ไปรษณีย์ไทย ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างไอทีใหม่ เพื่อตอบโจทย์การต่อยอดไปสู่การเป็น Data Company หลังปรับโครงสร้างภายในมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนา “พี่ไปรฯ” สู่การเป็นทีมการขนส่งแบบครบวงจร พร้อมทีมที่ปรึกษาด้านการขนส่ง Sell Advisor เล็งขนส่งเฉพาะกลุ่ม “ใหญ่ ยาก ยุ่ง ยา เย็น” ชูความคุ้นเคยของพี่ไปรฯ Touch ที่ใครก็ไม่สามารถแข่งขันได้
- – รู้จักกับ 360TRUCK แพลตฟอร์มจองรถบรรทุกขนส่งออนไลน์ กับเป้าหมายขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ไทยสู่ระดับภูมิภาค
- – แกร็บไบค์ เฮ! ขนส่งฯ ยอมยืดเวลา “ป้ายขาว” เรียกวินผ่านแอป
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนา Fullfillment คลังเพิ่มเติม 9 แห่งทั่วประเทศ ตอนนี้เราพยายามเข้ามาเจาะการบริการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น กลุ่มธุรกิจหรือร้านค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถใช้บริการตามความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ร้านได้จากทีม Sell Advisor เพื่อช่วยดูแลตามความต้องการแบบเจาะจงเฉพาะร้าน
ก่อนหน้านี้เราได้ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ มีการเพิ่มส่วนของเซลล์กว่าพันคน โดยมีสัดส่วนรายได้ที่ผ่านมาทางเซลล์ราว 20-30% ของรายได้การขนส่งพัสดุ โดยเรามี 3 ทีมที่แข็งแกร่ง 1.ทีมขาย ที่จะทำหน้าที่เสนอขายบริการขนส่งให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม 2.ทีมแคร์ คือทีมที่ช่วยดูแลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และ3.ทีมขน ซึ่งจะเป็นทีมที่ขนส่งสินค้าปกติ ทั้ง 3 ทีมในแต่ละพื้นที่เพื่อดูแลลูกค้าด้วยความเข้าถึงในแต่ละพื้นที่ที่ชัดเจน
การปรับโครงสร้างองค์กรที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายจากบุคคลากรที่มีอยู่แล้ว ให้เข้ามาช่วยในส่วนของ 3 ทีมนี้เพิ่มขึ้นราว 3 เท่า ซึ่งทำให้ยอดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ และใช้เครื่องมืออย่างสินเชื่อ COD ที่ได้ร่วมมือกับ SME D Bank ภายใต้โครงการ “สินเชื่อ COD ไปรษณีย์ไทย”
COD เป็นความต้องการพื้นฐานของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งโดยปกติก็จะมีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายช่องทาง ไทยแลนด์โพสต์มาร์ทก็เป็นหนึ่งในช่องทางการจำหน่ายนั้น ยิ่งร้านค้ามากขึ้นก็จะมียอดขายมากขึ้น แต่ COD มันก็จะมีช่องว่างของเวลาราว 1-2 วันที่เกิดจากระบบการชำระเงิน ซึ่งจุดนี้ การให้สินเชื่อเพื่อลดภาระทางการเงินในส่วนนี้ จึงเป็นทางเลือกของการช่วยให้พ่อค้า แม่ค้า ออนไลน์สามารถขยายยอดขายได้เพิ่มขึ้น
โดยระบบการเข้าใช้บริการ สินเชื่อ COD พ่อค้า แม่ค้าสามารถยื่นความต้องการผ่านระบบออนไลน์ได้เลย หรือหากติดขัดขั้นตอนไหนก็สามารถปรีกษาทีมเซลล์ที่ดูแลแต่ละร้านค้าได้เลย
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ของโควิดจะดีขึ้น แต่การขนส่งสินค้าในไตรมาส 2565 สุดท้าย เริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวในการสั่งสินค้า ด้วยพฤติกรรมการจับจ่ายนอกบ้าน และต้องการซื้อสินค้ากลับได้เลย อีกทั้งยังมีสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะส่งผลต่อยอดการสั่งซื้อ และส่วนของการท่องเที่ยวที่ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภค ถูกปิดกั้นไม่ได้ออกท่องเที่ยวได้อย่างปกติ ทำให้มีความต้องการในการออกเที่ยวนอกบ้านเพิ่มจำนวนสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ยอดการสั่งซื้อออนไลน์ลดลง ซึ่งก็ทำให้ยอดการขนส่งลดลงตาม
