียนไม่หยุดชะงัก ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้แบบไฮบริด เครื่องมือ Google for Education ก็จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสนับสนุนการศึกษาของไทยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนและครูผู้สอนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบไม่ว่าพวกเขา จะอยู่ที่ใดก็ตาม”