สถาบันมะเร็งฯ เตรียมดันค่าตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม เข้าระบบ สปสช.

สถาบันมะเร็งฯ เตรียมดันค่าตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม เข้าระบบ สปสช.

มะเร็งเต้านม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เร่งผลักดันค่าตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หวังช่วยผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้อย่างทั่วถึง ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ คาดปลายปี 2565 จะสามารถบรรจุเข้าเบิกสิทธิ์ของ สปสช.ได้สำเร็จ

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เป็นอีกหนึ่งโรตมะเร็งที่ได้รับการประกาศจากองค์การอนามัยโลก ว่าการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตและรักษาหายได้ แต่เนื่องจากขั้นตอนการตรวจคัดกรองยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งแยกออกจากส่วนของการรักษาปกติหากยืนยันการพบมะเร็งแล้ว ส่วนนั้นจะสามารถเบิกได้อยู่แล้ว

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้พยายามผลักดันให้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้ได้ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้อย่างทั่วถึง หลังพบว่าตนเองมีความเสี่ยงจากการตรวจคลำเบื้องต้นแล้ว ซึ่งในขั้นตอนการยื่นเข้าสู่การพิจารณาให้เป็นค่าใช้จ่ายที่เบิกได้ตามสิทธิ์นั้น ยังมีขั้นตอนของการพัฒนาระบบคัดกรองเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

โดยคาดว่าจะสามารถบรรจุค่าตรวจวินิจฉัยเข้าเป็นหนึ่งในสิทธิ์การรักษาพยาบาลของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้วเสร็จในราวปลายปี 2565 นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ค่าการตรวจวินิจฉัย มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก ก็สามารถเบิกจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้โรคมะเร็ง 3 ชนิด ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่หากมีการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถบรรจุค่าใช้จ่ายในการคัดกรองเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้ จะช่วยให้ผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมีราคาค่าใช้จ่ายต่อครั้งกว่า 2400 บาท (โรงพยาบาลรัฐของประเทศไทย) ได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและมีโอกาสการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น

โดยมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะเป็นโรคที่เกิดได้กับผู้หญิงทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มที่อายุมากกว่า 40 ปี หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสรักษาให้หายได้ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.2 ล้านคน และเสียชีวิตราว 684,996 คน สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 17,043 คน หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน และคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากกว่า 22,000 รายในปีหน้า ดังนั้นมะเร็งเต้านมจึงเป็นโรคที่เราควรให้ความใส่ใจเพื่อลดโอกาสที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีที่เป็นมาตรฐานสากลได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน การเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลอย่างน้อยปีละครั้ง หรือการเข้ารับการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์และอัลตราซาวด์เต้านม (Mammogram) ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม

Related Posts