เรเว่ ลงนามสรรพสามิต ลุยรถพาณิชย์ไฟฟ้าในไทย

เรเว่ ลงนามสรรพสามิต ลุยรถพาณิชย์ไฟฟ้าในไทย

เรเว่

เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์ BYD ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ลุยขยายธุรกิจจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไปยังรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ได้เปลี่ยนชื่อ บริษัท สยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี รีเลชั่นชิป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์จาก BYD เป็น บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด ภายใต้การบริหารของบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐ และตอบโจทย์แก่ผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาสู่การใช้พาหนะไฟฟ้า

โดยการขยายธุรกิจไปยังภาคการพาณิชย์ในครั้งนี้ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัดนำโดย  คุณประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคุณประธานพร พรประภารองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจเพื่อการขนส่งที่ครอบคลุมการใช้งานในเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่รถขนสินค้าไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ฯลฯ ได้แสดงเจตจำนงเพื่อเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมสรรพสามิตกับบริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าบีวายดี รุ่น E6 ของบริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด ไปเมื่อเร็วๆ นี้ และได้จัดพิธีส่งมอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขึ้นในวันนี้ (28 มีนาคม) ณ ห้อง Function Six ชั้น6  โรงแรมสยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล

โดยมี คุณณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต และ คุณเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นผู้แทนภาครัฐ ร่วมด้วย นายเค่อ หยู่ปิน (Ke Yubin) ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด และคุณประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่  คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบ MOU

เรเว่

คุณประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด กล่าวว่า “การแสดงเจตจำนงเพื่อเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเรเว่ ออโตโมทีฟ ในการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทุกด้านในประเทศไทย และยังเป็นการขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าด้านการพาณิชย์ จึงได้เปลี่ยนชื่อ บริษัท สยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี รีเลชั่นชิป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ของ BYD เป็น บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด และร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐ และเพื่อให้เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาสู่การใช้พาหนะไฟฟ้าอีกทางหนึ่งด้วย”

ทางด้าน คุณประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “การร่วมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิตในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้าได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณการซื้อรถยนต์ BYD รุ่น E6 รุ่นแรกในบริษัทฯ ตามมาตรการการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้ายังคงได้รับการรับประกันและโปรแกรมการดูแลลูกค้าตามเงื่อนไขของบริษัทอยู่เช่นเดิม และสามารถติดต่อได้ที่โชว์รูมรถยนต์ BYD ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ “รถยนต์ไฟฟ้า BYD E6” ขนาด 5 ที่นั่ง มาพร้อมระยะทาง 520 กิโลเมตร มีพื้นที่บรรจุสัมภาระกว่า 450 กิโลกรัม จากเดิมที่มีราคา 1.39 ล้านบาท จะสามารถลดราคาลงมาหลังจากได้รับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเหลือ 1,135,900 บาท ซึ่งจะเริ่มเปิดให้จองได้ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 โดยคาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นค้นไป

ขณะที่ “รถตู้ขนส่งไฟฟ้า BYD T3” มาพร้อมระยะทาง 275 กิโลเมตร รองรับน้ำหนักของสินค้าได้กว่า 700 กิโลกรัม มีขนาดพื้นที่บรรทุก ความยาว 1,900 มม. ความกว้าง 1,390 มม. ความสูง 1,200 มม. และระยะฐานล้อ 2,725 มม. จะไม่ได้เข้าร่วมมาตรฐานส่งเสริมของรัฐ ในราคา 990,000 บาท  โดยมีจำหน่ายแล้วที่โชว์รูม BYD ครอบคลุมมากกว่า 70 สาขาทั่วประเทศ

เรเว่
BYD E6 ราคาใหม่ 1,135,900 บาท

โดยทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยี Blade Battery เอกสิทธิ์เฉพาะของ BYD ที่มีประสิทธิ ภาพยอดเยี่ยมด้วยรูปทรงเซลล์แบตเตอรี่ลักษณะคล้ายใบมีดวางเรียงกัน ที่มอบปลอดภัยสูงสุดแม้ได้รับความเสียหายรุนแรง ขึ้นแท่นเป็นแบตเตอรี่ปลอดภัยที่สุดในตลาด

และสำหรับ “รถหัวลากไฟฟ้า Q1R” สามารถวิ่งได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็มแต่ละครั้ง รองรับน้ำหนักของสินค้าได้กว่า 40,000 กิโลกรัม และยังมี “รถบัสไฟฟ้า” ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งมวลชน วิ่งได้ไกลถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จ เตรียมบุกตลาดในปีนี้ เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบและก้าวเข้าสู่ยุค EV ไปด้วยกัน

ขณะที่การจัดตั้งโรงงานผลิตรถนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย BYD คาดว่าจะเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้ราวต้นปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสูงสุด 1.5 แสนคันต่อปี และเมื่อตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์เติบโตมากขึ้น จะพิจารณาการขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้เชิงพาณิชย์ในไทยต่อไป

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า ในปี 2567 และ 2568 นี้รถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการและผลิตจำหน่ายในไทย ยังจะได้รับเงินสนับสนุนเช่นเดิม เพียงแต่จะเป็นการใช้เงินจากงบประมาณใหม่ และนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าจนถึงกันยายน 2566 รัฐได้มีการสนับสนุนเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วเป็นเงินรวมกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการช่วยลดมลพิษจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการปล่อยมลพิษสู่อากาศ มากกว่า 30% ของรถยนต์ขับเคลื่อนในประเทศไทย การตั้งความหวังเพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero Cabon เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางการไร้มลพิษ จึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น

Related Posts