___noise___ 1000

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ประกาศผลผู้ชนะโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรัก5บ้านเกิด ปี พ.ศ. 2566

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผนึกกรมส่งเสริมการเกษตร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด “ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Entrepreneur)” พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดดีเด่น ตามเป้าหมายอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นต้นแบบของเกษตรกร รวมถึงผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกร

คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการว่า มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมไทย โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ภายใต้ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ โครงการสำนึกรักบ้านเกิด สนับสนุนด้านการศึกษา กิจกรรมอาสาร่วมด้วยช่วยกัน ช่วยเหลือทุกความเดือดร้อน และกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั่วประเทศ และโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเดินทางมาเป็นปีที่ 15 จนปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรมากมายและส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

“ในปีนี้ ได้กำหนดแนวคิดการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ภายใต้กรอบ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Entrepreneur) โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดในเชิงการตลาดโดยมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ รู้จักการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีในการผลิต แปรรูป และการจัดจำหน่าย มุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ขยายโอกาสทางตลาด ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนรวมถึงการแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อเป็นผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะซึ่งต้องมีความเป็นผู้นำ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมีความคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศไทย” คุณบุญชัย กล่าว

คุณบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่างโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี นับเป็นบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และเชิดชูเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นเกษตรกรต้นแบบ สร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในอาชีพเกษตรยุคใหม่ ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

คุณกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเกษตรกร ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น” ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จัดกิจกรรมประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ มีแนวคิดและการปฏิบัติด้านนวัตกรรมและการใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต รวมถึงการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืน แก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และชุมชน โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และก้าวไกลยิ่งขึ้นไป และสิ่งสำคัญยิ่งคือช่วยให้เกษตรกรมีความอยู่ดีมีสุขได้อย่างแท้จริง

คุณชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านเทเลคอม เทคคอมปานีของประเทศไทย ทรู คอร์ป มีความมุ่งมั่นสนับสนุนพันธกิจสำคัญของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อยกระดับมาตรฐานเกษตรกรไทย ทรูเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งถึงศักยภาพของเกษตรไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโต ที่เสริมด้วยโครงข่ายสัญญาณที่แข็งแกร่งของทรู โซลูชันส์ใหม่ๆ ด้านสมาร์อะกริคัลเจอร์ และเพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกร เมื่อเกษตรกรมีทักษะดิจิทัลและสามารถเข้าถึงโซลูชันส์ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเองและอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างสูงสุด

“ผมขอแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2566 และขอยกย่องจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่”

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2566 ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ คุณวิชัย กำเนิดมงคล เกษตรกรจาก Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง จังหวัดน่าน พัฒนากาแฟไทยคู่กับการรักษาผืนป่า โดยให้ตลาดนำการผลิต ใช้นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักในการทำแบรนด์คือต้องการสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ม้ง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คุณอุมารินทร์ เกตพูลทอง เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนปลาสลิดเกษตรพัฒนา จังหวัดสมุทรสาคร พบปัญหาราคาปลาตกต่ำจากพ่อค้าคนกลาง จึงคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์ แปรรูปเพิ่มมูลค่า ได้มาตรฐาน ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ตามแนวคิด “สะอาด STANDARD สะดวก”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คุณณัฎฐเอก อรุณโชติ จากสวนธรรมวัฒน์ จังหวัดชุมพร การนำมังคุดไปแปรรูป สร้างความยั่งยืน กับการหาความลงตัวตามปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยใช้โมเดล กินอยู่อย่างพอเพียง “โคกหนองนา” ลดต้นทุนและแรงงานการผลิต วางระบบน้ำ ใช้ปุ๋ยหมักชนิดน้ำผ่านระบบท่อ เพิ่มความชื้นในอากาศ ในช่วงที่มังคุดออกผลผลิต

โดยมีเกษตรกรดีเด่น อีก 7 ท่านดังนี้

1.คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ (ไร่แสงสกุลรุ่ง, TEAMPHUM) จังหวัดกาญจนบุรี

2.คุณปิตุพร ภูโชคศิริ (Hug Hed Farm ฮักเห็ด ฟาร์ม) จังหวัดขอนแก่น

3.คุณสันติสุข เทียนทอง (สันติสุขฟาร์ม) จังหวัดนครปฐม

4.คุณนิรันดร์ สมพงษ์ (โอ๋-ดาว ออร์แกนิคฟาร์ม) จังหวัดนครราชสีมา

5.คุณบุษบง งีสันเทียะ (ฟาร์มโคนมบุญชู) จังหวัดเพชรบูรณ์

6.คุณนงนุช เสลาหอม (สวนหลังบ้าน) จังหวัดราชบุรี

7.คุณภูมิปณต มะวาฬ (ไรซ์เบิร์ด ออร์แกนิคฟาร์ม) จังหวัดสุโขทัย

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

เกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2566

คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่

1. คุณสมบัติความเป็นเกษตรกร มีรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ หรือวิถีอินทรีย์ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และทักษะด้านการสื่อสาร

2. คุณสมบัติด้านความเป็นเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งปันทรัพยากรในชุมชน รวมทั้ง ปกป้องสุขภาพ และความเป็นอยู่ของคน

3. คุณสมบัติด้านผู้ประกอบการอัจริยะ (Smart Agri-Entrepreneur) ควรมีคุณสมบัติด้านการเป็นผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร การจัดการทรัพยากร การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

4. คุณสมบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) ครอบคลุมด้านสังคม มีการรวมกลุ่มและการพัฒนาศักยภาพของชุมชน, การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชน ด้านเศรษฐกิจสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับตนเองและคนในชุมชน ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ จัดการของเสียและวัสดุเหลือทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

banner Sample

Related Posts