วุ่นไม่จบ กสทช. ทวง กกท. คืนลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 600 ล้าน อ้างผิด MOU

วุ่นไม่จบ กสทช. ทวง กกท. คืนลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 600 ล้าน อ้างผิด MOU

ฟุตบอลโลก

บอร์ด กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ เรียกคืนเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท คืนจาก กกท. หลังไม่ดำเนินการตาม MOU ภายใน 15 วัน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 หากเลยระยะเวลาที่กำหนด ด้าน กกท.โต้กลับ ทำตาม MOU ครบทุกประการ หากต้องการเรียกคืนอาจจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

กสทช.เรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณา เรื่อง การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ประเด็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) หลังจากที่สำนักงานฯ  ได้ทำหนังสือแจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ตามมติที่ประชุมบอร์ดครั้งที่32 / 2565  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้เกิดบริหารจัดการสิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วยความเป็นธรรมเสมอภาคและทั่วถึง ซึ่งสำนักงาน กสทช. ขอให้กกท. ชี้แจงรายละเอียดของสัญญาที่จัดทำกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) รวมทั้งสัญญาข้อตกลงเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์พี่จะทำกับบริษัทเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้สำนักงานทันที

ทั้งนี้ กกท. ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง ทั้งการไม่ส่งสัญญาที่ทำกับ FIFA และบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ปรับปรุงการบริหารจัดการสิทธิในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งย้ำ เมื่อวันที่ 24 และ 30 พฤศจิกายน 2565 ให้กกท. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้สงวนสิทธิตามข้อ8 ของบันทึกข้อตกลงโดย กกท. มีหน้าที่ชำระเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่สำนักงานภายใน 15 วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง พร้อมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี(หากมี) ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อันเป็นผลเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ด้านดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท.) ได้ทำหนังสือ ชี้แจงไปยัง กสทช. แล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าในที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้เห็นหนังสือหรือไม่ โดย กกท. ยืนยันว่าได้ปฎิบัติตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ด้วยการส่งสัญญาณไปยังทีวีดิจิทัล ทั้งภาคพื้นดินและดาวเทียมต่างๆ ซึ่งเข้าถึงทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องอยู่ในกรอบภายใต้ลิขสิทธิ์ด้วย

“ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนมายัง ซึ่งก็ได้โต้แย้งกลับไปแล้ว กกท. ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎ Must Carry (มัสต์แครี่) แต่อย่างใด และส่งสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้ทุกคนได้ดูแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายตามกฎ Must Have มัสต์แฮฟ (Must Have) แล้ว”

ดร.ก้องศักด กล่าวเสริมว่า “ศาลได้วินิจฉัยกรณีข้อพิพาทระหว่าง AIS กับ True โดยคำสั่งศาลได้กล่าวถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย และกสทช. ที่ดำเนินการถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้ประชาชนได้ดูฟรีตามช่องทางต่างๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะ IPTV เท่านั้น ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมัสต์แคร์รี่แล้ว ซึ่งคำสั่งศาลเขียนไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นการดำเนินการของกกท.อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของคำสั่งศาล ไม่ได้ไปละเมิดอะไร”

“เรื่องนี้ต้องมานั่งพูดคุยกันให้ชัดเจน หาก กสทช. ยืนกรานเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืน ก็คงต้องไปสู้กันในกระบวนการของกฎหมาย แต่ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เนื่องจากเป็นองค์กรของรัฐด้วยกันทั้งคู่น่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ในการตกลงพูดคุยกันได้ แต่ในเมื่อมติออกมาแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ กกท. สับสนไปกันใหญ่ ทั้งๆที่ควรจะเรียกไปพูดคุยกันก่อน”

Related Posts