ธนาธร แนะรัฐแทรกแซง หาต่างชาติซื้อเทเลนอร์ แทนควบรวมจากรายเดิม

ธนาธร แนะรัฐแทรกแซง หาต่างชาติซื้อเทเลนอร์ แทนควบรวมจากรายเดิม

ธนาธร

ธนาธร เดินทางเข้าสังเกตุการณ์ การพิจารณาการควบรวม ทรู-ดีแทค ของ กสทช. แนะทางออกให้รัฐเข้าแทรกแซง หาผู้ซื้อจากต่างประเทศแทนการควบรวมกันเองของผู้ให้บริการรายเดิม ย้ำชัด หลายประเทศมีรัฐเข้าแทรกแซงเป็นตัวอย่างเมื่อจำเป็นต้อง ชี้หากรวมแล้วไม่ดีอย่างที่คิดจะแยกยากกว่าไม่ให้รวมในตอนวันนี้แน่นอน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางเข้าร่วมสังเกตุการณ์ การประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษในช่วงเช้าวันนี้(20 ต.ค.) เพื่อพิจารณาคำขอควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) อย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความเห็นสื่อมวลชนถึงแนวทางการควบรวมดังกล่าวว่า

คลื่นความถี่โทรคมนาคมมีสำคัญมาก ดังนั้นผมคิดว่าผลกระทบที่ชัดมากที่สุดก็คือภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้นทุกวันนี้ เราต้องไม่ปฏิเสธว่าการเข้าถึงเดต้าคือการเข้าถึงโอกาส ใครที่เข้าไม่ถึงเดต้าก็เหมือนกับการเข้าไม่ถึงโอกาส ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ถ้าค่าบริการเดต้าแพงเมื่อไหร่ คนจนก็มีโอกาสเข้าถึงความรู้ เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้น้อยลง

ในต่างประเทศการควบรวมหลายตัวอย่างก็แสดงให้เห็นพอสมควรแล้วว่า ในประเทศที่มีการควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย พบว่าส่วนใหญ่ก็จะมีราคาที่แพงขึ้น แน่นอนว่ามีบางกรณีที่มีราคาถูกลง แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าหรือเท่ากับประเทศไทย ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 รายเลย

ผมคิดว่าในกรณีของประเทศไทย เนี่ยมันมีทางออกอื่นอยู่ โดยโซลูชั่นที่ทางคุณศิริกัญญาเคยเสนอในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วก็คือ การที่ฝ่ายบริหารเข้ามาหาผู้ซื้อรายใหม่ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้หากทางเทเลนอร์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค มีมติจากบริษัทแม่ที่ประเทศนอร์เวย์ ว่าจะออกจากตลาดเอเชียไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งในบริษัทที่เทเลนอร์ถือหุ้นอยู่ในเอเชียทั้งหมดก็จะเทขายออกหมดเลยทุกประเทศ ดังนั้นถ้าเป็นความต้องการที่จะออกจากตลาดของเทเลนอร์แล้วก็จะมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องใช้กลไก กสทช. เลย

นั่นก็คือการใช้กลไกฝ่ายบริหาร คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่สำคัญ เป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนา 5G ในอนาคตของประเทศwmp ก็สามารถเข้ามามีส่วนในการหาผู้ซื้อรายใหม่แทนเทเลนอร์ได้ครับ ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือเดินทางไปทั่วโลก เพื่อไปหาผู้ซื้อรายใหม่ ไปผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ซื้อรายใหม่ ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเทเลนอร์แทน นี่จะเป็นโซลูชั่นที่ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ โดยไม่ต้องใช้กลไก กสทช.