ปี 2564 มียอดขายที่ 2.1 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายให้ได้เพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งก็ต้องรอดูไตรมาสนี้ว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายหรือไม่
ซึ่งเรามีเป้าหมายของการเจาะตลาดเฉพาะที่ต้องการส่งของที่มี “ใหญ่ ยาก ยุ่ง ยา เย็น” สิ่งของเหล่านี้เป็นความต้องการเฉพาะกลุ่ม ต้องการการขนส่งเฉพาะรูปแบบ บางอย่างจะส่งด้วยกันได้ แต่บางอย่างต้องแยก ของแพงอาจจะต้องแยกส่วนพื้นที่คัดแยกให้มีการรักษาความปลอดภัยที่แบบถ้าหากสูญหายจะต้องเคลมได้ 100% และมีมูลค่าในตัวที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร ทำให้ไม่ต้องแข่งขันด้านราคา เนื่องจากบริการแบบนี้จะต้องมีคุณภาพบางอย่างที่ลูกค้าต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น การบริการส่งยา ก่อนหน้าโควิด โรงพยาบาลเชื่อว่าเทเลเมดิซีน จะทำให้คนไม่มาเข้าโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องหันมาทำการแพทย์ทางไกล เมื่อการรักษาทางไกลเพิ่มเข้ามา การขนส่งยาตามไปให้จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้กาารขนส่งโดยเฉพาะที่เรามีความเชี่ยวชาญ
ช่วงโควิด มีนักท่องเที่ยวหรือคนไทยเดินทางกลับมาประเทศไทย แต่จะต้องถูกกักตัวที่หนึ่งก่อนเดินทางออกมา การต้องใช้การบินในประเทศจึงต้องมีการซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้ไปรษณีย์ไทยสามารถให้บริการได้ หรือแม้กระทั่งการขึ้นตีกอล์ฟเชียงใหม่ เราก็สามารถขนถุงกอล์ฟให้ได้ เมื่อตีเสร็จก็ปล่อยถุงกลอ์ฟไว้ให้เราจัดการได้ทั้งไปและกลับอย่างไม่ต้องกังวล
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเรายังได้ทุ่มงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยเราจะเป็นเพียงแค่บริษัทโลจิสติกส์อีกต่อไปไม่ได้ เราจะต้องเติบโตขึ้นเป็น Data Company เพราะข้อมูลที่เรามีแบบลงลึกในรายละเอียดของสินค้าแต่ละพื้นที่ เรารู้ว่าปลายทางของสินค้าหรือผู้ที่ต้องการซื้ออยู่ที่ไหน และมีรูปแบบการซื้ออย่างไร และเราก็ยังรู้ว่าผู้ผลิตและผู้ขายอยู่ตรงไหน ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลทื่เราสามารถทำให้ธุรกิจและการค้าเติบโตขึ้นได้
การที่เรารู้จักสินค้า รู้จักผู้ขายและรู้จักผู้ซื้อ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราพัฒนาธุรกิจรีเซลเลอร์ได้อีกมหาศาล แต่กระนั้นข้อมูลที่สำคัญที่สุดอยู่ที่บุรุษไปรษณีย์ เพราะที่ผ่านมาหากผู้รับไม่อยู่บ้านบุรุษไปรษณีย์ยังหาที่ส่งชั่วคราวได้ นั่นคือการมี Touch หรือความคุ้นเคยของพี่ไปรฯ ที่เราได้สั่งสมกันมาหลายรุ่น ซึ่งเป็นศักยภาพที่สำคัญของการแข่งขันที่ไม่มีใครทำเหมือนเราได้ แต่เราจะสร้างมูลค่าด้านนี้ขึ้นมาอย่างไร นั่นคือโจทย์ที่เราจะต้องตีให้แตก
สิ่งที่เราจะทำ เราไม่ใช่เซลล์ขายของ แต่เราจะนำสินค้าที่ตรงกับความต้องการมาสู่ผู้บริโภคอย่างตรงเป้าหมาย ทั้งผู้ซื้อ สินค้าและผู้ขาย ในอนาคตเราจะลงลึกไปถึงกล่องหรือพาชนะบรรจุที่มีความเหมาะสมของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อส่งเสริมให้การขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด