จับตา นอร์เวย์ สู่ภาพลักษณ์ประเทศแห่งซีฟู้ดโลก ในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023

จับตา นอร์เวย์ สู่ภาพลักษณ์ประเทศแห่งซีฟู้ดโลก ในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023

นอร์เวย์

นอร์เวย์ ประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสองของโลก มีแนวทางชัดเจนในการส่งเสริมการทำตลาดออกไปยังทั่วโลก ขณะที่แนวทางของการทำฟาร์มอาหารทะเลอย่างยั่งยืนก็เป็นที่กล่าวขานถึงความใส่ใจต่อโลก ต่อคุณภาพอาหาร และต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของการส่งเสริมการทำตลาดอย่างยั่งยืนด้านอาหารทะเลระดับโลกที่น่าสนใจ วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสฟังเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประจำประเทศไทยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมภายใต้สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ มาเล่าถึงแนวทางการส่งเสริมที่สำคัญของการสร้างให้ นอร์เวย์เป็นประเทศจ้าวแห่งซีฟู้ดว่าเป็อย่างไร

นางแอสทริ เอมิเลีย เฮลเลอ เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักร นอร์เวย์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยและนอร์เวย์มีการร่วมการค้าการลงทุนมาอย่างยาวนาน และความมั่นคงทางด้านอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญมากต่อมนุษย์ทุกคน แม้ว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีผู้คนไม่มาก แต่เราสามารถผลิตอาหารทะเลได้มากด้วยศักยภาพของชัยภูมิทางทะเล และด้วยการบริหารจัดการที่ดี ทำให้นอร์เวย์กลายเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลใหญ่เป็นอันดับสองของโลก 
เนื่องจากประเทศนอร์เวย์มีริมชายฝั่งที่ยาวกว่าแสนไมล์ และยังมีเกาะแก่งเล็ก ๆ อีกมากมาย ทำให้เป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ทางทะเลเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าแหล่งกำเนิดของอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยความสะอาดของทะเลนอร์เวย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

สำหรับงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – Anuga Asia 2023 ในปีนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้เชิญผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์กว่า 20 ราย มาจัดแสดงอาหารทะเลคุณภาพพรีเมียมหลากหลายประเภท รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ล้ำสมัย แสดงให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตที่ดีและโอกาสด้านการค้าที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อยตลอดจนผู้ประกอบการรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอร์เวย์
คริสเตียน เครเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC)

เนื่องจากประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว และยังเป็นครัวของโลกด้วย ซึ่งอาหารไทยขึ้นชื่อว่ารสเลิศและมีราคาที่สูงด้วย โดยทั่วโลกไม่เฉพาะที่นอร์เวย์ ล้วนมีร้านอาหารไทยเกิดขึ้นมากมาย ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรามีการจับคู่กันของซูชิกับแซลมอน และสร้างการรับรู้ไปทั่วโลก ซึ่งผู้คนทั่วโลกเมื่อได้ลิ้มลองซูมิก็มักจะคาดหวังว่าจะเป็นเนื้อแซลมอนจากนอร์เวย์ และภายในงาน THAIFEX เราก็หวังว่าการจับคู่ซีฟู้ดจากนอร์เวย์เข้ากับอาหารไทยในครั้งนี้ จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่จะสามารถโด่งดังไปทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย

ด้านดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “อาหารทะเลจากนอร์เวย์ เช่น แซลมอน ฟยอร์ดเทราต์ และนอร์วีเจียนซาบะ คือผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำฟาร์มและการประมงแบบยั่งยืน จนกลายมาเป็นวัตถุดิบที่คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักในด้านนวัตกรรมการประมงและความยั่งยืนในประเทศไทย

ตราสัญลักษณ์ Seafood from Norway ที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ยังให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเล รวมไปถึงผู้บริโภคและธุรกิจในท้องถิ่นในการมองหาแหล่งโปรตีนทางเลือกคุณภาพสูงอีกด้วย ในปี 2565 นอร์เวย์ส่งออกอาหารทะเลปริมาณ 42,636 ตัน รวมมูลค่ากว่า 9.37 พันล้านบาท มายังประเทศไทย ผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ทำให้อาหารทะเลจากนอร์เวย์กลายมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ได้อย่างดี”

ในทุก ๆ ปี อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ส่งมอบอาหารทะเลเทียบเท่ากับมื้ออาหารจำนวน 40 ล้านมื้อต่อวัน เป็นปริมาณ 2.9 ล้านตัน และมูลค่ารวม 5.1 แสนล้านบาท ให้แก่ 150 ประเทศทั่วโลก การจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบมานานกว่าศตวรรษคือหัวใจหลักของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ นอร์เวย์ปรับเปลี่ยนจากการจับปลาอย่างเสรีมาสู่กฎระเบียบที่เข้มงวดและมีการกำหนดมาตรฐานการจัดการความยั่งยืนทางทะเลจากการเรียนรู้บทเรียนในอดีต

นอร์เวย์
ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเออร์ลิง ริเมอร์สตัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ ได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ และกล่าวว่า “เป้าหมายสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศนอร์เวย์คือการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพในราคาที่จับต้องได้สำหรับทุกคน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดจากกระบวนการนี้ นอร์เวย์เป็นผู้บุกเบิกเรื่องความยั่งยืนมาหลายศตวรรษ ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ยังมีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการประมงไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเริ่มต้นทำการประมงอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ ทำให้เราสามารถจัดสรรอาหารทะเลคุณภาพที่ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงได้ และคงความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลได้ในเวลาเดียวกัน เราเชื่อว่าการดำเนินงานร่วมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้อาหารทะเลจากนอร์เวย์ช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของโลกผ่านการผลิตโปรตีนที่มีคุณภาพและยั่งยืนได้ โดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

รายงานล่าสุดจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเผยว่าในปี 2564 ประชากรจำนวน 2.3 พันล้านคน หรือเกือบร้อยละ 30 ของประชากรโลก ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ผู้คนกว่า 702 ถึง 828 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้คนกว่า 670 ล้านคน ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ได้สร้างความตึงเครียดต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารและช่องทางการค้า ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นและเกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งอาหาร แผนความมั่นคงอาหารสู่ปี 2030 ของเอเปค เน้นการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่จับต้องได้ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารของผู้คนทั่วโลก

Related Posts