สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC 2022) ตอกย้ำบทบาทในการเป็นตัวแทนของภาคเอกชน ส่งมอบข้อเสนอจากภาคเอกชนสู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค เปิดตัว 2 องค์ประกอบสำคัญ ภายใต้แนวคิด “Business of the People” ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจใน “บทบาท” และ “ความสำคัญ” ของทุกคน ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันได้แก่ ผลสำรวจจากภาคธุรกิจ หรือ Business of the People Poll และภาพยนตร์สั้น ที่ฉายภาพของตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทุกคนเกิดการรับรู้ และได้รับแรงบันดาลใจในการต่อยอดไปสู่การลงมือทำ เพื่อประโยชน์ของเราทุกคน
- – เอกชนประกาศความพร้อมจัดงาน APEC CEO Summit 2022
- – มข. ร่วม ก.ต่างประเทศ และ APEC ระดมสมอง Smart city
The POLL – Business of the People
เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย
ผลสำรวจได้แสดงความมั่นใจจากภาคธุรกิจไทยในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ที่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้ โดยปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนประกอบไปด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัล เข้ามาสนับสนุน การปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค การให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนหรือการนำ BCG Model มาปรับใช้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย (Small & Micro Enterprise) ยังมีความเปราะบางในด้านเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และการช่วยเหลือด้านนโยบายจากภาครัฐเพื่อลดการผูกขาดของรายใหญ่ในตลาด เหล่านี้จะทำให้การประกอบการของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังได้แสดงข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจส่งมอบไปยังภาคนโยบายในแง่มุมที่สำคัญและเร่งด่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน การเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด การสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต การลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และการกำหนดนโยบายรวมถึงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นอาทิ (อ่านผลสรุป Key Findings ได้จากข้อมูลแนบท้าย)
The FILM – Business of the People
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า “ประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่ เรียกได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นบทบาทหน้าที่และธุระของทุกคน ในฐานะของผู้ผลักดันด้านการค้าของภาคเอกชน เราเห็นความสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลด้วยการปรับตัวทางธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงและเชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุน ทั้งนี้ เราเชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัว แต่อาจยังไม่เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอภาพยนตร์ที่ต้องการหยิบยกเรื่องราวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการรายย่อยที่ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการความร่วมมือสู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอแบค 2022 กล่าวว่า “สำหรับแนวคิด Business of the People หรือ ธุระ(กิจ)ประชา ถือเป็นหัวใจและเป้าหมายสำคัญ ในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการทุกคน หนึ่งในสิ่งที่เราขอส่งเสริมคือการพัฒนา “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าต่อภาคธุรกิจได้ สำหรับเคสตัวอย่างในภาพยนตร์ Business of the People ถือเป็นเคสที่ดีในการนำสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็นจุดขายในท้องถิ่น มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีและองค์ความรู้จนเกิดเป็นผลิตผลทางการเกษตรยุคใหม่ ทั้งมีการนำไอเดียด้านความยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางอาหาร ซึ่งถือเป็นจุดโดดเด่นของประเทศไทยของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “เราทุกคนต่างมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด คุณก็คือส่วนสำคัญการผลักดันและเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น โดยในมุมมองของผู้ร่วมขับเคลื่อนจากสถาบันการเงิน เราสนับสนุนให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (Supply Chain Finance) โดยการนำดิจิทัลเข้ามาประมวลผลจะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยและรายย่อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหันมาใช้ระบบการเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยจะเห็นตัวอย่างได้จากในภาพยนตร์ที่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่ในอนาคตภาคธุรกิจจะมีการพัฒนาไปสู่ระบบการเงินดิจิทัลใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น”
ด้านนายนิพนธ์ พิลา หรือ คุณตั้ม ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยจากชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมแบ่งปันแนวคิดและแนวทางปฏิบัติจริง ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อย ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความสำเร็จของธุรกิจ เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในทุกภาคส่วน โดยคุณตั้มได้เริ่มต้นจากการมองเห็นถึงของดีรอบๆ ตัวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือผู้คน จนเกิดการนำไปต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าและ “คุณค่า” ให้กับผลผลิตของชุมชน สู่การเติบโตและความสำเร็จของชุมชนแบบองค์รวม ผ่านการประยุกต์นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในชุมชนให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้คุณตั้มยังไม่หยุดเพียงแค่ในชุมชนบ้านเกิด แต่ยังมีการบูรณาการความร่วมมือและแบ่งปันแนวคิดไปสู่ชุมชนและจังหวัดอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนถึงโอกาสในการต่อยอดผลผลิตและจุดเด่นของชุมชนทุกแห่งร่วมกัน
“ในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยคนหนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มาจากเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ของเรา จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนไม่มากก็น้อย หัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันในชุมชน ผมทำได้ คุณเองก็ทำได้” นายนิพนธ์ พิลา กล่าวสรุป
ทั้งนี้สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) อันมีผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือในนาม ‘คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สภาบัน (กกร.)’ มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ส่งมอบข้อเสนอแนะให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อต่อยอดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ประการ อันได้แก่ (1) Regional Economic Integration – การบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (2) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า (3) MSME and Inclusiveness – การเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการระดับ MSME เพื่อทำให้ธุรกิจในทุกระดับมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (4) Sustainability – การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียวและระบบอาหารที่ยั่งยืน และ (5) Finance and Economics – การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อเร่งการฟื้นตัวและการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับการเงินดิจิทัล โดย 5 กลยุทธ์ที่สำคัญดังกล่าวจะสามารถถูกนำไปปฏิบัติและเกิดความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อเกิดความร่วมมือร่วมใจจากภาคเอกชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
