กรุงเทพมหานครฯ จับมือ AIS และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ที่มีทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน
- – AIS จับมือ OPPY CLUB เสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงวัยก้าวทันภัยไซเบอร์ ผ่านหลักสูตร AIS อุ่นใจไซเบอร์
- – AIS เดินหน้าส่ง “หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์” เข้าสถานศึกษา
ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ให้มีอยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว หรือแม้แต่รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะกับแต่ละสถาบันการศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “นโยบายด้านการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ กทม.ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเนื้อหาหรือแม้แต่ทักษะด้านดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพ
ซึ่งความร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง
ซึ่งจะทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”
ด้านแพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบัน สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า เด็กวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 10 ขวบ เริ่มมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น โดยที่สถาบัน ผู้ป่วยเด็กด้านจิตเวช เริ่มเข้ามารักษาอาการโรคซึมเศร้า คิดเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 ของสัดส่วนผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ก่อนหน้ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เคสเด็กที่มีภาวะซึมเศร้ามีเข้ามาน้อยมาก
สาเหตุหลักของการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในเด็กที่มีอายุน้อยลง บางส่วนเกิดจากกรรมพันธุ์ (Genetic) ที่ส่งต่อ ภาวการณ์ย้ำคิดย้ำทำ การหมกมุ่นกับความคิดของตัวเองมากเกินไป ขณะที่การข้องเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ โดยปราศจากการเข้าสังคมที่ได้พบประผู้คนจริง ก็ทำให้เกิดอาการโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นส่งเสริมให้อยู่คนเดียวในโลกของความเป็นจริง ทำให้อาการหมกมุ่นทางความคิด ยิ่งทวีความรุนแรง
การกลั่นแกล้งกันในสังคมของเด็ก ทั้งในโรงเรียน กลุ่มเพื่อน และกลุ่มเพื่อออนไลน์ ตลอดจนการที่ครอบครัวไม่ได้เป็นที่พักพิงทางจิตใจ ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แข็งแกร่ง แน่นอนว่า เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งจากภายนอก การมีครอบครัวที่ช่วยเหลือ เข้าใจ และพร้อมเป็นที่พักพิงทางจิตใจและความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของทั้งเด็กและครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีที่หลบภัย และไม่หลงเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
ทั้งนี้ อัตราการฆ่าตัวตายยังได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยจาก 6.4 เป็น 7.3 ต่อประชากรแสนคนในช่วงก่อนและหลังการระบาดตามลำดับ โดยมีรายงานการพยายามฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองสูงในเยาวชนอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 225 ต่อประชากร 100,000 คน
การกระทำที่นำไปสู่การจบชีวิตยังพบในนักเรียนอายุระหว่าง 5 ถึง 15 ปี โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 41 ต่อประชากร 100,000 คน โดยอัตราเหล่านี้นับว่าสูงกว่าคนวัยทำงาน (45 ต่อประชากร 100,000 คน)
ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช. โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป”
ทั้งนี้ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
- Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
- Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
- Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index