ผมคิดว่าหนึ่งในภารกิจหลักของกสทชก็คือการปกป้องผู้บริโภค ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่หลายประเทศมีการทำยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้นเป็นคนผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่าง ไครสเลอร์ ผู้บริโภคผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกาให้ควบรวมกับ เฟียต ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลี

หรือตัวอย่างในญี่ปุ่น ถ้าใครจำได้เมื่อหลายปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการการผลิตทีวี ซึ่งญี่ปุ่นขณะนั้นเจอกับการแข่งขันจากประเทศเกาหลี จึงผลักดันให้โซนี่ ฮิตาชิ และโตชิบา ควบรวมธุรกิจทีวีเข้าด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็เป็นคนลงมาเล่นในเกมนี้เอง หรืออย่างล่าสุด รัฐบาลเยอรมัน ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่ชื่อ จูนิเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการทางด้านพลังงานในเยอรมัน

ดังนั้นเราจะเห็นได้จากกรณีต่างประเทศ ว่ารัฐบาลถ้าหากว่าเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไหนไหนเป็นภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญ เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ รัฐบาลก็สามารถเข้าไปแทรกแซง เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ทุกรัฐบาล ตัวอย่างที่ผมยกมาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ว่ารัฐบาลในต่างประเทศถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วม ในการจัดการโครงสร้างของอุตสาหกรรมเช่นกัน

ในกรณีนี้ก็เป็นไปได้ครับ ที่จริงแล้วไม่ต้องใช้กลไก กสทช.ด้วยซ้ำ แค่ให้รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันหาผู้ซื้อรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเทเลนอร์แทนการควบรวม แน่นอนที่สุดในแต่ละประเทศมีบริบทของมันเอง แต่ถ้าเกิดว่าเราจะพิจารณาถึงความเหมาะสมก็คงต้องศึกษา กรณีบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ

มติวันนี้ผมคิดว่าสำคัญกับอนาคตของประเทศจริง ๆ ผมคิดว่าสำคัญกับอนาคตไม่ใช่แค่กระเป๋าตังค์ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในอนาคต รวมถึงเรื่องสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ถ้าเกิดว่ามีการอนุญาตให้เกิดการควบรวม ผมก็ต้องการเห็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วราคา การป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาด ยกตัวอย่างเช่นการบังคับให้ต้องมี MVNO ที่มีสัดส่วนนัยยะสำคัญในตลาดให้ได้ภายในกี่ปี หรือการขายคลื่นความถี่บางส่วนออกมา เพื่อให้เกิดการประมูลใหม่เป็นต้น

ผมคิดว่านี่เป็นมาตรการเชิงโครงสร้างที่จะป้องกันการผูกขาดในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า เมื่อเหลือแค่ 2 รายแล้ว การจะทำให้กลับมาเป็น 3 รายเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นผมคิดว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อปกป้องผู้บริโภค อย่าให้ควบรวมดีกว่าครับ ถ้าควบรวมไปแล้วเกิดผลเสีย ผลกระทบ เราจะย้อนกลับมาเป็น 3 รายอีกได้ยากมาก

ผมยืนยันอีกครั้งว่า พวกเราคณะก้าวหน้า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ ในฐานะที่มาจากภาคธุรกิจด้วยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าองค์กรทางธุรกิจ มีวัตถุประสงค์ในการทำกำไรสูงสุด ดังนั้นไม่ว่ากลุ่มทุนกลุ่มไหนก็ต้องมองกำไรสูงสุดอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าทั้ง 2 กลุ่มทุนก็คงอยากจะได้จุดนั้นเช่นกัน แต่ในกรณีที่มีผู้เล่นในตลาดเพียงแค่ 2 ราย การทำกำไรสูงสุดไม่ได้มาจากการแข่งขัน เพราะถ้ามีผู้เล่นเพียงแค่ 2 ราย กำไรสูงสุดจะมาจากการไม่ลดราคา ซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ลดราคาก็ทำกำไรได้สูงสุดแล้ว

ผมเชื่อว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศเยอะแยะมากที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทย ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องพยายาม รัฐบาลต้องออกไปข้างนอกไปเจรจา เชื่อว่ามีบริษัทใหญ่ที่พร้อมเข้ามาลงทุน ยืนยันว่าบริษัทต่างชาติยังสนใจกลุ่มโทรคมนาคมของไทยอยู่ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนมากก็คือ ไชน่าเทเลคอม ซึ่งถ้าใครไปดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัททรู ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญหนึ่งกลุ่ม คือบริษัทไชน่าเทเลคอม ซึ่งเข้าไปลงทุนในกลุ่มทรูเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโทรคมนาคมไทยยังมีความน่าสนใจ แม้แต่ไชน่าเทเลคอม ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่จีน และเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ก็ยังสนใจมาลงทุนในประเทศไทย

เหตุผลที่มาวันนี้ ก็เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่มาอยู่ที่หน้า กสทช. ในวันนี้ เพื่อมาแสดงจุดยืน ส่งเสียงไปถึงทาง คณะกรรมการ กสทช. หรือผู้มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ว่า อย่าเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มทุน สิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ สิทธิเสรีภาพในการควบคุมกิจการเป็นสิทธิเสรีภาพของภาคธุรกิจก็จริง แต่กสทช. ซึ่งเป็นภาครัฐ ก็มีอำนาจที่จะดูแลไม่ให้สิทธิเสรีภาพในการควบคุมกิจการของกลุ่มธุรกิจนั้นไปทำร้ายประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนมีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น

ผมคิดว่าก็ต้องหาสมดุลกันระหว่างสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจการของเอกชน และผลประโยชน์ของประชาชน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากอะไรทุกท่าน เรื่องคุณสารี ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ แล้วก็เอาเอกสารการศึกษาของกสทชที่บอกว่า การควบรวมแล้วจะทำให้ราคาแพงขึ้น ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ วันนี้เธอถูกฟ้อง ผมอยากจะเรียนพ่อแม่พี่น้องสื่อมวลชนและพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างนี้ว่า การที่มีคนมาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน กลับถูกฟ้อง อย่าปล่อยให้คุณสาลีโดดเดี่ยว

เพราะถ้าคุณสารีถูกกระทำแบบนี้ต่อไปจะไม่มีองค์กรแบบนี้อีก และจะไม่มีใครลุกขึ้นมากล้าปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอีก เรื่องนี้ต้องบอกว่า ผลการศึกษาของ กสทช. ทั้งหมดในเรื่องนี้ มันไม่ควรเป็นไปความลับอะไรเลย ควรจะต้องเปิดเผยกับสาธารณะ เพื่อให้สาธารณะไม่ว่าจะเป็นแวดวงเอ็นจัโอ ประชาชนทั่วไป นักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เข้ามาอ่านข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ผมคิดว่านี่คือพื้นฐานของสังคมอารยะ พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นข้อมูลภาครัฐทุกอย่าง กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดี เราจะใช้เงินของภาครัฐ ศึกษามาแล้วมันไม่ควรเป็นความลับ มันควรจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และคนที่เอาข้อมูลเหล่านั้นออกมาเปิดเผย ควรจะต้องได้รับการปกป้องจากสังคม

ซึ่งหากเรื่องของการเปิดเผยเอกสารเป็นความผิด คำถามคือว่าถ้าเอกสารไม่เปิดประชาชนจะได้รู้ข้อเท็จจริงไหม ซึ่งก็ต้องถามว่าแล้วทำไมไม่เปิดเองตั้งแต่แรก ผมคิดว่าจุดนี้สำคัญมากกว่าจะพูดว่าคนเปิดเอกสารมีความผิด ต่อไปประเทศไทยไม่ต้องมีใครตรวจสอบได้เลยนะ สส.ฝ่ายค้านตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย พ่อแม่พี่น้องหรือประชาชนตรวจสอบอะไรไม่ได้เลยนะ ถ้าเราจะคิดแบบนั้นว่าคนเอาเอกสารของราชการมาเผยแพร่เป็นคนที่ผิด ต่อไปเราจะตรวจสอบอะไรกันได้ครับ ต่อไปเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจะถูกเปิดเผยได้อย่างไร เราจะเปิดโปงมันได้ยังไง ดังนั้นผมเห็นว่าพื้นฐานของสังคมไทย ก็คือการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ที่จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม นำไปสู่การถกเถียง และนำไปสู่การตรวจสอบร่วมกันของภาคประชาสังคม อันนั้นจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดที่จะแสดงความโปร่งใส แสดงให้สังคมเห็นถึงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกท่าน ให้ออกมายืนปกป้องผู้ที่เปิดเผยข้อมูลหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องของภาครัฐทุกคนเลย ไม่ใช่แค่คุณสารีอย่างเดียว ขอบคุณมากครับ

Related Posts