ด้วยในปี 2022 นี้ ภาคเอกชนไทยได้รับเกียรติในการเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4/2022 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงบทบาทในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ “APEC CEO Summit 2022” ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ การประชุมดังกล่าวนับเป็นการรวมตัวสุดยอดซีอีโอ ผู้นำเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ โดยนอกจากภาคเอกชนแล้ว ผู้ประกอบการและประชาชนคนไทยทุกคน ก็ถือเป็นส่วนสำคัญและมีบทบาทร่วมกันในการเป็นเจ้าภาพงานสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านผลสำรวจ Business of the People Poll และร่วมรับชมภาพยนตร์สั้นได้ทาง www.abac2022.org หรือในช่องทางยูทูป คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมติดตามรายละเอียดของงานสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 ได้ที่เว็ปไซด์ https://apecceosummit2022.com
ผลสรุปโครงการสำรวจ “Business of the People Poll” โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค 2022
โครงการสำรวจ “Business of the People Poll” จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น รับรู้ มุมมองของนักธุรกิจไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ผ่านสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเนื่องในวาระที่ไทยรับหน้าที่เจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC 2022)
การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาผ่านผู้ประกอบการไทย จำนวน 451 ตัวอย่าง ใน 5 ภูมิภาคหลักได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพและปริมณฑล อันเป็นตัวแทนผู้ประกอบการไทยที่วางประเด็นมุ่งเน้นไปที่ ‘ปัจจัย ความท้าทาย โอกาส และความเป็นไปได้ในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ ในการทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และมุมมองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจ ซึ่งผลสรุปจากการสำรวจในครั้งนี้ มีผลลัพธ์และประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
Key Findings:
- มุมมองด้านสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ
ผลสำรวจพบว่า สถานะทางธุรกิจในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมาทางด้านยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่อง การจ้างงาน การลงทุน และภาพรวมธุรกิจ ยังคงอยู่ในสถานะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้าพบว่า ภาคธุรกิจโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้ - ทัศนะต่อการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล
ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันเห็นว่าเทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบันมีความสำคัญในระดับมากที่ร้อยละ 68.5% เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับมาก และจะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมาก ในขณะที่การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์ด้าน E-Commerce มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การบริหารสินค้า-คลังสินค้า และด้านการผลิต ตามลำดับ - ทัศนะต่อนโยบายด้าน BCG และสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในระดับมากถึงร้อยละ 65.8% ปานกลาง 29.9% น้อย 3.1% ไม่สำคัญเลย 0.9% แต่ในอนาคตภาคธุรกิจเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงเรื่อง BCG Model พบว่าภาคธุรกิจที่เข้าใจในระดับน้อยถึงไม่เข้าใจเลยมีมากกว่า 50% โดยภาคที่มีระดับความเข้าใจมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นธุรกิจขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม อาจเห็นว่า BCG เป็นเรื่องไกลตัว - ทัศนะต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
จากผลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วนของแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ เป็นแหล่งเงินทุนภายในกว่า 60% และในอนาคตคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนภายในเกือบ 70% โดยเมื่อพิจารณาขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจรายย่อย (Small) ธุรกิจขนาดย่อม (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ใช้แหล่งเงินทุนของตัวเองมากกว่าแหล่งทุนภายนอกเนื่องจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกน้อย โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม - ทัศนะต่อการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
ผลการสำรวจพบว่า การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ FTA ยกเว้นผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้สิทธิประโยชน์ในการทำการค้าอยู่ในระดับน้อยขณะที่การเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ได้รับการเห็นด้วยจากเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบจากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี รวมถึงมีช่องทางหรือตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้น ไปจนถึงสินค้าจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น - การพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)
จากผลการสำรวจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ธุรกิจดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนพบว่า ธุรกิจโดยภาพรวมจะทำการพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน มองว่าจะต้องประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลอย่างซื่อตรง โปร่งใส และตรวจสอบได้ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy ตามลำดับ - โอกาสทางธุรกิจ
จากผลการสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจเห็นว่าธุรกิจไทยในปัจจุบันมีโอกาสมาก และในอนาคตยังมีโอกาสเพิ่มมากกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดการค้าเสรี (FTA) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าด้านการผลิตการขาย หรือการบริหารจัดการองค์กร และอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
- ข้อแนะนำต่อภาคธุรกิจและภาคนโยบาย
เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
- มุ่งพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพรองรับต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
- ควรรักษามาตรฐานและคุณภาพทั้งในด้านสินค้าและบริการอยู่เสมอ
- ธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้มากที่สุด
- ภาครัฐและภาคเอกชน ควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน
เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
- ภาคธุรกิจควรมีแนวคิดในการทำธุรกิจร่วมกันและแลกเปลี่ยนทรัพยากร เช่น วัตถุดิบ เครือข่าย องค์ความรู้ ระหว่างธุรกิจ และพยายามรักษา Supply Chain ระหว่างคู่ค้าเอาไว้ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
- ภาครัฐควรส่งเสริมหรือกำหนดนโยบายให้กับ MSMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น เพื่อลดการผูกขาดใน ตลาดจากรายใหญ่
- ภาครัฐและภาคเอกชนควรเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด
เพื่อความก้าวหน้าผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ
- ภาคเอกชน ยังต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ MSMEs โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม ใหม่ๆ รวมถึงให้คำแนะนาในการดำเนินธุรกิจ
- ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
- มีการกำหนดนโยบาย รวมถึงกฎหมาย ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งควรเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่อยู่บน Supply Chain เดียวกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน